×

สาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง

โดย THE STANDARD TEAM
24.08.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลงมากในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานผู้พัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ จึงเกิดภาวะขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ
  • จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น กกพ. จึงพยายามบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกที่สุด
  • หนี้ กฟผ. มาจากนโยบายกำกับไม่ให้ค่าไฟฟ้าแพงเกินไปเพื่อช่วยเหลือประชาชน กฟผ. จึงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายแทนประชาชนไปก่อน
  • กกพ. คาดการณ์ว่า ขณะนี้ค่าไฟฟ้าได้ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดแล้ว ราวกลางปี 2567 ราคาค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย

ทำไมค่าไฟฟ้าจึงแพง

 

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีสาเหตุมาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในประเทศเป็นต้นทุนค่าเชื้อเพลิงถึง 43.6% ซึ่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักถึง 60-65% และก๊าซธรรมชาติที่นำมาผลิตไฟฟ้ามาจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นส่วนใหญ่ 62% ที่เหลือนำเข้ามาจากเมียนมา และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในสัดส่วนเท่าๆ กัน

 

แต่การผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลงในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ โดยผู้รับสัมปทานรายเดิมไม่มีการลงทุนขุดหลุมผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่ม ทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติเริ่มลดลงตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานปิโตรเลียม ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งนี้ลดลงจาก 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

 

ขณะเดียวกันแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมาก็ไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิม และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ

 

ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG แบบสัญญาจร (Spot LNG) จากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงมาชดเชย โดยราคา Spot LNG ที่สูงมากในปี 2565 ผันผวนตามสถานการณ์โลกและอัตราแลกเปลี่ยน และยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคา Spot LNG ขึ้นไปสูงมาก บางช่วงขึ้นไปถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นช่วงที่มีความยากลำบากในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง 

 

ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ค่าไฟฟ้าจึงมีราคาแพงขึ้น

 

 

ดังนั้น ในช่วงที่ราคา LNG ปรับตัวขึ้นไปสูงมาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้พิจารณาเปรียบเทียบว่าจะลดการใช้ LNG อย่างไร ก็มีการนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะกลับมาเดินเครื่องใหม่หลังจากที่หมดอายุไปแล้ว ซึ่งสามารถลดการใช้ LNG ไปได้บางส่วน และยังให้โรงไฟฟ้าบางโรงเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทดแทน LNG ซึ่งในช่วงนั้นน้ำมันมีราคาถูกกว่า LNG และพยายามจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ มาเพิ่มเติม เพื่อให้ใช้ LNG เท่าที่จำเป็น แต่สุดท้ายก็ต้องใช้ LNG อยู่ดีเพราะปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยหายไปค่อนข้างมาก กกพ. จึงพยายามบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกที่สุด แต่ที่ค่าไฟฟ้ายังแพงเพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นมากนั่นเอง 

 

ส่วนภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้นเกิดจาก กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ต้องไปซื้อก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า เพื่อเอาไฟฟ้าไปขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย แต่นโยบายของภาครัฐต้องกำกับไม่ให้ค่าไฟฟ้าแพงเกินไปเพื่อช่วยเหลือประชาชน จึงเกิดภาระจากการขายไฟฟ้าที่มีราคาถูกกว่าต้นทุน ทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายแทนประชาชนไปก่อนค่อนข้างมาก

 

เมื่อ กฟผ. ซื้อก๊าซธรรมชาติราคาแพงมา แต่มาขายในราคาที่ถูกด้วยนโยบายของภาครัฐ มีการสะสมไปเรื่อยๆ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มน้อยลง ต้องซื้อ LNG เข้ามาทดแทน ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ Ft ที่เรียกเก็บในแต่ละงวดๆ ก็จะสะสมไปเรื่อยๆ เมื่อเรียกเก็บน้อยกว่าต้นทุนจริง ในขณะที่ กฟผ. ต้องจ่ายเงินไปก่อน จนถึงปี 2565 หนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นก้อนใหญ่ พอถึงปี 2566 กฟผ. แบกรับภาระหนี้เริ่มเต็มแล้ว ก็ได้รับการคืนหนี้มา 1 งวด ประมาณ 1 หมื่นกว่าล้านบาท แต่หนี้รวมทั้งหมดอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ดังนั้น เมื่อค่า Ft ถูกลง ก็จะนำมาทยอยใช้หนี้คืน กฟผ. ล่าสุดหนี้ กฟผ. เหลือประมาณ 1.38 แสนล้านบาท

 

ส่วนโอกาสที่จะนำเงินจากส่วนอื่นนอกจากค่า Ft มาใช้หนี้คืน กฟผ. นั้น ก็ต้องเป็นเงินจากส่วนอื่น ต้องเป็นนโยบายของภาครัฐ หรือเอาหนี้ก้อนนี้ไปบริหารจัดการ ซึ่งต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารจัดการ ถ้าไม่มีนโยบายใดๆ ออกมาก็จะต้องใช้วิธีทยอยคืนเงินจากค่า Ft ไปให้ กฟผ. เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

 

ในช่วงที่แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน บวกกับราคา LNG ขึ้นไปสูงมาก ค่าไฟฟ้าน่าจะอยู่ในระดับที่สูงที่สุดแล้ว ขณะนี้แหล่งเอราวัณได้เพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปลายปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ถ้าเป็นไปตามแผนจะทำให้การใช้ LNG ลดลง ความเสี่ยงของความผันผวนของราคา LNG ในตลาดโลกก็จะน้อยลง

 

ถ้านำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น ลดสัดส่วนการใช้ LNG ต้นทุนก็จะถูกลง และน่าจะเห็นค่าไฟฟ้าที่ประมาณ 4 บาทต้นๆ

 

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising