×

ถ้าการศึกษาไทยดี ทำไมต้องเรียนพิเศษ: เมื่อความเหลื่อมล้ำจู่โจมการศึกษา

12.11.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • การเรียนพิเศษ คือการเรียนการสอนนอกห้องเรียนเพื่อเติมหรือเสริม (Supplement) การเรียนแบบปกติจากในห้องเรียน ถือเป็น ‘บริการ’ รูปแบบหนึ่ง บางคนก็อาจเรียกการเรียนพิเศษว่าเป็น ‘Shadow Education’ 
  • ถ้ามองการเรียนพิเศษเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ขายในตลาด แน่นอนว่าภายใต้ระบบทุนนิยม ใครมีเงินมากกว่าก็สามารถซื้อสินค้าชนิดนี้ได้มากกว่าและเร็วกว่า ‘การเรียนพิเศษ’ จึงฉายซ้ำภาพความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มิหนำซ้ำ ยังเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในอนาคตแย่ลง
  • แต่งานวิจัยบางชิ้นระบุว่า การห้ามเรียนพิเศษทำให้ครอบครัวที่รวยกว่าหันเห (Redirect) ทรัพยากรไปกับเรื่องอื่นๆ เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของบุตรหลาน สุดท้าย ความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่หายไปไหน แม้จะยกเลิกการเรียนพิเศษ ในทางกลับกัน การเข้าถึงการเรียนพิเศษของครัวเรือนที่ยากจน อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับครัวเรือนที่ร่ำรวย และมีผลทำให้ความเหลื่อมล้ำในอนาคตลดลง 

‘ถ้าการศึกษาไทยดี ทำไมต้องเรียนพิเศษ’ คำถามนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆ เมื่อเราพูดถึงปัญหาการศึกษาไทยกับการเรียนพิเศษ

 

การเรียนพิเศษ คือการเรียนการสอนนอกห้องเรียนเพื่อเติมหรือเสริม (Supplement) การเรียนแบบปกติจากในห้องเรียน ถือเป็น ‘บริการ’ รูปแบบหนึ่ง บางคนก็อาจเรียกการเรียนพิเศษว่าเป็น ‘Shadow Education’ 

 

การเรียนพิเศษอาจจะสอนแบบตัวต่อตัว สอนเป็นกลุ่ม หรือสอนออนไลน์ สำหรับประเทศในแถบเอเชีย การเรียนพิเศษมักเกิดขึ้นในโรงเรียนกวดวิชา (ที่รู้จักกันในชื่อ Cram School) และไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย 

 

ในมาตรา 20 (5) ในพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497 อธิบายว่า ‘โรงเรียนกวดวิชา’ เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกวดวิชาบางวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ จากการสำรวจโดย Bray and Lykins (2012) พบว่า กว่าครึ่งของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาในหลายประเทศในเอเชีย เช่น บังกลาเทศ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รวมถึงไทย ต่างก็เรียนพิเศษในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

 

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สถาบันกวดวิชา (นิติบุคคล) ที่ดำเนินการอยู่ เพิ่มขึ้นจาก 303 รายในปี พ.ศ. 2559 เป็น 494 รายในปี พ.ศ. 2563 นิติบุคคลจัดตั้งใหม่เฉลี่ยปีละ 50 ราย รายได้รวมไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี ธุรกิจสถาบันกวดวิชา (ที่จดทะเบียนและรู้ข้อมูลแน่ชัด) ที่เติบโตต่อเนื่องในช่วง 5 ปีหลัง ตอบสนองผู้บริโภคหลักอย่างนักเรียนระดับประถมฯ และมัธยมศึกษานับล้านคนได้เป็นอย่างดี

 

การเติบโตของโรงเรียนกวดวิชาและการเรียนพิเศษ ได้ดึงดูดความสนใจของนักวิจัยที่ทำงานในแวดวงการศึกษา คำถามสำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนพิเศษกับความเหลื่อมล้ำ Dang and Rogers (2008) ตีพิมพ์บทสำรวจปรากฏการณ์ของการเรียนพิเศษใน World Bank Research Observer ส่วนหนึ่งของบทสำรวจได้อธิบายเรื่องของความเหลื่อมล้ำว่า ครัวเรือนที่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่า (More Privileged Households) เช่น ครัวเรือนที่มีรายได้และการศึกษาสูงกว่าที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมักลงทุนในการเรียนพิเศษมากกว่าครัวเรือนอื่นๆ 

 

นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานชี้ชัดว่า การเรียนพิเศษช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Learning Achievement) สิ่งสำคัญก็คือว่า ถ้าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่การมีรายได้ตลอดช่วงชีวิต (Lifetime Earnings) ที่สูงขึ้น ก็ไม่แปลกที่การมีอยู่ของการเรียนพิเศษ (Household-financed Tutoring) จะไปทำให้ความเหลื่อมล้ำของสังคมแย่ลง

 

อย่างไรก็ตาม Dang and Rogers (2008) บอกว่า เราไม่ควรรีบด่วนสรุปว่า การเรียนพิเศษทำให้ความเหลื่อมล้ำของสังคมเพิ่มขึ้น หรือเสนอว่า รัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำควรจำกัดจำนวนการเรียนพิเศษ โดยให้เหตุผลว่า ถ้าเราลองนึกถึง Counterfactual (เหตุการณ์ที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง) ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีการเรียนพิเศษ การเรียนพิเศษอาจไม่เกี่ยวอะไรกับความเหลื่อมล้ำก็ได้ 

 

ครูสอนพิเศษที่เก่งฉกาจอาจมีส่วนช่วยเด็กแค่เล็กน้อยเท่านั้น เพราะครอบครัวที่มีรายได้มากกว่าย่อม ‘จัดหา’ สิ่งอื่นๆ ให้กับบุตรหลานได้มากกว่าครอบครัวอื่นอยู่แล้ว เช่น สามารถซื้อหนังสือให้ได้มากกว่า มีอุปกรณ์ ดินสอ ยางลบ ที่พร้อมกว่า 

 

การห้ามเรียนพิเศษทำให้ครอบครัวที่รวยกว่าหันเห (Redirect) ทรัพยากรไปกับเรื่องอื่นๆ เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของบุตรหลาน สุดท้าย ความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่หายไปไหน แม้จะยกเลิกการเรียนพิเศษ ในทางกลับกัน การเข้าถึงการเรียนพิเศษของครัวเรือนที่ยากจน อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับครัวเรือนที่ร่ำรวย และมีผลทำให้ความเหลื่อมล้ำในอนาคตลดลง 

 

Dang and Rogers แนะนำว่า รัฐบาลควรหาวิธีอื่นในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา แทนที่จะห้ามการเรียนพิเศษ โดยได้ยกตัวอย่างของเกาหลีใต้ที่ใช้การสุ่มเด็กนักเรียนเพื่อเข้าเรียน (A Secondary School Equalization Program) เพื่อลดความได้เปรียบทางด้านคุณภาพของโรงเรียนชั้นนำ และลดแรงจูงใจในการเรียนพิเศษ 

 

Dang and Rogers ยังแนะนำว่า จริง ๆ แล้วรัฐบาลอาจใช้การเรียนพิเศษเพื่อเพิ่มความเท่าเทียมในด้านการศึกษา โดยจัดการเรียนพิเศษให้กับเด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนไม่ค่อยดี หรือเด็กนักเรียนยากจน

 

เมื่อมาดูงานวิจัยในญี่ปุ่น Ryoji Matsuoka (2018) ได้ศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนพิเศษ (หรือ Juku ในภาษาญี่ปุ่น) ตีพิมพ์ในวารสาร Comparative Education Review พบว่า กว่า 72% ของนักเรียนเกรด 9 ในญี่ปุ่นเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชา 

 

นอกจากนั้นยังพบว่า สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (Socioeconomic Status) ของนักเรียน (ครอบครัว) และความคาดหวังของผู้ปกครองในด้านการศึกษา มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชา 

 

ข้อสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ ตรงกับงานของ Lynch and Moran (2006) ที่บอกว่า ครอบครัวที่มีรายได้สูง มีแนวโน้มที่จะลงทุนส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งทำให้เพิ่มโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีอันดับดีกว่า 

 

Matsuoka (2018) ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า ในสังคมญี่ปุ่นที่เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม ภายใต้ระบบการศึกษาแบบ ‘Egalitarian Compulsory Education System’ แต่คนที่รวยกว่าก็ยังคงมีโอกาสมากกว่าในการได้เรียนต่อในสถาบันการศึกษาดีๆ ผ่านการซื้อ ‘บริการ’ ด้านการศึกษาจากตลาด Matsuoka จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการกับโอกาสที่ไม่เท่าเทียมภายนอกโรงเรียน

 

ถ้ามองการเรียนพิเศษเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ขายในตลาด แน่นอนว่าภายใต้ระบบทุนนิยม ใครมีเงินมากกว่าก็สามารถซื้อสินค้าชนิดนี้ได้มากกว่าและเร็วกว่า ‘การเรียนพิเศษ’ จึงฉายซ้ำภาพความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มิหนำซ้ำ ยังเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในอนาคตแย่ลง

 

เมื่อความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย การเรียนพิเศษจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ซ่อนมิติทางสังคม เศรษฐกิจ ที่น่าขบคิดมากมาย ความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา ระหว่างโรงเรียนในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด มีส่วนทำให้ธุรกิจสถาบันกวดวิชาในไทยเติบโต สังเกตได้จากการที่สถาบันกวดวิชาน้อยใหญ่เปิดกระจายอยู่ทั่วประเทศ การเติบโตนี้สอดรับกับความกินดีอยู่ดีที่เพิ่มขึ้นของคนต่างจังหวัดในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมา หรือพูดง่ายๆ ว่า คนต่างจังหวัดก็มีกำลังทรัพย์ในการซื้อ ‘สินค้า’ ชนิดนี้ เฉกเช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีอยู่ของโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ ก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษาที่มีอยู่ (Existing Inequality) ระหว่างเด็กกรุงเทพฯ กับเด็กต่างจังหวัด เพิ่มโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อันเป็นเป้าหมายปลายทางของการศึกษาเล่าเรียน

 

อย่างไรก็ตาม การเรียนพิเศษก็อาจเป็นแค่สินค้าที่สงวนไว้ให้ครอบครัวชนชั้นกลาง (ขึ้นไป) เท่านั้น ในขณะที่เราคุยเรื่องการเรียน ‘พิเศษ’ ยังมีเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสอีกจำนวนมากที่อยู่นอกระบบการศึกษา สาเหตุไม่ใช่เพราะไม่มีโรงเรียน แต่เพราะฐานะทางครอบครัวที่บีบบังคับให้พวกเขาต้องหยุดเรียน 

 

จากการประมาณโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า ไทยมีเด็กกลุ่มนี้มากถึง 670,000 คน อันเนื่องมาจากความยากจน ความพิการ และปัญหาครอบครัว การสร้างโรงเรียน (Quantity) และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Quality) ไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กกลุ่มนี้กลับเข้าระบบการศึกษา เป็นหน้าที่ของรัฐไทยที่จะต้องจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อนักเรียนยากจน นอกจากจะทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาก็จะแคบลงด้วย

 

‘การเรียนพิเศษ’ มีดีมานด์และซัพพลายของตัวมันเอง การยกเลิกการเรียนพิเศษอาจไร้ความหมาย หากรัฐบาลไม่อาจจัดหาระบบการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ และทั่วถึงเท่าเทียม

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X