ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา อินเดียต้องอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกต่อกรณีรัสเซียบุกโจมตียูเครน เนื่องจากเดลีต้องพยายามถ่วงดุลความสัมพันธ์กับมอสโกและชาติตะวันตก
ถ้อยแถลงแรกของอินเดียในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ไม่ได้ระบุชื่อประเทศใดโดยตรง แต่กล่าวว่า อินเดียรู้สึกเสียใจที่เสียงเรียกร้องจากประชาคมระหว่างประเทศที่ขอโอกาสทางการทูตและการเจรจานั้นไม่ได้รับการเอาใจใส่
อย่างไรก็ตาม อินเดียไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์รัสเซีย และก่อนที่ UNSC จะโหวตร่างมติของสหประชาชาติเพื่อประณามรัสเซียกรณีรุกรานยูเครน อินเดียต้องเผชิญกับเสียงเรียกร้องจากรัสเซีย สหรัฐฯ และยูเครน ‘ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง’
ยูเครนและรัสเซียถึงกับยื่นอุทธรณ์เพื่อให้อินเดียแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งอินเดียเลือกที่จะงดออกเสียง อย่างไรก็ดี การอ่านถ้อยแถลงที่ระมัดระวังดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อินเดียขยับตัวแล้ว ทั้งยังขอร้องทางอ้อมให้มอสโกเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของ ‘กฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ และการเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐ’ และเสริมว่า “รัฐสมาชิกทั้งหมดจำเป็นต้องเคารพหลักการเหล่านี้เพื่อหาแนวทางที่สร้างสรรค์ต่อไป”
แต่การตัดสินใจงดออกเสียงของอินเดียทำให้เกิดคำถาม โดยเฉพาะจากฝั่งตะวันตกว่า ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกควรมีจุดยืนที่ชัดเจนกว่านี้หรือไม่
ไม่มีตัวเลือกที่ดี
เจเอ็น มิสรา อดีตนักการทูตอินเดีย กล่าวว่า อินเดีย “มีแต่ทางเลือกที่แย่และแย่กว่า”
“เราไม่สามารถเอียงทั้งสองทางในเวลาเดียวกันได้ อินเดียไม่ได้ระบุชื่อประเทศใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอินเดียจะไม่ขัดแย้งกับมอสโก อินเดียต้องระมัดระวังในการเลือกข้าง และอินเดียก็ทำเช่นนั้น” เขากล่าวเสริม
มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้อินเดียเลือกใช้แนวทางถ่วงดุลทางการทูตกรณีรัสเซียบุกยูเครน
เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันประเทศและความสัมพันธ์ทางการทูตกับมอสโก
รัสเซียเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย แม้ว่าส่วนแบ่งจะลดลงเหลือ 49% จาก 70% อันเนื่องมาจากการตัดสินใจของอินเดียที่จะกระจายสัดส่วนให้หลากหลายและเพิ่มการผลิตยุทโธปกรณ์ในประเทศ
นอกจากนี้ รัสเซียยังเป็นผู้จัดหายุทโธปกรณ์อย่างระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 ซึ่งทำให้อินเดียสามารถดำเนินยุทธศาสตร์การป้องปรามที่สำคัญต่อจีนและปากีสถานได้ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมอินเดียจึงยังคงสั่งซื้ออาวุธจากรัสเซีย แม้ว่าอาจถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นการยากที่อินเดียจะมองข้ามความร่วมมือทางการทูตกับรัสเซียในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการที่มอสโกโหวตคัดค้านมติของ UNSC เกี่ยวกับข้อพิพาทแคชเมียร์ ซึ่งเป็นผลดีต่ออินเดีย
เลือกข้างไม่ได้
ไมเคิล คูเกลแมน รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Wilson Center กล่าวว่า จุดยืนของอินเดียไม่น่าแปลกใจเพราะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาในอดีต
เขากล่าวว่าอินเดีย “ดูไม่สบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน แต่ก็ไม่น่าจะเปลี่ยนจุดยืน”
“อินเดียไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ณ จุดนี้ เนื่องจากความจำเป็นด้านการป้องกันประเทศและภูมิรัฐศาสตร์” คูเกลแมนกล่าว แต่ก็เสริมว่า อินเดียเลือกใช้คำบางคำที่รุนแรงในการแถลงต่อ UNSC เพื่อแสดงให้เห็นว่าอินเดียอึดอัดกับสถานการณ์ในยูเครน
นอกจากนี้ อินเดียยังมีภารกิจที่ยากลำบากในการอพยพพลเมือง 20,000 คนจากยูเครน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน
จากบริบทข้างตนจึงดูเหมือนว่าอินเดียกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และส่งเสริมการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา
อานิล ไตรกูนิยัต อดีตนักการทูตอินเดียในกรุงมอสโกและในลิเบีย ซึ่งดูแลการอพยพชาวอินเดียเมื่อครั้งเกิดความขัดแย้งในปี 2011 กล่าวว่า การรับรองความปลอดภัยในความขัดแย้งจากทุกฝ่ายเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้การดำเนินการอพยพประสบความสำเร็จ
“อินเดียไม่สามารถเลือกข้างเพื่อทำให้ความปลอดภัยของพลเมืองตกอยู่ในความเสี่ยง ยิ่งไปกว่านั้น อินเดียกำลังมองในภาพรวมเพื่อทำให้ช่องทางต่างๆ ยังคงเปิดกว้างสำหรับทุกคน” เขากล่าวเสริม
ผูกสัมพันธ์ทั้งวอชิงตันและมอสโก
ทั้งนี้ อินเดียมีสถานะพิเศษเนื่องจากเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับสหรัฐฯ และรัสเซีย
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ได้พูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ในขณะที่ สุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย หารือกับเจ้าหน้าที่ในกรุงวอชิงตัน
นอกจากนี้ โมดียังได้พูดคุยกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนอีกด้วย ซึ่งอดีตนักการทูตอินเดียประจำมอสโกมองว่า อินเดียทำได้ดีในการทำให้ช่องทางทางการทูตยังคงเปิดกว้างสำหรับทั้งสองฝ่าย
“อินเดียไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์รัสเซียโดยตรง แต่ก็ไม่ใช่ว่าอินเดียมองข้ามความทุกข์ยากของชาวยูเครน อินเดียเลือกวิธีถ่วงดุล พูดคุยอย่างจริงจังเกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนในที่ประชุม UNSC และตั้งใจอย่างชัดเจนที่จะเน้นย้ำถึงสถานการณ์เลวร้ายของยูเครน” เขากล่าว
แต่ถ้าวอชิงตันและพันธมิตรในยุโรปยังคงบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างรุนแรงต่อรัสเซีย อินเดียก็อาจโดนหางเลขไปด้วย เพราะการทำธุรกิจกับมอสโกจะกลายเป็นเรื่องยาก
แม้ดูเหมือนสหรัฐฯ เข้าใจจุดยืนของอินเดียในขณะนี้ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าสหรัฐฯ พร้อมจะเข้าใจเช่นนั้นต่อไป
เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ถูกถามความเห็นเกี่ยวกับจุดยืนของอินเดีย แต่ไบเดนไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน โดยระบุเพียงว่า “เรากำลังจะปรึกษาหารือกับอินเดียเกี่ยวกับยูเครน เรายังแก้ไขเรื่องนี้ไม่เรียบร้อย” เขากล่าว
ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจคว่ำบาตรอินเดีย จากกรณีอินเดียซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 จากรัสเซียนั้น ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายต่อต้านศัตรูของอเมริกาผ่านการคว่ำบาตร (CAATSA) ในปี 2017 เพื่อพุ่งเป้าไปที่รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อสามประเทศนี้ นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังห้ามไม่ให้ประเทศใดลงนามข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศกับประเทศเหล่านี้ด้วย
วอชิงตันไม่เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวกับประเทศใด แม้แต่ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าประเด็นนี้อาจถูกใช้เป็นข้อต่อรองระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ
ในขณะเดียวกัน มอสโกเองก็สามารถกดดันอินเดียเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการกระชับความสัมพันธ์กับปากีสถาน ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของอินเดีย หากเห็นว่าอินเดียเปลี่ยนแปลงท่าที
รัสเซียยอมรับความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นของอินเดียกับสหรัฐฯ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยูเครนเป็นเส้นสีแดงที่มอสโกไม่ต้องการให้เดลีข้าม
คูเกลแมนกล่าวว่า จุดเปลี่ยนดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความขัดแย้งในยูเครนยืดเยื้อ และจบลงด้วยการสร้างโลกสองขั้ว
“เราได้แต่หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ามันเกิดขึ้น นโยบายต่างประเทศของอินเดียจะถูกทดสอบอย่างหนักหน่วง” คูเกลแมนกล่าว
ภาพ: Sonu Mehta / Hindustan Times via Getty Images
อ้างอิง: