×

ทำไมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วง แม้ Fed ลดดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19

04.03.2020
  • LOADING...

ตามปกติแล้วการประกาศลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มักเป็นปัจจัยบวกที่หนุนตลาดหุ้น เพราะการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายและลงทุนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางหนึ่ง

 

แต่การที่ Fed ตัดสินใจลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.5% สู่ระดับ 1.25% เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และตลาดการเงินจากผลกระทบของโควิด-19 นั้น ปรากฏว่าตลาดกลับขานรับเพียงช่วงแรก โดยดัชนี Dow Jones ปรับขึ้นกว่า 300 จุด ก่อนจะร่วงลงระหว่างวันเกือบ 1,000 จุด และลดช่วงลบขึ้นไปปิดที่ระดับ 25,917.41 จุด หรือลดลง 785.91 จุดจากวันก่อนหน้า  

 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น 

 

ก่อนหน้านี้นักลงทุนคาดหวังว่า Fed จะใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา เพราะกังวลว่าไวรัสร้ายนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ 

 

แต่นักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศมองว่า การที่ Fed ตัดสินใจลดดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินก่อนหน้ารอบประชุมตามกำหนดการถึง 2 สัปดาห์ อาจเป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดี ซึ่งนักลงทุนนำไปตีความว่า ผลกระทบจากโควิด-19 อาจเลวร้ายกว่าที่คาดคิดไว้มาก

 

นักวิเคราะห์มองว่า การลดดอกเบี้ยของ Fed แทนที่จะบรรเทาความกังวลในตลาด แต่กลับสร้างความวิตกแก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นว่าอาจเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดกับเศรษฐกิจ  เพราะที่ผ่านมามีน้อยครั้งที่ Fed จะลดดอกเบี้ยฉุกเฉินเช่นนี้ 

 

ลารา ราเม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง FS Investments ให้ความเห็นกับ MarketWatch ว่า การลดดอกเบี้ยฉุกเฉินทำให้เกิดคำถามคาใจว่า มีอะไรที่สร้างความกังวลให้กับบรรดาผู้กำหนดนโยบายจนถึงกับต้องเร่งลดดอกเบี้ยในแบบที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นเช่นนี้ ดังนั้นจึงเป็นสัญญาณว่าผู้กำหนดนโยบายอาจกำลังรับมือกับความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ รวมถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ทิศทางขาลง  

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST) มองว่าการลดดอกเบี้ยนอกรอบการประชุมปกติครั้งนี้จะส่งผลต่อตลาดสหรัฐฯ ในระดับปานกลางค่อนไปทางลบด้วยซ้ำ 

 

ที่ว่าอาจเป็นลบนั้นเพราะก่อนหน้านี้ Fed เคยยืนกรานว่าจะไม่ออกนโยบายแบบที่ไม่มีใครคาดคิด (Unanticipated Policy) เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความผันผวนให้กับตลาด แต่รอบนี้ Fed กลับทำเสียเอง

 

นอกจากนี้การปรับลดดอกเบี้ย 0.5% รอบนี้ สะท้อนว่าข้อมูลด้านเศรษฐกิจทั้งหมดที่ Fed มีอยู่ในขณะนี้ น่าจะออกมาในทางลบมากกว่าที่ตลาดมองไว้

 

KTBST มองว่า Fed ชั่งใจดีแล้วว่าจะเลือกอะไร ระหว่างการสูญเสียความน่าเชื่อถือกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ซึ่งพวกเขาก็เลือกข้อแรกมากกว่า

 

ส่วนที่สนับสนุนมุมมองเชิงลบนั้น KTBST อธิบายว่า นโยบายการเงินที่ดีไม่ควรสร้างความสับสนให้กับตลาดการเงิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากภาวะตลาดเมื่อคืนนี้ (3 มีนาคม) ขนาด Fed ลดดอกเบี้ยแล้ว นักวิเคราะห์ยังเกิดความงงงวยสับสนกันเลยว่าตกลงมันดีหรือไม่ดี ดังนั้นนักลงทุนจึงน่าจะคิดแบบเดียวกัน

 

อีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่ายังมีความกังวลหลงเหลืออยู่ในตลาด คือการปรากฏภาวะ Inverted Yield Curve แม้ Fed ลดดอกเบี้ยแล้วก็ตาม โดย Inverted Yield Curve เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเคลื่อนตัวลงมาต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น โดยเมื่อคืนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปีลงมาแตะระดับ 0.936% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่หลุดลงมาต่ำกว่า 1% ขณะที่ยีลด์พันธบัตรระยะ 30 ปี ลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.601%

 

นักวิเคราะห์ในต่างประเทศยังมองด้วยว่า Fed ควรดำเนินมาตรการมากกว่านี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด

 

สิ่งที่เห็นคือนักลงทุนพากันเทขายหุ้น เพราะยังไม่ถูกใจถ้อยแถลงและท่าทีของเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ที่แถลงข่าวหลังลดดอกเบี้ยโดยระบุเพียงว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินได้เตรียมเครื่องมือไว้พร้อมแล้ว และจะดำเนินการอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความผิดหวังให้กับตลาดคือคำพูดของพาวเวลล์ที่บอกว่าเขายังไม่เห็นความจำเป็นที่ Fed จะต้องขยายบัญชีงบดุลผ่านทางการรับซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการระบาดของไวรัสในเวลานี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising