×

เราแข่งขันซีเกมส์กันไปเพื่ออะไร?

10.02.2023
  • LOADING...

ตั้งแต่จำความได้เกี่ยวกับการแข่งขันซีเกมส์ในชีวิตการทำงานของผมคือ การแข่งขันซีเกมส์ครั้งแรกที่เมียนมาเมื่อปี 2013 ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ทำให้ผมได้รู้จักกับ ‘ชินลง’ ศิลปะแบบดั้งเดิมหรือกีฬาโบราณที่มีมานานกว่า 1,500 ปีของเมียนมา กีฬาที่คล้ายกับตะกร้อ แต่เป็นการแข่งขันกีฬาของเจ้าภาพที่ตัดสินใจบรรจุมาในซีเกมส์ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 

 

ครั้งต่อมาในปี 2015 ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยมี Singapore National Stadium สนามกีฬาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสนามที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน ซึ่งผ่านการจัดการแข่งขันระดับ Youth Olympic มาแล้ว และในซีเกมส์ปีนั้นก็ถูกยกย่องให้เป็นครั้งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแข่งขันของสิงคโปร์ 

 

หลังจากนั้นทั้งหมด ปี 2017 ที่มาเลเซีย, 2019 ที่ฟิลิปปินส์ ต่อด้วย 2022 ที่เวียดนาม ทุกครั้งเจ้าภาพจัดการแข่งขันมักจะถูกตั้งคำถามถึงการบรรจุชนิดกีฬาท้องถิ่นของเจ้าภาพ และตัดรุ่นน้ำหนักที่เจ้าภาพเสียเปรียบออกในแต่ละชนิดกีฬา เพื่อให้เจ้าภาพได้เปรียบในแง่ของเหรียญรางวัลสะสม และกลายเป็นเจ้าเหรียญทองในวันสุดท้ายของการแข่งขัน

 

จนมาถึงซีเกมส์ครั้งนี้ที่กัมพูชา หลายฝ่ายก็ยังคงตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลือกชนิดและประเภทกีฬาที่ใช้แข่งขันครั้งนี้ 

 

แน่นอนว่าการเป็นเจ้าภาพก็เหมือนการเป็นเจ้าบ้านในฟุตบอล แฟนกีฬาเจ้าถิ่นย่อมมีความต้องการที่จะเห็นนักกีฬาของสโมสรหรือทีมชาติตนเองประสบความสำเร็จ 

 

แต่ในตอนนี้ที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นอย่างมากในซีเกมส์ ผมจึงอดตั้งคำถามสำคัญไม่ได้ว่า แล้วเราแข่งขันซีเกมส์กันไปเพื่ออะไร? 

 

จากเซียปเกมส์ถึงซีเกมส์ มหกรรมเพื่อมิตรภาพของภูมิภาคอาเซียน?

 

 

ซีเกมส์ หรือจุดเริ่มต้นมาจากการแข่งขันเซียปเกมส์ (SEAP Games) เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1958 เมื่อชาติสมาชิกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน พบเจอกันในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ประชุมร่วมกัน และตกลงที่จะก่อตั้งเซียปเกมส์ขึ้นมา 

 

โดยคอนเซปต์เซียปเกมส์เกิดขึ้นจาก หลวงสุขุม นัยประดิษฐ์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ต้องการให้การแข่งขันนี้จัดขึ้นเพื่อโปรโมตความร่วมมือ ความเข้าใจกันและกัน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค โดยมีเมียนมา, กัมพูชา, สปป.ลาว, มาเลเซีย, ไทย และเวียดนาม (เวียดนามใต้ในเวลานั้น) เป็นกลุ่มชาติร่วมก่อตั้ง และได้จัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 1959 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 12-17 ธันวาคม โดยมีนักกีฬาเข้าร่วม 527 คน จาก 6 ชาติ 

 

ก่อนที่การแข่งขันในปี 1977 จะมีบรูไน, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เข้าร่วมแข่งขัน และได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็น Southeast Asian Games หรือซีเกมส์ (SEA Games) ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ 

 

โดยชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในแง่ของเหรียญรางวัลคือ ‘ไทย’ ที่ 2,345 เหรียญทอง 2,031 เหรียญเงิน และ 2,096 เหรียญทองแดง ตามด้วยอินโดนีเซีย

 

การกำหนดชนิดกีฬาแข่งขันของเจ้าภาพในแต่ละปี 

 

 

มนตรีซีเกมส์ระบุไว้ว่า ชาติเจ้าภาพจะต้องจัดการแข่งขันอย่างน้อย 22 ชนิดกีฬา โดยแบ่งเป็น กีฬาบังคับ

 

ประเภท 1 คือ กรีฑาและกีฬาทางน้ำ

ประเภท 2 คือ 14 กีฬาที่เคยแข่งขันในระดับเอเชียนเกมส์หรือโอลิมปิก 

ประเภท 3 คือ กีฬาชนิดอื่นๆ ได้ไม่เกิน 8 ชนิด 

 

โดยทุกกีฬาต้องมีสัดส่วนของเหรียญรางวัลไม่เกิน 5% ของทั้งหมด ยกเว้นเพียงกรีฑา กีฬาทางน้ำ และกีฬายิงปืน 

 

โดยทุกกีฬาต้องมีชาติแข่งขันไม่น้อยกว่า 4 ประเทศ 

 

‘ซีเกมส์ ซีโกง’ ข้อกล่าวหาที่อยู่คู่กับการแข่งขันเกือบทุกครั้ง

ด้วยข้อกำหนดของชนิดกีฬาดังกล่าว ทำให้ชาติเจ้าภาพต่างก็ใช้ประโยชน์จากสิทธิ์การเลือกบรรจุชนิดและประเภทของกีฬา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเส้นทางการเป็นเจ้าเหรียญทอง 

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

A post shared by Wilavan Apinyapong (@wilavan10)

 

ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยรอรถบัสถึง 4 ชั่วโมง หลังเดินทางถึงสนามบินมาเลเซียในซีเกมส์เมื่อปี 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย

 

ซึ่งนอกจากการบรรจุกีฬาที่อาจไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อนแล้ว ยังมีการจำกัดประเภทในชนิดกีฬาสากลที่เสียเปรียบในบางครั้ง 

 

เหมือนกับการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ ที่ อับราฮัม โทเลนติโน ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฟิลิปปินส์ (POC) ได้ออกมาชี้ว่า เป็นซีเกมส์ครั้งที่ดูจะวุ่นวายกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยการที่เจ้าภาพกัมพูชาจัดกีฬาชนิดที่แปลกประหลาดและจำกัดนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันบางรายการ จนทำให้ฟิลิปปินส์ยอมรับว่าจะไม่สามารถเป็นเจ้าเหรียญทองได้ในครั้งนี้ 

 

เอเลนา โกห์ หลิง หยิน สาวนักเดินทนจากประเทศมาเลเซีย เจ้าภาพซีเกมส์ ปี 2017 คว้าเหรียญทองในการแข่งขันปีนั้น ด้วยการออกท่าทางเสมือนกับวิ่ง ในการแข่งขันกรีฑา ประเภทเดินทน 10,000 เมตรหญิง รอบชิงชนะเลิศ

 

รวมถึงสื่อเวียดนามยังรายงานว่า พวกเขาขอแค่เป็นที่ 3 ตั้งเป้าเพียง 100 เหรียญทอง เพราะกัมพูชาถอดกีฬาที่เวียดนามถนัด ทั้งยิงธนู, ยิงปืน, พายเรือแคนู, พายเรือ, ฟุตซอล และคูราช ออก และวางเป้าหมายไว้กับซีเกมส์ครั้งนี้ว่า เป็นรายการสำหรับการเตรียมพร้อมไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ปลายปีนี้ที่หางโจว ประเทศจีน 

 

ยังไม่นับรวมถึงปัญหา ‘กุน ขแมร์’ กีฬาประจำชาติของกัมพูชา ที่เจ้าภาพเลือกบรรจุมาแทนกีฬามวยหรือมวยไทย ทั้งที่มีรูปแบบและกติกาคล้ายกัน จนทำให้ไทยตัดสินใจไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันรายการนี้ 

 

เช่นเดียวกับ E-Sport ที่ สันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ไทยจะส่งทีมเข้าแข่งขันทั้งหมดแค่ 2 เกม คือ PUBG MOBILE และ X-SHOT ขณะที่ VALORANT ที่เจ้าภาพเพิ่งมาเพิ่มในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เป็นความเคลื่อนไหวแบบไม่เป็นทางการ และเจ้าภาพไม่ได้ส่ง Handbook ของการแข่งขันมาให้ 

 

ขณะที่สิงคโปร์และบรูไนประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน VALORANT เนื่องจากเจ้าภาพกัมพูชาประกาศตัดเกมยอดฮิตทั้ง ROV และ FIFA Online ออก ซึ่งอาจทำให้สุดท้าย VALORANT ไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะมีเพียง 3 ชาติที่ยืนยันเข้าร่วมคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา  

 

ความภาคภูมิใจของเจ้าภาพ บนความล้มเหลวของการแข่งขันกีฬา 

 

 

กีฬาทุกชนิดที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกมีองค์ประกอบสำคัญที่สุดคือ ความยุติธรรมในการแข่งขัน ไม่ต้องมองไปที่ไหนไกล เรายกตัวอย่างข่าวใหญ่ล่าสุดในวงการฟุตบอล เรื่องของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่โดนพรีเมียร์ลีกกล่าวหาว่าไม่โปร่งใสทางการเงินและทำผิดกฎการเงินไปกว่าร้อยกระทง 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีหลักการสำคัญเพียงอย่างเดียวคือ การต้องการพิสูจน์ว่าลีกการแข่งขันของพรีเมียร์ลีกมีความยุติธรรมต่อทุกฝ่ายและมีความโปร่งใสในการตรวจสอบ ให้ทุกคนแข่งขันกันในสนามที่มีความเท่าเทียมกันทุกรูปแบบ ตั้งแต่การเงินไปจนถึงการลงสนามฟุตบอล 

 

เช่นเดียวกับกฎ Salary Cap ของอเมริกันเกมส์ ทั้งอเมริกันฟุตบอลและบาสเกตบอล ต่างก็ต้องหาวิธีบริหารการเงินควบคู่กับการบริหารจัดการทีมในลีก 

 

เพราะเหตุนี้ทำให้กีฬาของพวกเขาเต็มไปด้วยความสนุกและตื่นเต้น เพราะลีกของพวกเขาเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก และนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จหรือคว้าชัยชนะก็เกิดขึ้นจากการแข่งขันที่ใสสะอาดและยุติธรรมต่อทุกฝ่ายที่เข้าร่วมแข่งขัน 

 

แต่ทั้งหมดนั้นคือกีฬาอาชีพ ที่มีเรื่องของการสร้างรายได้และเรตติ้งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จของลีก 

 

แต่เมื่อเรามองมาที่การแข่งขันกีฬาสมัครเล่นอย่างโอลิมปิก เมื่อเรามองเห็นนักกีฬาผู้ยิ่งใหญ่เพียงแค่ในกีฬาที่โดงดังที่สุดของกีฬาสมัครเล่นทั้งกรีฑาและว่ายน้ำ ทั้ง ไมเคิล เฟลป์ส และ ยูเซน โบลต์ สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือ ความสำเร็จที่ไร้ข้อกังขา ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่บ่งบอกว่าพวกเขาได้เหรียญรางวัลมาเพราะเจ้าภาพช่วย หรือความได้เปรียบที่ชาติอื่นไม่มีโอกาสสร้างได้เลย  

 

แน่นอนว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหรือแม้กระทั่งแฟนบอลเจ้าถิ่น ก็ต้องการให้สโมสรหรือนักกีฬาของทีมชาติตนเองประสบความสำเร็จ เพื่อความภาคภูมิใจและเพื่อขวัญกำลังใจ 

 

เหมือนกับที่ อาร์ริโก ซาคคี ตำนานกุนซือชื่อดัง เคยกล่าวถึงฟุตบอลไว้ว่า “The most important of the unimportant things in life.” หรือสิ่งที่สำคัญที่สุดในบรรดาสิ่งที่ไม่สำคัญในชีวิต 

 

กีฬามีความหมายต่อความรู้สึกของผู้คน โดยเฉพาะในระดับทีมชาติ ในมหกรรมกีฬาระดับภูมิภาค และนักกีฬา ทีมงาน สมาคม รวมถึงผู้รับชม 

 

วันนี้ซีเกมส์ที่กำลังจะแข่งขันกันในช่วงเดือนพฤษภาคมปีนี้กำลังทำให้ผู้คนหมดศรัทธาต่อการแข่งขันอีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่มนตรีซีเกมส์อาจต้องตั้งคำถามสำคัญว่า การปล่อยให้เจ้าภาพคัดเลือกหลายอย่าง จนทำให้การแข่งขันหมดความสนุกและตื่นเต้นสำหรับชาติอื่นที่ไม่ใช่เจ้าภาพ จะส่งผลอย่างไรต่อการแข่งขันในระยะยาว 

 

เพราะหากคุณอ้างว่า ซีเกมส์เป็นเวทีสำหรับการโปรโมตกีฬาพื้นบ้านหรือกีฬาเพื่อมิตรภาพ ที่ผ่านมารวมถึงครั้งนี้ ซีเกมส์ตอบโจทย์จุดประสงค์นี้ได้มากน้อยแค่ไหน ผมเชื่อว่าหลายคนมีคำตอบในใจ 

 

เพราะครั้งสุดท้ายที่ผมเองเห็นซีเกมส์ที่จัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นสากลสูงต้องยกให้สิงคโปร์เมื่อปี 2015 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว 

 

ภาพลักษณ์ของการแข่งขันเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมันคือความน่าเชื่อถือของการแข่งขัน ซีเกมส์ครั้งนี้ที่กัมพูชาก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้เป็นอย่างที่หลายฝ่ายกล่าวหาในช่วงที่ทัวร์นาเมนต์เริ่มต้นขึ้น 

 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ซีเกมส์ครั้งต่อไปในปี 2025 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะจัดการแข่งขันให้มีมาตรฐานสากลด้วยชนิดกีฬาที่เป็นสากล 

 

เพราะนี่คือโอกาสสำคัญที่จะตอบโจทย์เจตนารมณ์ของการแข่งขันตั้งแต่เริ่มต้นที่ หลวงสุขุม นัยประดิษฐ์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ตั้งใจให้ซีเกมส์จัด เพื่อโปรโมตความร่วมมือ ความเข้าใจกันและกัน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค 

 

ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้จะบอกว่าทุกการแข่งขันซีเกมส์ที่ผ่านมาเป็นความล้มเหลวหรือด้อยค่าการแข่งขันซีเกมส์ 

 

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้หลายฝ่ายกำลังมองข้ามความสำคัญของรายการนี้ไป เนื่องจากข่าวความเคลื่อนไหวของซีเกมส์ทุกครั้งจะเต็มไปด้วยการตั้งคำถามของการคัดเลือกชนิดกีฬาและประเภทการแข่งขัน ไปจนถึงการบริหารจัดการและความพร้อมในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันในแต่ละประเทศ 

 

โดยในอนาคตอาจถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เพื่อให้ซีเกมส์เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้และสนุกไปกับการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นรายการใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X