ย้อนกลับไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (5 ธันวาคม) Moody’s บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลก เปิดเผยว่า บริษัทตัดสินใจปรับลดเครดิตความน่าเชื่อถือทางการเงินของจีนจากระดับ ‘คงที่’ (Stable) ไปสู่ระดับ ‘ติดลบ’ (Negative) โดยแถลงการณ์ของ Moody’s อธิบายว่า การตัดสินใจปรับลดอันดับเครดิตของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความกังวลว่าปริมาณหนี้มหาศาลในรัฐบาลท้องถิ่นจีนและวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะกลางและระยะยาว
แถลงการณ์ของ Moody’s ระบุว่า ปริมาณหนี้มหาศาลสะท้อนความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวลดลงเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลจีนต้องใช้มาตรการสนับสนุนด้านการเงินต่อรัฐบาลส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจส่งผลต่อความเข้มแข็งทางการคลังและเศรษฐกิจของจีนโดยรวม
การตัดสินใจของ Moody’s มีขึ้นท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง โดยรายงานระบุว่า การฟื้นตัวจากวิกฤตการระบาดโควิดของจีนช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยขวางจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจที่อ่อนแอ วิกฤตที่อยู่อาศัยที่ยืดเยื้อ การว่างงานของเยาวชนที่สูงเป็นประวัติการณ์ และการชะลอตัวทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าส่งออกจีน
ปัจจัยดังกล่าวเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลกลางและท้องถิ่นของจีนให้ก้าวเข้ามาสนับสนุนทางการเงินมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงมาตรการล่าสุดที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งได้ออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1 ล้านล้านหยวนในช่วงเดือนตุลาคม
ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของจีนติดหล่มอยู่ในวิกฤตหนี้ โดยนักพัฒนารายใหญ่ที่สุดของประเทศบางรายมีหนี้หลายแสนล้านดอลลาร์ และเผชิญกับการเลิกกิจการ ขณะเดียวกันความกลัวเรื่องหนี้ทำให้ผู้ซื้อเกิดความไม่ไว้วางใจ ส่งผลให้ราคาบ้านดิ่งลง ท่ามกลางความกังวลว่าวิกฤตหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์จะลุกลามไปยังภาคส่วนอื่นๆ ในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่แล้ว
รายงานระบุว่า การปรับลดเครดิตจีนของ Moody’s เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (5 ธันวาคม) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของจีนลงสู่อันดับ A1 ในปี 2017 โดยระบุถึงการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง และหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน Moody’s ยังคงตรึงอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศของจีนไว้ที่อันดับ A1 และคาดว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.0% ในปี 2024 และ 2025 และจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 3.8% ตั้งแต่ปี 2026-2030
นอกจากนี้ Moody’s ยังได้แนะให้จีนเดินหน้าลงมือปฏิรูปด้านการบริโภคและการผลิตมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพื่อชดเชยบทบาทที่ลดลงของภาคอสังหาริมทรัพย์
เปิดเหตุผล ทำไมทางการจีนเห็นต่าง Moody’s
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันทางกระทรวงการคลังจีนได้ออกมาแสดงความเห็นตอบโต้การตัดสินใจของ Moody’s ว่าเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง (Disappointed)
1. เศรษฐกิจมหภาคจีนยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยโฆษกของกระทรวงการคลังชี้ว่า ความกังวลของ Moody’s เกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของจีนและความยั่งยืนทางการคลังนั้นไม่สมเหตุสมผล ก่อนระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แม้จีนจะเผชิญกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อนและรุนแรง บวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่มั่นคง และโมเมนตัมที่อ่อนแอลง แต่เศรษฐกิจมหภาคของจีนยังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความกังวลของ Moody’s เกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและความยั่งยืนทางการคลังนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น (Unnecessary)
2. แม้เพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-เจอปัญหานอกประเทศ แต่ GDP ยังขยายตัวดี
กระทรวงการคลังจีนยังย้ำว่า ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด โดยจีนสามารถต้านทานความเสี่ยงและความท้าทายจากต่างประเทศ รวมถึงแรงกดดันขาลงซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการในประเทศ จนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 5.2% เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้
ขณะเดียวกัน การคาดการณ์ล่าสุดจากสถาบันระหว่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ล้วนแสดงให้เห็นว่าจีนสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประมาณ 5% ในปี 2023 นี้
3. นักเศรษฐศาสตร์เชื่อ สถาบัน-ธรรมาภิบาลจีนแกร่ง
ด้านนักเศรษฐศาสตร์จีนอีกส่วนหนึ่งยังชี้ว่า การตัดสินใจของ Moody’s มีอคติและไม่เป็นมืออาชีพ เนื่องจากเป็นการตัดสินใจเกินความเป็นจริง หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงและความท้าทายต่อเศรษฐกิจจีน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่ความเร็วของการเติบโต ระดับหนี้ ไปจนถึงความแข็งแกร่งของสถาบันและธรรมาภิบาล เศรษฐกิจของจีนยังคงเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มเศรษฐกิจหลักๆ และเป็นผู้มีส่วนสนับสนุนการเติบโตรายใหญ่ที่สุดของโลก
4. ทางการจีนชี้ ‘หนี้สาธารณะ’ ยังต่ำกว่าเกณฑ์น่าเป็นห่วง
ในส่วน ‘ความกังวล’ ของ Moody’s เกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของจีน เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังกล่าวว่า การเติบโตของ GDP จีนสูงถึง 5.2% ในช่วง 3 ไตรมาสแรก และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายประจำปีที่ประมาณ 5% ขณะที่ในด้านปัญหาหนี้ เจ้าหน้าที่การคลังจีนกล่าวว่า ณ ปี 2022 หนี้ของประเทศคงค้างอยู่ที่ประมาณ 61 ล้านล้านหยวน และอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 50.4% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เตือนระดับนานาชาติที่ยอมรับ 60%, อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สำคัญ และเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่
ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของจีนกำลังเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพสูง แรงผลักดันการเติบโตใหม่ๆ กำลังเกิดขึ้น และจีนมีความสามารถที่จะดำเนินการปฏิรูปเชิงลึกต่อไป รวมถึงตอบสนองต่อความเสี่ยงและความท้าทาย ความกังวลของ Moody’s เกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและความยั่งยืนทางการคลังนั้นไม่จำเป็น
เครดิตเรตติ้งสัญชาติจีนยังคงอันดับเครดิตประเทศ-มอง Fiscal Space ยังเพียงพอ
ด้านบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของจีนอย่าง China Chengxin Credit Rating Group เปิดเผยว่า บริษัทยังคงรักษาอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของจีนที่ AA+ ไว้ได้ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ โดยระบุว่า เศรษฐกิจของจีนยังคงแสดงความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่งในปี 2023
รายงานระบุอีกว่า รัฐบาลจีนยังคงมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่เพียงพอ และการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมจะทำให้มีพื้นที่ทางการคลังแบบใช้แล้วทิ้งสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 5.3% ในปี 2023 และประมาณ 5% ในปี 2024
ขณะที่ Tian Yun นักเศรษฐศาสตร์จีนในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ‘ไม่จำเป็นอย่างยิ่ง’ ที่จะถือการปรับลดเกรดของ Moody’s อย่างจริงจัง ซึ่งในความเป็นจริง จากมุมมองอื่น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันระหว่างประเทศยังคงคาดหวังการเติบโตอย่างรวดเร็วจากประเทศจีน โดยเจ้าตัวเชื่อมั่นว่า การเติบโตของ GDP จีนจะสูงถึง 5% ในปีนี้และปีหน้า พร้อมคาดว่าทางการจีนจะมีมาตรการนโยบายเพิ่มเติมจากการประชุมสำคัญด้านเศรษฐกิจที่กำลังจะมีขึ้น เพื่อกระตุ้นการเติบโตในปีหน้า
อ้างอิง: