×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: นักวิเคราะห์ชี้ สาเหตุจีนยินดีไบเดน-แฮร์ริสช้า

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2020
  • LOADING...

ผ่านมาแล้วกว่าสัปดาห์ หลังสื่อประกาศ โจ ไบเดน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยผู้นำหลายประเทศต่างก็ขานรับและแสดงความยินดีต่อชัยชนะของไบเดน และ คามาลา แฮร์ริส คู่ชิงรองประธานาธิบดี ยกเว้นชาติปฏิปักษ์และคู่แข่งมหาอำนาจ เช่น อิหร่าน รัสเซีย และจีน

 

แต่ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 พฤศจิกายน) รัฐบาลปักกิ่งเพิ่งจะมีความเคลื่อนไหว ด้วยการให้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศออกมาแสดงความยินดีต่อไบเดนและแฮร์ริส พร้อมยืนยันว่า เคารพในการตัดสินใจของชาวอเมริกันและเข้าใจในผลการเลือกตั้งที่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

 

“เราขอแสดงความยินดีกับไบเดนและแฮร์ริส เราได้ติดตามปฏิกิริยาต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากทั้งสหรัฐฯ และประชาคมระหว่างประเทศ เราเคารพในการตัดสินใจเลือกของชาวอเมริกัน ในขณะเดียวกันเราเข้าใจว่าผลเลือกตั้งสหรัฐฯ จะถูกตัดสินตามกฎหมายและขั้นตอนของสหรัฐฯ” หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวระหว่างการแถลงรายวันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่ไม่มีการกล่าวถึงความล่าช้าในการแสดงท่าทีของรัฐบาลจีนแต่อย่างใด

 

ความล่าช้าในการส่งข้อความยินดีของรัฐบาลปักกิ่งสร้างความประหลาดใจเล็กน้อยแก่หลายฝ่ายที่เชื่อว่า ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง น่าจะโล่งใจที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้การเลือกตั้ง หลังจากที่จีนต้องเผชิญสงครามการค้ากับสหรัฐฯ จากการขึ้นภาษีและนโยบายต่อต้านทางเศรษฐกิจ รวมถึงวาทกรรมอันแข็งกร้าวของทรัมป์ที่มีต่อจีน

 

แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การที่จีนแสดงท่าทีช้านั้นก็เพราะอาจไม่ต้องการยั่วยุทรัมป์ที่ยังอยู่ในตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ให้เกิดความไม่พอใจ และรอจนการฟ้องร้องของทรัมป์ เรื่องความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นไปตามที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า ผลการเลือกตั้งจะเป็นไปตามกฎหมายของสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้ผู้นำจีนต้องระมัดระวังท่าทีที่มีต่อการขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของไบเดน ทั้งจากท่าทีของไบเดนในระหว่างหาเสียงที่ออกแถลงการณ์ประกาศให้การกระทำต่อชาวมุสลิมในเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์นั้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

“ผมคิดว่าเหตุผลที่เป็นไปได้มากที่สุด (สำหรับการแสดงความยินดีที่ล่าช้าของจีน) คือทรัมป์ยังไม่ยอมแพ้ และจีนก็ไม่ต้องการที่จะทำให้เขาหงุดหงิดในช่วงเวลาที่ ‘อ่อนไหว’ นี้” รศ.ดักลาส บี. ฟุลเลอร์ จากมหาวิทยาลัยซิตี้ของฮ่องกง กล่าว


จีนกำลังเงี่ยหูฟัง
อีกเหตุผลหนึ่งคือ นักวิเคราะห์เชื่อว่าจีนนั้นกำลังเงี่ยหูฟังเสียงอันเป็นมิตรจากไบเดนและแฮร์ริส โดย โมฮาน มาลิก นักวิจัยอาคันตุกะของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ตะวันออกใกล้และเอเชียใต้ กล่าวว่า ผู้นำจีนนั้นเชื่อว่าเขามีไพ่เหนือกว่าในความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนและสหรัฐฯ และไม่จำเป็นต้องเร่งรีบหรือแสดงความกระตือรือร้นมากเกินไปในการยินดีต่อไบเดนและแฮร์ริสจนกว่าอีกฝ่ายจะแสดงท่าทีเป็นมิตร หรือประกาศยกเลิกมาตรการต่อต้านจีนที่รุนแรงบางอย่างที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทรัมป์

 

อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนของพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้นำจีนคือ มุมมองและการดำเนินนโยบายอันหนักแน่นต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โฆษกทีมหาเสียงของไบเดนออกแถลงการณ์ ระบุว่า “การกดขี่ที่ไม่อาจบรรยายได้ที่ชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ต้องทนทุกข์จากน้ำมือของรัฐบาลเผด็จการจีนนั้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และโจไบเดนก็ยืนหยัดต่อต้านมันอย่างรุนแรงที่สุด”

 

ขณะที่มาลิกกล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งรู้สึกหวาดหวั่นอย่างแน่นอนที่รัฐบาลของไบเดนมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อการปราบปรามชาวมุสลิมในซินเจียงมากกว่ารัฐบาลทรัมป์


จับมือกันเพื่อผลประโยชน์ร่วม
สำหรับความร่วมมือของทั้งสองประเทศหลังจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่จีนตระหนักว่าผู้นำใหม่ของสหรัฐฯ ก็ต้องการความช่วยเหลือจากจีน เช่น การขจัดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งฝ่ายจีนเองก็ต้องการยุติการทำสงครามการค้าเช่นกัน

ขณะที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คาดว่ารัฐบาลไบเดนก็ต้องการความร่วมมือจากจีน หากเขานำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงปารีส หรือความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติตามที่หาเสียงไว้ เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศที่มีการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลก 


แต่ความร่วมมือด้านต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไบเดนและสีหันมาจับมือและพูดคุยกันโดยตรง ซึ่งยังไม่แน่ว่าทั้งสองมหาอำนาจจะยอมมีท่าทีฉันมิตรและสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ในเชิงบวกขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่ แต่หากเป็นไปได้ แน่นอนว่านอกจากผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นของทั้งสองฝ่ายยังเป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลก รวมถึง ‘ไทย’ ที่กำลังเฝ้ามองความสัมพันธ์นี้อย่างใกล้ชิดด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X