×

มองผ่านเลนส์ผู้เชี่ยวชาญ ทำไมตราสารหนี้จึงสร้างผลตอบแทนได้ไม่น้อยหน้าตราสารทุนในปี 2024

23.01.2024
  • LOADING...
ตราสารหนี้

“Now we are in a period where you do not have to take crazy risks to get reasonable returns.”

 

คำพูดข้างต้นเป็นของเดวิด โรเซนเบิร์ก Managing Director and Co-Portfolio Manager ประจำบริษัทจัดการกองทุน Oaktree Capital Management ภายในงานสัมมนา KKP Year Ahead 2024 ที่กำลังบอกว่าสภาวะการลงทุนในปัจจุบันเป็นภาพที่นักลงทุนนั้นไม่จำเป็นต้องอาศัยความเสี่ยงที่เกินตัวเพื่อแลกมากับผลตอบแทนที่น่าพอใจ 

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ส่งผลให้ทิศทางการแบ่งสัดส่วนสินทรัพย์การลงทุนเปลี่ยนไป เพราะว่า ณ ตอนนี้นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับสินทรัพย์อย่างหุ้นได้จาก ‘ตราสารหนี้’ ด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่า

 

จากปัจจัยข้างต้น ดอกเบี้ยจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อภาพรวมการลงทุนในปีนี้ โดยตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาคงตัวอยู่ในระดับ 5.25-5.5% และมีแนวโน้มที่จะลดต่ำลงในปีนี้ประมาณ 75-100 bp (Basis Points) จากเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) คาดว่าการหั่นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม ตามคาดการณ์ของ Bank of America

 

ถามว่าทำไมตราสารหนี้ถึงน่าลงทุนในปีนี้? 

 

THE STANDARD WEALTH ได้สัมภาษณ์พิเศษ ทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวไว้ว่า หนึ่งในปัจจัยบวกต่อตราสารหนี้เป็นเรื่องของกำไรส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น (Capital Gain) ในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยลดลง พร้อมทั้งราคาของสินทรัพย์ในปัจจุบันได้สะท้อนถึงข้อมูลที่การคาดการณ์ปรับลดดอกเบี้ยที่นักลงทุนคาดหวังว่าจะเกิดในอนาคตแล้ว ทำให้อัตราผลตอบแทน (Yield) อาจจะไม่ลดลงไปมากกว่านี้อีกหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยตามที่นักลงทุนคาด และถึงแม้ว่าความผันผวนอาจยังมีให้เห็น แต่การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ จะเด้งกลับไปที่ระดับ 5% นั้นมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ยากจากการวิเคราะห์ของ KKP

 

ดังนั้นทวีศักดิ์จึงแนะนำตราสารหนี้ทั่วโลกที่ผสมหุ้นกู้เอกชนคุณภาพดี ซึ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องรับมือ “ข้อดีของตราสารหนี้นั้นคือตัวของ ‘รายได้’ ที่เข้ามาอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ซึ่งในตอนนี้รายได้อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบสิบกว่าปี ฉะนั้นถึงแม้ว่าระหว่างทางจะยังมีความผันผวนบ้าง แต่ถ้าเรายิ่งถือยาว ผลตอบแทนรายได้ก็จะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับราคาที่ผันผวน”

 

สำหรับมุมมองความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทวีศักดิ์แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น โดยตัวแรกที่สำคัญในปีนี้คือเงินเฟ้อที่เป็นหนึ่งในข้อควรระวังและจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของดอกเบี้ย เพราะประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันตอนนี้คือเงินเฟ้อจะสามารถลงมาที่เป้าหมาย 2% ได้หรือไม่? แต่ KKP ยังเชื่อว่าเงินเฟ้อจะค่อยๆ ลดลงมาในระดับนั้นได้

 

ส่วนประเด็นที่ 2 ที่เชื่อมโยงกับเงินเฟ้อนั่นก็คือความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เพราะหากเงินเฟ้อสูงจนทำให้ดอกเบี้ยไม่สามารถลดลงได้ บางธุรกิจที่ระดับเครดิตไม่ดีอาจไม่สามารถทนสภาพการเงินที่ตึงตัวขนาดนั้นไหวและเสี่ยงต่อการล้มละลาย แต่ถ้าเงินเฟ้อลงได้ ซึ่งเป็นเคสที่ทาง KKP เชื่อ ความเสี่ยงนี้ก็จะมีไม่มาก

 

ต่อเนื่องจากประเด็นความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ฝั่งของโรเซนเบิร์กมองว่าบริษัทต่างๆ ที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงนั้นถูกขจัดออกไปจากตลาดพอสมควรแล้วนับตั้งแต่โควิด แต่ความท้าทายสำคัญที่เขามองต่อจากนี้สำหรับธุรกิจก็คือการเติบโตที่อาจทำได้ยากขึ้น เนื่องจากยุคต้นทุนทางการเงินต่ำที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ปี 2008 จนถึงช่วงปี 2022 ได้หมดไปแล้ว

 

ดังนั้นเขาจึงมองว่าในฐานะนักลงทุน การเป็น ‘คนให้กู้’ จะได้เปรียบกว่า “เหตุผลที่ทำให้ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนนั้นคือเหตุผลเดียวกันว่าทำไมตราสารทุนจะเติบโตได้ยากลำบากในปีนี้ นั่นเป็นเพราะต้นทุนทางการเงินแพงขึ้น ดังนั้นการอยู่ในฐานะผู้ให้กู้จะเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างได้เปรียบกว่า” โรเซนเบิร์กกล่าวทิ้งท้าย ชวนให้คิดถึงความน่าสนใจในการลงทุนตราสารหนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X