×

ทำไมการสะสมงานศิลปะจึงเป็นการลงทุนจากความหลงใหลระดับท็อปในเอเชีย

08.06.2024
  • LOADING...

แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดสะสมงานศิลปะจะค่อนข้างซบเซา แต่ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น คือการก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นหลักในตลาดนี้ของเหล่ามหาเศรษฐีและคนรุ่นใหม่ในเอเชียจากความมั่งคั่งของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ และมูลค่าของงานศิลปะส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นชนะอัตราเงินเฟ้อ 

 

ตามข้อมูลของบริษัทวิจัย Wealth-X เผยว่า นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมั่งคั่งขึ้น 4 เท่า มีจำนวนมหาเศรษฐีของโลกอยู่ที่ราวๆ 26% หรือเกือบเท่ากับทวีปยุโรป โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว Art Basel และ UBS บริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงินรายใหญ่ รายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 นักสะสมงานศิลปะจากจีนแผ่นดินใหญ่มีรายจ่ายเฉลี่ยสูงสุดในบรรดานักสะสมทั้งหมดจากทั่วโลกอยู่ที่ 241,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 8.86 ล้านบาท และแม้ว่าในปี 2022 จีนและฮ่องกงจะมียอดขายลดลง 14% แต่ก็ยังคงสูงกว่าปี 2020 ถึง 13% โดยมีมูลค่า 1.12 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันจีนเป็นตลาดศิลปะที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็น 19% ของยอดขาย ส่วนอันดับ 1 คือสหรัฐอเมริกา ที่ 42% 

 

ขณะเดียวกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งาน Art Jakarta ซึ่งเป็นงานแสดงศิลปะพื้นบ้านของอินโดนีเซียมีผู้เข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม ส่วนงาน Art Fair Philippines ก็มีผู้แสดงสินค้าถึง 63 ราย เพิ่มขึ้นจาก 46 รายเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่สิงคโปร์ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของตลาดศิลปะในภูมิภาคก็มีผลสำรวจออกมาว่า ชาวสิงคโปร์รายได้สูงถึง 58% จัดให้ศิลปะเป็นการลงทุนจากความหลงใหลอันดับต้นๆ ประจำปีนี้ ตามมาด้วยนาฬิกา 49% และไวน์ 35% 

 

หนึ่งในเหตุผลหลักก็มาจากผลตอบแทน การป้องกันอัตราเงินเฟ้อ และรู้สึกมั่นคงปลอดภัยกว่า หลังจากต้องเผชิญความผันผวนทั้งหุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ 

 

และหากเทียบจากตัวเลขของ Knight Frank Luxury Investment Index ปีล่าสุดจะพบว่า ศิลปะถือเป็นสินทรัพย์หรูหราที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปี 2023 คิดเป็นประมาณ 11% และหากย้อนไปในรอบ 10 ปี งานศิลปะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 105% เมื่อเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 14.2% ในรอบ 10 ปี เรียกได้ว่าของสะสมประเภทนี้แซงหน้าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว

 

ขณะเดียวกัน เจ้าของผลงานศิลปะก็สามารถหารายได้ระหว่างทางด้วยการให้เช่าผลงานไปแสดงตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเฉลี่ยแล้วได้ผลตอบแทนราวๆ 6% ต่อปี และอาจได้กำไรก้อนใหญ่เมื่อตัดสินใจขายออกไป 

 

Portrait of Dr.Gachet ของ Vincent van Gogh เคยได้รับการประมูลไปโดยนักสะสมชาวญี่ปุ่น

 

จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้นักสะสมชาวเอเชียเคยขึ้นชื่อเรื่องการทำสถิติราคาสูงสุดในตลาดงานศิลปะ โดยเฉพาะนักสะสมชาวญี่ปุ่นในทศวรรษ 1980 ที่โด่งดังในด้วยการซื้อผลงานสำคัญหลายชิ้นของ Claude Monet และ Vincent van Gogh หนึ่งในนั้นคือภาพวาด Portrait of Dr.Gachet ของ Vincent van Gogh ในปี 1890 สร้างสถิติราคาสูงสุดในขณะนั้นด้วยมูลค่า 82.5 ล้านดอลลาร์ จนกระทั่งช่วงต้นทศวรรษ 2000 การขยายตัวทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจีนทำให้ศิลปินร่วมสมัยจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้รับประโยชน์ กลายเป็นที่คลั่งไคล้ของนักสะสมฝั่งตะวันตก เช่น ผลงานของ Zhang Xiaogang, Yue Minjun และ Liu Ye

 

ภาพของ Dora Maar ฝีมือ Picasso จากปี 1939 ถูกขายให้กับนักสะสมชาวญี่ปุ่นในราคา 21.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ Sotheby’s Hong Kong

 

ส่วนในปัจจุบันกลายเป็นว่านักสะสมจากจีนและเอเชียกลายเป็นผู้ประมูลกระเป๋าหนักร่วมกับนักสะสมชาวยุโรปและอเมริกาในการประมูลงานศิลปะร่วมสมัย รวมถึงการแสวงหาผลงานชิ้นเอกของศิลปินชาวตะวันตก เช่น Pablo Picasso, Gerhard Richter และ Louise Bourgeois โดยข้อมูลของ Sotheby รายงานว่า ตลาดศิลปะที่ราคาเกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018-2022 เกือบ 20% ถูกซื้อโดยนักสะสมชาวเอเชีย 

 

ในเดือนเมษายนปี 2022 ภาพของ Dora Maar ฝีมือ Picasso จากปี 1939 ถูกขายให้กับนักสะสมชาวญี่ปุ่นในราคา 21.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ Sotheby’s Hong Kong ในการประมูลครั้งนี้ผลงาน Spider IV ของ Louise Bourgeois ก็ขายได้ถึง 16.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นงานประติมากรรมที่แพงที่สุดเท่าที่เคยขายในเอเชีย

 

Spider IV ของ Louise Bourgeois ขายได้ถึง 16.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นงานประติมากรรมที่แพงที่สุดเท่าที่เคยขายในเอเชีย

 

เมื่อปีที่แล้ว Sotheby’s เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการประมูลในเอเชีย โดยมีผลงานของศิลปินตะวันตกสมัยใหม่หลายชิ้นที่ได้รับการประมูลไปในราคาที่สูงมาก เช่น ภาพวาด Femme dans un fauteuil ของ Picasso จากปี 1948 ขายได้ในราคา 11.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนภาพ Fiancée avec bouquet ของ Chagall จากปี 1977 ก็ขายไปในราคา 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาพ Standing in Red ของศิลปินรุ่นใหม่ Loie Hollowell จากปี  2019 ขายได้ 2.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าราคาประเมินถึง 3 เท่า หลังจากนั้นไม่นานภาพ Dame mit Fächer ของ Gustav Klimt ได้รับการประมูลในลอนดอนไปถึง 108.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ที่ประมูลไปคือนักสะสมจากฮ่องกง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความคลั่งไคล้ในศิลปะสมัยใหม่ของนักสะสมชาวเอเชีย 

 

ภาพ Dame mit Fächer ของ Gustav Klimt ได้รับการประมูลในลอนดอนไปถึง 108.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ที่ประมูลไปคือนักสะสมจากฮ่องกง

 

อีกหนึ่งปรากฏการณ์คือ อายุเฉลี่ยของนักสะสมที่ลดลงเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25-35 ปี จากในอดีตที่ 35-40 ปี เช่น ในสิงคโปร์ข้อมูลจาก Christie’s เผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ผู้ซื้อถึง 30% เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียล เทียบกับ 26% ในช่วงเดียวกันของปี 2022 โดยคิดเป็น 28% ของมูลค่าการซื้อของชาวสิงคโปร์ทั้งหมดในช่วงครึ่งแรกของปีนั้น สอดคล้องกับข้อมูลจาก Bonhams ที่เผยว่า นักสะสมงานศิลปะรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z เพิ่มขึ้น 147% ทั่วโลกในปีที่แล้ว ส่วนฐานลูกค้าของ Sotheby’s กำลังขยายตัวไปสู่คนรุ่นใหม่ โดยมีผู้ประมูลอายุต่ำกว่า 40 ปีเข้าร่วมการประมูลในปี 2022 มากกว่าปี 2021 ถึง 3 เท่า และผู้ซื้อจากเอเชียใช้จ่ายโดยเฉลี่ยมากกว่าผู้ซื้อจากภูมิภาคอื่นถึง 20% 

 

ภาพ Standing in Red ของศิลปินรุ่นใหม่ Loie Hollowell จากปี 2019 ขายได้ 2.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าราคาประเมินถึง 3 เท่า

 

อย่างไรก็ตามการลงทุนของนักสะสมรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 35 ปีในสิงคโปร์มักลงทุนในงานศิลปะเฉลี่ยราวๆ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี เนื่องมาจากรายได้ที่จำกัด ขณะที่ผลงานศิลปะที่สร้างมูลค่าได้จริงมักมีราคาอย่างน้อย 10,000-50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และแม้ว่าการลงทุนในศิลปะจะร้อนแรงแค่ไหน ผู้เชี่ยวชาญยังให้คำแนะนำไปในทางเดียวกันว่า นี่ไม่ใช่การสะสมเพื่อการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ควรมีความสุขที่ได้เป็นเจ้าของผลงานนั้นด้วย เพราะข้อจำกัดเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งการลงทุนแบบดั้งเดิมอย่างอสังหาริมทรัพย์ หุ้น หรือพันธบัตรมีมากกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า และตีราคาได้ง่ายกว่า 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising