×

ทำไม อีลอน มัสก์ กระตือรือร้นที่จะควบคุม Twitter เขาอยากเปลี่ยนอะไร

โดย THE STANDARD TEAM
27.04.2022
  • LOADING...
Twitter

อีลอน มัสก์ รัก Twitter เขามีผู้ติดตามจำนวนมหาศาลถึง 83.8 ล้านคน เขาช่ำชองการทวีต บางครั้งก็โต้เถียงผ่านการทวีต แต่บางครั้งการทวีตของเขาก็สร้างความเสียหายยับเยิน ถึงขั้นที่ ก.ล.ต. สหรัฐฯ สั่งห้ามมัสก์ไม่ให้ทวีตเกี่ยวกับกิจการของ Tesla หลังจากทวีตหนึ่งของเขาทำราคาหุ้นสูญหายไป 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และอีกครั้ง มัสก์เคยถูกฟ้องหมิ่นประมาทหลังทวีตกล่าวหานักประดาน้ำชาวอังกฤษ เวอร์นอน อันสเวิร์ธ ที่เข้าร่วมภารกิจช่วยเหลือเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าออกจากถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ว่าเป็น ‘Pedo Guy’ หรือพวกใคร่เด็ก (แม้ผลปรากฏว่านักดำน้ำจะแพ้คดี)

 

แต่ถึงกระนั้น มัสก์ก็ไม่เคยห่างหายไปจากคีย์บอร์ด

 

ในทางกลับกัน Twitter พรั่งพรูถึง อีลอน มัสก์ น้อยกว่ามาก

 

ในบทความของ BBC ระบุไว้ว่า คุณอาจคิดว่าถ้ามีคนเสนอเงินให้คุณ 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อซื้อธุรกิจที่ตั้งมา 16 ปี และเริ่มไม่สนุกที่ได้เห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของบรรดาคู่แข่ง นั่นคือพวกเขากำลังช่วยเหลือคุณ และผู้ถือหุ้นของ Twitter ดูเหมือนจะเอนเอียงไปทางเห็นด้วยกับเรื่องนี้

 

เขาต้องการเห็น Twitter เติมเต็ม ‘ศักยภาพที่ไม่ธรรมดา’ โดยไม่สนใจที่จะทำเงินจากมันด้วยซ้ำ เพราะเขามีเงินมากมายก่ายกองอยู่แล้ว 

 

แม้ Twitter พยายามทัดทานโดยใช้กลยุทธ์วางยาพิษ หรือ ‘Poison Pill’ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครก็ตามเป็นเจ้าของหุ้นมากกว่า 15% แต่มัสก์ก็ยังคงเฝ้าพยายามจะซื้อกิจการ Twitter แบบ 100%

 

ทำไม อีลอน มัสก์ ต้องการควบคุม Twitter?

บางทีอาจเป็นเพราะบอร์ดบริหาร Twitter รู้สึกไม่สบายใจนักกับคำประกาศของมัสก์ที่ว่า เขาต้องการเห็น ‘เสรีภาพในการพูด’ มากขึ้น และการตรวจสอบเนื้อหาทวีตน้อยลง 

 

ในขณะที่สมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนที่รู้สึกมานานแล้วว่านโยบายตรวจสอบเนื้อหา (Moderation) ของ Twitter นั้นสนับสนุนเสรีภาพในการพูดของบรรดาเอียงซ้ายต่างขานรับถ้อยแถลงของมัสก์ด้วยความยินดี แต่หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกพากันส่ายศีรษะ เพราะต้องการให้โซเชียลมีเดียมีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์ม โดยกำหนดค่าปรับสูงสำหรับเนื้อหาที่ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง หมิ่นประมาท หรือเข้าข่ายคำพูดสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) 

 

ไม่เพียงแต่เรื่องเสรีภาพในการพูดและการตรวจสอบเนื้อหาทวีต มัสก์และ Twitter ยังมีความเห็นต่างในเรื่องของการเงินอีกด้วย โมเดลธุรกิจหลักของ Twitter เป็นแบบ Ad-Based หรือสร้างรายได้จากโฆษณา แต่มัสก์ต้องการเปลี่ยน เขาสนใจรูปแบบ Subscriptions หรือการเรียกเก็บค่าสมาชิกมากกว่า แม้ดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องยากในสภาพแวดล้อมที่โซเชียลมีเดียหลักๆ ล้วนเปิดให้ใช้งานฟรี แต่ถึงกระนั้นก็อาจมีผู้ใช้ Twitter บางกลุ่มที่ยินดีจ่าย เพราะไม่ต้องการให้ข้อมูลของตนถูกนำไปใช้สร้างรายได้ 

 

นอกจากนี้มัสก์ยังชอบคริปโตเคอร์เรนซี และอาจใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อจูงใจให้ผู้คนหันมาชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัล อย่างเช่น Bitcoin

 

และที่ลืมไม่ได้ก็คือตัวของมัสก์เอง เขาเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก จากความสำเร็จในการทำธุรกิจและลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Serial Entrepreneur) พิสูจน์ได้จากผลงานอย่าง PayPal และ Tesla อีกทั้งยังมีเสน่ห์แบบดิบๆ ชอบท้าทายขอบเขต และแหกกฎ

 

มีเหตุผลว่าทำไมเขาจึงปฏิเสธไม่นั่งเก้าอี้บอร์ดบริหาร Twitter หลังจากซื้อหุ้น 9.2% เมื่อเดือนมกราคม นั่นก็เพราะเขาไม่ต้องการเอาตัวเข้าไปเกี่ยวพันกับความรับผิดชอบ

 

นอกจากนี้มัสก์ยังมีแฟนคลับที่จงรักภักดีที่พร้อมจะออกมาปกป้องเขา 

 

BBC ระบุในบทความวิเคราะห์ว่า เขาไม่ได้เข้าหา Twitter ด้วยดอกไม้และช็อกโกแลตอย่างแน่นอน นี่เป็นข้อเสนอเชิงรุกจากนักธุรกิจที่ดุดัน ไม่มีการเจรจา ไม่มีการประนีประนอม

 

การเจรจาซื้อขายหุ้นครั้งนี้เป็นการเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (Private Sale) และไม่ใช่การควบรวมกิจการระหว่างสองยักษ์ใหญ่ ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบมากนัก

 

เป็นภัยต่อประชาธิปไตยหรือไม่?

เอลิซาเบธ วอร์เรน สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ จากรัฐแมสซาชูเซตส์ โจมตี อีลอน มัสก์ รอบล่าสุดว่า ดีล Twitter เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย

 

เธอกล่าวหาว่า มัสก์มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าประชาชนคนอื่นๆ เขาสั่งสมอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และเสนอแนะว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องเรียกเก็บภาษีความมั่งคั่งและออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด เพื่อให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มีส่วนรับผิดชอบ

 

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วอร์เรนวิจารณ์มัสก์ออกสื่อ ก่อนหน้านี้ทั้งสองเคยปะทะฝีปากกันมาแล้ว โดยในเดือนธันวาคม 2021 วอร์เรนเคยจวกมัสก์ว่าเป็น ‘พวกที่ชอบเอาเปรียบผู้อื่น’ ซึ่งมัสก์ก็ได้สวนกลับไปว่า “คุณทำให้ผมนึกถึงสมัยเด็ก ผมมักจะชอบเจอบรรดาแม่ๆ จอมหัวร้อนของเพื่อนที่อยู่ดีๆ ก็ตะโกนด่าคนอื่นโดยไม่มีเหตุผล”

 

ส่วนอีกข้อความหนึ่งบน Twitter นั้น มัสก์กล่าวว่า “หากคุณยอมเปิดตาให้กว้างสัก 2 วินาที คุณก็คงจะเห็นเองว่าปีนี้ผมจ่ายภาษีมากกว่าชาวอเมริกันทุกคนที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์”

 

ที่ผ่านมาวอร์เรนถือเป็นนักการเมืองที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มัสก์และมหาเศรษฐีคนอื่นๆ อย่างเผ็ดร้อนอยู่บ่อยครั้ง หลังจากที่ ProPublica งัดหลักฐานออกมาแฉว่า มัสก์ไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Federal Income Tax) ในปี 2018 นอกจากนี้เธอยังเป็นบุคคลที่สนับสนุนให้มีการเรียกเก็บภาษีจากบรรดามหาเศรษฐีของสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่าคนปกติอีกด้วย

 

บทความ BBC ชี้ว่า Twitter ภายใต้การนำทัพของมัสก์จะมีภูมิทัศน์ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมากสำหรับผู้ใช้งาน 300 ล้านคน มีความกล้ามากขึ้น และบางทีอาจเอียงซ้าย (Liberal-Leaning) น้อยลง เขาอาจคืนสถานะให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งปัจจุบันถูกแบนจาก Twitter ถาวร และทรัมป์อาจดีใจที่จะได้กลับมาใช้ Twitter อีกครั้ง เมื่อพิจารณาจากความพยายามที่ตะกุกตะกักของอดีตผู้นำสหรัฐฯ ในการสร้างเครือข่ายโซเชียลมีเดียของตนเองที่มีชื่อว่า Truth Social 

 

เวลานี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะสรุปมุมมองโดยรวมของผู้ใช้ Twitter เพราะในขณะที่ผู้ใช้กลุ่มหนึ่งแสดงความยินดีกับการเข้ามาเป็นเจ้าของแบบเต็มตัวของมัสก์ แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้อีกกลุ่มหนึ่งที่ดูท่าแล้วคงไม่ใช่แฟนคลับของมัสก์ ทวีตข้อความขู่ว่าจะเลิกใช้ Twitter ดังนั้นคงต้องรอดูกันต่อไปว่าแพลตฟอร์มนกสีฟ้าภายใต้การคุมบังเหียนของมัสก์จะมีหน้าตาออกมาเป็นเช่นไร

 

ภาพ: Sheldon Cooper / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X