อินเดียกำลังก้าวขึ้นมายืนบนเวทีโลก ณ วันนี้ ซึ่งหลายคนน่าจะเห็นจากภารกิจ ‘จันทรายาน-3’ ของอินเดีย สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลก รวมไปถึงมิติอื่นๆ ทั้งแง่ของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอัตราการเติบโตของประชากรแซงจีนไปแล้วในปีนี้
THE STANDARD WEALTH มีโอกาสเดินทางเยือนประเทศอินเดีย ร่วมกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC หรือที่รู้จักกันในฐานะแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า ที่ถือเป็นธุรกิจลมใต้ปีกของกลุ่ม ปตท.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อินเดียเปิดทางผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ‘GPSC’ รีบคว้าโอกาส! ส่ง Avaada Energy ประมูลโครงการโซลาร์อีก 560 เมกะวัตต์
- ดับฝัน Silicon Valley? อินเดียในฐานะซัพพลายเออร์หลัก Apple อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อ Foxconn-Vedanta ถอนลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิป
- iPhone 15 มาแล้ว! และมาในเวอร์ชัน Made in India หลังซัพพลายเออร์ Apple Foxconn เริ่มกระจายฐานผลิตออกจากจีนมาอินเดีย
ซึ่งไฮไลต์ที่น่าสนใจของการเดินทางครั้งนี้คือการได้เยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์พิฆเนร์ ของ Avaada (Bikaner Solar Power Project) ที่เป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์นำร่องที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่สร้างบนพื้นที่เนินทะเลทราย
อะไรที่ทำให้อินเดียก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพลังงานสะอาด และนำหน้าหลายประเทศไปหลายก้าวอย่างรวดเร็ว?
“GPSC เป็นบริษัทพลังงานรายแรก และเป็นรายเดียวของประเทศไทยที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย เรายกให้อินเดียเป็น Secound home (บ้านหลังที่ 2) ของการลงทุนตลาดต่างประเทศ จากโอกาสที่ชัดมากๆ เลยก็คือต้นทุนค่าไฟของอินเดียอยู่ที่ 1.50 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ถูกกว่าไทยเกือบ 3 เท่า และขั้นตอนการบิดดิ้งไฟฟ้าเกิดขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 50 กิกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเยอะมาก หากเทียบกับแผนพัฒนาไฟฟ้าของประเทศไทยเพียงแค่ 5 กิกะวัตต์ ไทยใช้เวลานานถึง 7 ปี หลายๆ มิติในวันนี้อินเดียจึงมีเสน่ห์และน่าสนใจ” รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าว
ทำไมต้องอินเดีย
รสยาฉายภาพบรรยากาศการลงทุนในประเทศอินเดีย ณ เวลานี้ ถือว่าเป็นประเทศเนื้อหอมที่มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าอินเดียขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยบริษัทเทคโนโลยี เป็นฐานการผลิตให้กับบริษัทระดับโลก เพราะนอกจากรัฐบาลอินเดียมีนโยบายในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งแซงหน้าจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกไปแล้ว
ยังไม่นับรวมเศรษฐกิจของประเทศอินเดียในปี 2566 ที่โดดเด่นด้วยอัตราการเติบโต GDP สูงถึง 6.1% และในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตถึง 6.8% ในอีกไม่กี่ปี หรือประมาณปี 2569 มูลค่าจะสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ และเพิ่มเป็น 7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2573
เมื่อเศรษฐกิจโต การลงทุนเข้ามามากขึ้น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าจึงสำคัญและจำเป็นต่อกิจกรรมในทุกมิติ โดยหากดูค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าของประชากรอยู่ที่ประมาณ 1.2 เมกะวัตต์ชั่วโมง เมื่อเทียบกับปริมาณเฉลี่ยของประชากรโลกจะอยู่ที่ 3.4 เมกะวัตต์ชั่วโมง ถือว่าเกือบครึ่ง ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่าโอกาสในการเข้ามาลงทุนพลังงานสะอาดประเทศอินเดียนั้นยังมีช่องว่างอีกมาก และจากการเข้ามาลงทุนในช่วงโควิดที่ผ่านมายิ่งตอกย้ำว่าบริษัทมาถูกทาง
จุดแข็งนโยบายพลังงานสะอาดเมื่อเทียบกับไทย
ถามว่าการเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และประชากรจำนวนมากเป็นเหตุผลหลักของความแข็งแกร่งของอินเดียหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ใช่ทั้งหมด โดยสิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือนโยบายพลังงานสะอาดของรัฐบาลอินเดียภายใต้การบริหารของ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดีย
โดย Modi วางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ 500 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 ซึ่งส่วนนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 280 กิกะวัตต์ และตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 50% ภายในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2613 รวมถึงยังมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตกรีนไฮโดรเจนจำนวน 5 ล้านตันต่อปี จะช่วยพัฒนาในเรื่องพลังงานสะอาดควบคู่ไปกับการกักเก็บ (Energy Storage) ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 1 ล้านดอลลาร์
มากไปกว่านั้นรัฐบาลอินเดียมีนโยบายสนับสนุนด้านการลงทุนอย่าง Foreign Direct Investment (FDI) ที่ให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้โดยตรง หรือ Production Linked Incentive (PLI) ที่ระบุว่า ยิ่งผลิตมากยิ่งได้ต้นทุนกลับคืนมาก และรูปแบบการบิดดิ้งไม่ซับซ้อน การบิดดิ้งเกิดขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 50 กิกะวัตต์ ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมาก และถ้าเทียบกับไทย การพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าคือแผน PDP ซึ่งมีกำลังผลิตอยู่ที่ 5 กิกะวัตต์ใช้เวลา 7 ปี
“ตอนนี้ต้องบอกเลยว่าอินเดียมีแพสชันสูงเรื่องพลังงานสะอาด เขาอยากโตให้เร็ว ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทพลังงานของไทยหลายรายที่เห็นโอกาสและตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจในอินเดีย แต่สุดท้ายก็ถอนตัวออกจากประเทศนี้ไปด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง แต่ GPSC มีพันธมิตรท้องถิ่นที่ดี และเราโชคดีที่มีพันธมิตรอย่างกลุ่ม Avaada ที่เป็นหนึ่งผู้เล่นด้านพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในอินเดียเป็นทุนเสริมศักยภาพ ทำให้บริษัทวิน-วินกันทั้งสองฝ่าย”
รสยาบอกว่า จากโอกาสเหล่านี้ ทำให้การลงทุนที่อินเดีย โดยมี บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ที่ GPSC ถือหุ้น 100% ตัดสินใจเลือกอินเดียเป็นบ้านหลังที่ 2 ในการลงทุนตลาดต่างประเทศ ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท อวาด้า เวนเจอร์ ไพรเวท จำกัด (Avaada Venture Private Limited) หรือ AVPL เพื่อลงทุนในบริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (Avaada Energy Private Limited) หรือ AEPL บริษัทในกลุ่มอวาด้า
AEPL (Avaada Group) คือใคร
Avaada Group เป็นผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย โดย GPSC เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 42.93% คิดเป็นเงินลงทุนมูลค่า 779 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2564 และยังมี AEPL บริษัทยักษ์ใหญ่ในเครือ Avaada Group ที่มีส่วนแบ่งตลาดพลังงานในอินเดียราว 10-15% และมีกำลังผลิตมากถึง 7 กิกะวัตต์
ปัจจุบันยังได้ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจใน AEPL เพื่อให้ครอบคลุมธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) ซึ่ง AEPL โดดเด่นและชนะประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดียอย่างต่อเนื่อง
“Avaada Group จะเป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการขยายสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของ GPSC ให้ได้ตามเป้าหมายมากกว่า 50% ในปี 2573 อีกด้วย”
รสยาบอกว่า ในอนาคตหากยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอินเดียที่ระดับนี้ได้ ด้วยเป้าหมายของรัฐบาลอินเดียที่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาดที่ 50 กิกะวัตต์ต่อปี บรรลุเป้าหมาย 500 กิกะวัตต์ได้ในปี 2573 นั้น GPSC จะมีพลังงานสะอาดอย่างน้อย 5 กิกะวัตต์ต่อปี หรือ 5,000 เมกะวัตต์ต่อปี ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
ส่องโปรเจกต์ยักษ์ ‘Bikaner Solar Power Project’
THE STANDARD WEALTH ได้มีโอกาสบุกฟาร์มทะเลทรายโซลาร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก Bikaner Solar Power Project โดยไฮไลต์สำคัญในการเดินทางครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่การเดินทางจากกรุงนิวเดลีไปยังอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย
พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยอูฐและเนินทะเลทราย แต่สามารถก่อสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบนำร่องที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมาได้ภายใต้การดำเนินงานของ Avaada ด้วยขนาดกำลังการผลิต 1,246 เมกะวัตต์ พื้นที่ 4,100 เอเคอร์หรือ 12,000 ไร่ ที่เมืองพิฆเนร์ รัฐราชสถาน ก่อนจะมาถึงวันนี้ ในอดีตเป็นเนินทะเลทรายที่แห้งแล้ง ขาดแคลนไฟฟ้า และเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ปลูกพืชน้ำน้อย
รสยาบอกว่า ความน่าสนใจคือจุดแข็งในการหาพื้นที่ของ Avaada เขาจะเริ่มจากเข้ามาสำรวจร่วมกับชาวบ้านและทำความตกลง (ที่ไทยเรียกว่าประชาพิจารณ์) ด้วยอินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่และมีการแบ่งเขตรัฐ ท้องถิ่นที่มีกฎระเบียบราชการแตกต่างกันออกไป Avaada จะมีทีมเฉพาะเพื่อจัดหาพื้นที่กับชาวบ้าน จากนั้นจึงออกแบบทางด้านวิศวกรรมและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้
“ตรงจุดนี้ทำให้โครงการมีมาร์จินสูง และล่าสุดบริษัทมีแผนจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวอีก 2 กิกะวัตต์ รวมเป็น 3.2 กิกะวัตต์”
แผนสู่แบตเตอรี่และไฮโดรเจน
รสยามองว่า ภายในปีหน้า นอกจากการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว GPSC ยังตั้งเป้าที่จะต่อยอดให้ครอบคลุมธุรกิจไปถึงระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) พร้อมทั้งวางแผนลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวในอินเดีย เพราะด้วยนโยบายรัฐบาลและต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนกำลังเป็นโอกาสของ GPSC ในการขยายพอร์ต
“หากจะให้เทียบต้นทุนพลังงานสะอาดส่วนใหญ่ พลังงานอย่างไฮโดรเจนมากกว่า 60% ล้วนมาจากค่าไฟ ทำให้การลงทุนในไทยอาจจะไม่คุ้มทุน เพราะค่าไฟไทยหากเทียบกับเพื่อนบ้านถือว่ายังสูง 4.45 บาทต่อหน่วย ขณะที่ค่าไฟของอินเดียอยู่ที่ 1.50 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ถูกกว่าไทยเกือบ 3 เท่า”
ทิ้งเวียดนาม ปักหมุดอินเดีย ตั้งเป้ารั้งแชมป์อันดับ 3 ตลาดอาเซียน
GPSC ได้พิจารณาทบทวนแผนการลงทุนในเวียดนาม หลังจากศึกษาการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าหลายโครงการแล้วพบว่ามีความเสี่ยงที่ไม่สามารถรับได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน และนโยบายรัฐที่ไม่มีความชัดเจน รวมถึงรูปแบบการประมูล และไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนที่เหมาะสมได้ ทำให้ต้องยุติการลงทุนไป
จึงเป็นเหตุให้ GPSC หันมาวางแผนเพิ่มการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและเจรจากับพันธมิตรหลายราย เพื่อขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนในประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพและมีพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศจีน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นอกเหนือจากการลงทุนในอินเดียและไต้หวัน
“ปัจจุบันนี้ GPSC ถือว่าเป็นอันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่อย่าลืมว่าการที่เรามีแพสชันอยากเป็นอันดับ 3 ทุกคนก็มีเป้าหมายและการเพิ่มกำลังผลิตเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราไม่หยุดเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด และหวังว่าในอนาคตจะรักษาตำแหน่งอันดับ 3 นี้ไว้ได้”
Kishor Nair ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AEPL กล่าวเสริมว่า ปี 2566 กลุ่ม Avaada สามารถชนะการประมูลโครงการเสนอราคาการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิตแผ่นเวเฟอร์โซลาร์เซลล์และโมดูล และ AEPL ยังได้ชนะการประมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 2.5 กิกะวัตต์ ซึ่งทำให้ปัจจุบัน AEPL มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นมากกว่า 7 กิกะวัตต์
โดยมี Brookfield ได้เข้ามาร่วมลงทุนมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในกลุ่ม Avaada เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไฮโดรเจน/แอมโมเนียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่จาก GPSC และ Brookfield
ในส่วนนี้รสยาบอกว่า Brookfield เป็นกองทุนจากแคนาดา สอดรับกับวิชันธุรกิจกรีนที่กลุ่ม ปตท. กำลังให้ความสนใจและอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมทุน ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักของกรีนไฮโดรเจน/แอมโมเนียกระจุกอยู่ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
แต่ด้วยศักยภาพการตั้งโรงงานผลิตในอินเดียเองก็ได้เปรียบด้านต้นทุน รวมทั้งภาครัฐมีนโยบายอุดหนุนโครงการดังกล่าวเช่นเดียวกับหลายประเทศที่มีการตั้งโรงงานผลิตกรีนไฮโดรเจน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน รวมถึงออสเตรเลีย
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังสนใจในธุรกิจปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และยาในอินเดีย ซึ่ง GPSC ในฐานะ Country Leader ประเทศอินเดีย ทำหน้าที่ซัพพอร์ตข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจต่างๆ โดยเรามีทีมงานอยู่ที่ประเทศอินเดีย 2 คน ที่เมืองมุมไบและนิวเดลี
Vineet Mittal ประธานกลุ่ม Avaada ทิ้งท้ายว่า อินเดียเคยเป็นประเทศที่ขาดแคลนไฟฟ้าสูงถึง 12.7% แต่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 4% ในปีนี้ และเชื่อว่าอนาคตการขาดแคลนไฟฟ้าจะลดลงเรื่อยๆ จนเหลือศูนย์ หลังจากอินเดียทั้งมุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศ และเปิดให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้สูง 100% ผ่านการลงทุนช่องทางอัตโนมัติ
ส่งผลให้เศรษฐกิจของอินเดียวันนี้เติบโตขึ้น ความต้องการพลังงานสะอาดก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นคาดว่า AEPL จะมี EBITDA ราว 240 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 และจะเพิ่มเป็น 500 กว่าล้านดอลลาร์ในปี 2569 หลังจาก AEPL มีกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนขึ้นไปแตะ 11 กิกะวัตต์
กลยุทธ์และแผนการลงทุนทั้งหมดนี้จะทำให้ GPSC รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน AEPL เพิ่มขึ้น เติบโตมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่บริษัท แต่ในแง่ของประเทศด้วย
หลังจากนี้คงต้องจับตาดูต่อไปว่า ‘พลังงานสะอาด’ หนึ่งในเมกะเทรนด์โลกของอินเดียในวันนี้จะเติบโตมากแค่ไหน ท่ามกลางโอกาสที่มาพร้อมการแข่งขันอันร้อนแรงของแต่ละประเทศ