×

ทำไมราคาทองคำจึงพุ่งสูงในวิกฤตโควิด-19 เปิด 3 ปัจจัยประสานผลักดันราคาทองคำ

โดย SCB WEALTH
17.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • มีปัจจัยอะไรบ้างที่สนับสนุนให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมา จากราคาที่ต่ำกว่า 1,500 ดอลลาร์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม จนมาทะลุ 1,700 ดอลลาร์ได้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
  • มาตรการที่ผ่อนคลายในระดับสูงมากมีผลกระทบต่อเนื่องให้อัตราดอกเบี้ยโลกและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงอยู่ในระดับต่ำอย่างมาก จึงส่งผลให้ทองคำได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าทองคำจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ไม่ได้สร้างกระแสเงินสดให้ แต่สามารถรักษามูลค่าได้ในระยะยาว
  • ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะสำหรับการถือครองเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน (Hedging) เพราะในระยะยาว ราคาทองคำจะปรับตัวไปในทิศทางผกผันกับสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น 

ราคาทองคำได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับ Pandemic จนเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำได้ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 7 ปี โดยราคา Spot ได้พุ่งขึ้นไปสูงถึง 1,747 ดอลลาร์เมื่อวันอังคารที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนเริ่มมองว่าราคาทองคำมีสิทธิ์ที่จะกลับไปที่จุดสูงสุดที่เคยทำไว้เมื่อตอนเดือนกันยายน 2011 ที่ราคาทองคำไปทำจุดสูงสุดไว้ที่บริเวณ 1,920 ดอลลาร์

 

ทั้งนี้มีปัจจัยอะไรบ้างที่สนับสนุนให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมา จากราคาที่ต่ำกว่า 1,500 ดอลลาร์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม จนมาทะลุ 1,700 ดอลลาร์ได้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

 

ความเสี่ยง ปัจจัยหนุนราคาทองคำตลอดกาล

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจสำคัญอย่างยุโรปและสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศอย่างอิตาลี สเปน และล่าสุดคือเยอรมนี เริ่มที่จะคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างระมัดระวัง 

 

ทางสหรัฐฯ เอง ประธานาธิบดีทรัมป์ก็หาจังหวะที่เหมาะสมที่จะคลายมาตรการดังกล่าวเช่นกัน โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมน่าจะเริ่มให้ธุรกิจบางประเภทกลับมาดำเนินธุรกิจได้ และจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาค่อยๆ ขยายตัวขึ้น

 

ความเสี่ยงได้เริ่มลดลงไปมากแล้วก็จริง แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดต่อเศรษฐกิจยังคงอยู่ และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว นอกจากนี้การระบาดระลอกใหม่ก็พร้อมที่จะปะทุขึ้นได้อีกเช่นกัน ภาพดังกล่าวจึงส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาถือทองคำมากขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง ทั้งนี้นอกจากโควิด-19 แล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงอีกหลายเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้นความเสี่ยงจึงถือว่าเป็นปัจจัยหนุนหลักของราคาทองคำ

 

ดอกเบี้ยต่ำจนติดลบ ปัจจัยหนุนทองคำ ในวัฏจักรเศรษฐกิจรอบนี้

ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีการลดดอกเบี้ยฉุกเฉินถึง 2 ครั้ง และกดให้ดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดที่ 0-0.25% 

 

นอกจากนี้ยังได้มีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบอย่างเต็มที่ มีการเข้าซื้อตราสารหนี้ในระดับ Investment Grade ในปริมาณไม่อั้น และต่อมาก็ขยายการเข้าซื้อไปในตราสารหนี้ระดับ High Yield ด้วย รวมถึงวงเงินสำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ที่สูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์

 

มาตรการที่ผ่อนคลายในระดับสูงมาก มีผลกระทบต่อเนื่องให้อัตราดอกเบี้ยโลก และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลลดลงอยู่ในระดับต่ำอย่างมาก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของญี่ปุ่นและยุโรป ปรับลดลงจนติดลบและมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นจึงส่งผลให้ทองคำได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าทองคำจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ไม่ได้สร้างกระแสเงินสดให้ แต่สามารถรักษามูลค่าได้ในระยะยาว

 

กระแสเงินลงทุนยังไหลเข้า ETF ทองคำ ปัจจัยหนุนทองคำในระยะสั้น-กลาง

หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลบวกกับราคาทองคำในระยะสั้น-กลางคือ สภาพคล่องในระบบการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งพร้อมจะไหลสู่สินทรัพย์ที่มีโอกาสในการทำกำไร ซึ่งทองคำเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ราคาทองคำมีพฤติกรรมราคาคล้ายกับสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น ได้เหมือนกัน 

 

ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดพบว่า มีกระแสเงินลงทุนไหลเข้า ETF ทองคำอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก World Gold Council ล่าสุดพบว่า มีกระแสเงินไหลเข้าสุทธิในเดือนมีนาคม 2020 สำหรับ ETF ทองคำสูงถึง 8,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ทั้งนี้ในอนาคตยังเชื่อว่ายังคงมีเม็ดเงินไหลเข้า ETF ทองคำอย่างต่อเนื่องจากเหตุผลที่กล่าวไปในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยนี้ในอีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ราคาทองคำผันผวนเช่นกัน เนื่องจากปริมาณเงินที่ซื้อทองคำผ่าน ETF นั้น ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนจากนักลงทุน ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนมุมมองได้เสมอ

 

สรุป

ราคาทองคำเคยปรับตัวขึ้นไปสูงสุดในช่วงเดือนกันยายน 2011 ที่ระดับ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หลังจากนั้นก็ปรับตัวลดลงตลอดไปต่ำสุดบริเวณ 1,046 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคม 2015 ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวมาในระดับปัจจุบัน รวมเวลาผ่านไปแล้ว 8 ปีกว่า ก็ยังคงกลับไปไม่ถึงระดับเดิม 

 

ดังนั้นในรอบนี้คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะนโยบายผ่อนคลายทางการเงินคงยังต้องถูกใช้ไปอีกพักใหญ่ ดอกเบี้ยจะยังไม่ปรับขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน 

 

อย่างไรก็ตาม ยังอยากจะเน้นย้ำให้นักลงทุนทราบว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะสำหรับการถือครองเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน (Hedging) เพราะในระยะยาวราคาทองคำจะปรับตัวไปในทิศทางผกผันกับสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น 

 

นอกจากนี้สัดส่วนการลงทุนในทองคำไม่ควรที่จะมีมากเกินไป เนื่องจากทองคำถือว่าเป็นสินทรัพย์ทางเลือก ไม่ใช่สินทรัพย์หลัก ส่วนคนที่ชอบซื้อทองคำเพื่อการเก็งกำไร ก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากทองคำเองก็ถือว่ามีความผันผวนเช่นกัน เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2011

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising