หากนับอันดับโลกของประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สูงสุดในตอนนี้ เยอรมนีอยู่ในอันดับ 5 ของโลก ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมล่าสุด (31 มีนาคม) สูงกว่า 67,000 คน
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ อัตราการเสียชีวิตในเยอรมนีที่ถือว่าค่อนข้างต่ำกว่าหลายประเทศ โดยตัวเลขผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 31 มีนาคม มีจำนวนเพียง 650 คน หรือคิดเป็นประมาณ 0.97% จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งน้อยกว่าทั้งอิตาลี สหรัฐอเมริกา สเปน จีน ฝรั่งเศส และอิหร่าน รวมถึงอังกฤษที่มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่าถึงสามเท่า ขณะที่อิตาลีมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงสุดในโลกอยู่ที่สูงกว่า 10%
จากการวิเคราะห์ของ ริชาร์ด พีโบดี ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ได้ให้คำอธิบายถึงหลายปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุให้อัตราการเสียชีวิตในเยอรมนีค่อนข้างต่ำ ได้แก่
- ช่วงเวลาการแพร่ระบาด
อิตาลีและสเปนเผชิญการระบาดของโรคโควิด-19 มานานกว่า และอาจเกิดการระบาดในหมู่ประชากรโดยตรวจไม่พบมานานแล้ว ซึ่งส่งผลให้เชื้อแพร่กระจายโดยไม่มีใครรู้ จนกระทั่งผู้ติดเชื้อเริ่มแสดงอาการ
- อายุ
อายุของผู้ติดเชื้อโคโรนาเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เชื่อว่าส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต โดยอายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อในอิตาลีนั้นสูงถึง 63 ปี ในขณะที่อายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อในเยอรมนีอยู่ที่ราว 45 ปี
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการเปรียบเทียบอายุของผู้ติดเชื้อระหว่างอิตาลีและเกาหลีใต้ ในช่วงที่ทั้งสองประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อเท่ากัน พบว่าเกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อที่อายุมากกว่า 70 ปี ราว 9% ส่วนอิตาลีมีผู้ติดเชื้อที่อายุมากกว่า 70 ปี ถึง 40%
- การตรวจหาผู้ติดเชื้อ
ยุทธศาสตร์การตรวจหาเชื้อเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากต่ออัตราการเสียชีวิตของโรคโควิด-19 โดยเยอรมนีผลักดันมาตรการตรวจหาเชื้อแบบเชิงรุกอย่างจริงจังและตรวจเชื้อประชาชนที่ติดต่อสัมผัสกับผู้ติดเชื้อทุกคน รวมถึงผู้ที่มีอาการอ่อนๆ ภายในช่วง 1 สัปดาห์ พบว่าเยอรมนีสามารถดำเนินการตรวจเชื้อได้มากถึง 500,000 คน
“เยอรมนีมียุทธศาสตร์การตรวจหาเชื้อในเชิงรุกอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดมีกรณีการติดเชื้อที่ตรวจพบตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรง” ไมเคิล ไรอัน เจ้าหน้าที่ประสานงานองค์การอนามัยโลกกล่าว
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จะยิ่งเป็นเรื่องยากสำหรับหลายประเทศที่จะทำการตรวจเชื้อในวงกว้าง เพราะระบบสาธารณสุขที่เต็มไปด้วยผู้ป่วยล้นหลาม
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้นานาชาติมุ่งตรวจเชื้ออย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้รู้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดภายในประเทศนั้นเป็นอย่างไรและรับมือได้อย่างทันท่วงที
“คุณไม่สามารถดับไฟได้ หากตาบอด” กีบรีเยซุส กล่าว
- คุณภาพของระบบสาธารณสุข
ระบบสาธารณสุขที่เพียบพร้อมจะสามารถช่วยชีวิตคนได้มากขึ้น เมื่อโรงพยาบาลล้นหลามไปด้วยผู้ป่วย คำถามง่ายๆ ที่เกิดขึ้นคือ โรงพยาบาลจะให้การดูแลผู้ป่วยอย่างเพียงพอได้นานแค่ไหน และสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของอาการผู้ป่วยในห้อง ICU ได้หรือไม่
ซึ่งการรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 ในห้อง ICU ที่เพิ่มขึ้นนั้น จำเป็นต้องมี 3 ปัจจัย ได้แก่ เตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤต หรือเตียง ICU, ชุดป้องกัน และเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับการฝึกฝนดูแลผู้ป่วย ICU มาอย่างดี
ในอิตาลีซึ่งมีประชากรราว 60 ล้านคน มีเตียง ICU จำนวน 5,000 เตียง ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤต ทางการจึงต้องเร่งสร้างเตียงเพิ่มอย่างเร่งด่วน ขณะที่อังกฤษซึ่งมีประชากรราว 66 ล้านคน มีเตียง ICU จำนวน 4,100 เตียง ส่วนเยอรมนีซึ่งมีประชากรราว 80 ล้านคน มีเตียง ICU มากถึง 28,000 เตียง และเพิ่มเป็น 2 เท่าแล้วในตอนนี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.thelocal.de/20200325/the-mortality-rate-is-puzzling-what-explains-germanys-lower-coronavirus-death-toll?fbclid=IwAR1rn3Dq9TEPpqsiFFrB2HU0aAZzAzaJaptPkvEWltkD5eQUEbDAbBt_Tlg
- https://www.wired.co.uk/article/germany-coronavirus-death-rate?fbclid=IwAR3wni2D1LFbX_0vPIjw7rqAQehHWTqYaPRhtM6XGqUbdrK4dmqBXAUPejA