×

ทำไมจีนยอมปรับมาตรการโควิดตอบสนองข้อเรียกร้องมวลชน มีสัญญาณอะไรซ่อนอยู่?

07.12.2022
  • LOADING...

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เราได้เห็นการเรียกร้องของชาวจีนจำนวนไม่น้อยในประเด็นมาตรการรับมือโควิดของทางการจีน ถึงขั้นออกมารวมตัวกันตามท้องถนน ตามสถานศึกษาใน 20 เมือง เท่าที่มีการรายงานออกมาจากสื่อต่างประเทศ เพราะในจีนไม่มีการกล่าวถึง ‘การประท้วง’ ในสื่อของจีน ไม่ว่าจะสื่อหลักสื่อรอง เนื่องจากอยู่ภายใต้เซ็นเซอร์ของทางการจีน และคำว่าประท้วงถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อน เราจึงได้เห็นทางการจีนหลีกเลี่ยงไปใช้คำว่าการรวมตัว หรือการรวมกลุ่มของประชาชนแทน

 

บทความนี้จะวิเคราะห์ตั้งแต่แรกเริ่มการระบาดของโควิดจนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

 

การควบคุมโควิดเป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศในมุมมองของจีนมาตั้งแต่ต้น

 

เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี นับตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดในจีนครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปี 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน-ปีใหม่จีน ผู้คนเดินทางออกนอกเมืองและออกนอกประเทศ ทำให้เกิดการระบาดไปในวงกว้าง จีนตกเป็นเป้าของนานาประเทศโดยเฉพาะประเทศที่อยู่ฝั่งตรงข้าม หรือเคยมีข้อพิพาทกับจีน อย่างสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรของอเมริกา ในแง่ของ ‘การทำให้เกิดการระบาด’ ภายใต้ข้อกล่าวหาว่า จีนไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงของการระบาดออกมาในช่วงแรก และไม่มีมาตรการรับมือที่ชัดเจน ทำให้การระบาดเป็นไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ตอนนั้น เราจึงเห็นจีนใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์แบบเข้มงวดที่สุด เน้นลดการติดเชื้อรายวันให้ไวที่สุด เพื่อกู้สถานการณ์ของประเทศให้กลับมาปกติเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งว่ากันตามตรง เป็นความพยายามกู้ภาพลักษณ์ของจีนในระดับประเทศด้วย 

 

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นทางการจีนดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการโควิดเป็นศูนย์แบบเข้มข้น ณ ช่วงการระบาดแรกๆ ในตอนนั้นคือ การสื่อสารปลุกกระตุ้นความเป็นชาตินิยมและน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนจีน เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ และให้ความร่วมมือต่อมาตรการที่แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนเอง ไม่ว่าจะการระดมตรวจโควิดทั้งเมือง การอยู่ในที่พักอาศัยที่มีการปิดการเข้าออก จำกัดการเดินทาง สิ่งเหล่านี้ถูกสื่อสารในแนวทางที่ว่าทำเพื่อประเทศชาติ ท่ามกลางการนำเสนอข่าวจีนถูกต่างชาติวิจารณ์ โดยคนจีนเองมีสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาเป็นเวลายาวนานคือ เรื่องของการเสียหน้า (ภาษาจีนเรียก ติวเหลี่ยน / 丢脸) ซึ่งทางการจีนเองก็เข้าใจและตระหนักถึงจุดนี้ และนำมาสื่อสารกับประชาชนให้ร่วมกันกู้ภาพลักษณ์ กู้หน้าของประเทศ 

 

การอธิบายข้างต้นของผู้เขียนอาจช่วยคลายข้อสงสัยที่มีมานานว่า ทำไมจีนยกมาตรการโควิดเป็นศูนย์แบบเข้มข้นมาใช้ และประชาชนในช่วงแรกก็ยอมรับด้วย โดยอาจจะมองว่าเป็นเหตุผลของระบอบการปกครอง แต่การที่ทำให้คนจำนวนมากทำตามก็เป็นไปตามกลยุทธ์การสื่อสารที่ระบุไปข้างต้น

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายโควิดเป็นศูนย์เหมาะสำหรับกู้สถานการณ์ระยะสั้น เมื่อเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ความคิดคน (จีน) ก็เปลี่ยน

 

การบังคับใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์แบบเข้มข้น เป็นสิ่งที่เห็นผลลัพธ์เชิงบวกต่อสถานการณ์จีนในช่วงแรกของการระบาด แต่พอระยะเวลาผ่านไปจนถึงช่วงที่จีนเริ่มมีวัคซีนโควิด เสียงวิจารณ์มาตรการโควิดเป็นศูนย์เริ่มเกิดขึ้น ลำพังการสื่อสารโดยกระตุ้นชาตินิยมเพื่อให้คนจีนยอมรับมาตรการอันเข้มงวดเริ่มไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์อีกต่อไป และไม่ใช่แค่เกิดจากเสียงเรียกร้องของประชาชน แต่ยังสะท้อนออกมาจากภาระทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุขที่ถือว่าได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิดเป็นศูนย์ยุคแรก ทั้งการระดมตรวจทั้งเมือง ระดมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เพื่อจัดการโควิดเป็นหลัก จนทำให้การรักษาทางการแพทย์สำหรับโรคอื่นๆ ไม่มีกำลังแพทย์เพียงพอ หรือมีข้อจำกัดในการเข้ารับการตรวจ เพราะผู้เข้ารับการรักษาจะต้องมีผลตรวจเป็นลบเท่านั้น แม้แต่กรณีฉุกเฉินก็ตาม ทำให้เริ่มมีข่าวผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้เกิดจากโควิด แต่เกิดจากการไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องด้วยอุปสรรคทางด้านข้อจำกัดโควิด โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ที่จีนเจอการระบาดสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้จีนเริ่มนำคำว่า ‘ไดนามิก’ มาใช้ควบคู่กับนโยบายโควิดเป็นศูนย์เป็นครั้งแรก เพื่อให้เป็นไปในแนวทางปรับตัวตามสถานการณ์มากขึ้น 

 

ในความเป็นจริง ไม่ว่าจีนจะใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์แบบเข้มข้น หรือโควิดเป็นศูนย์แบบมีพลวัต ต้องยอมรับว่าล้วนมีเสียงเรียกร้องที่ออกมาอยู่ตลอด โดยเฉพาะจากสื่อนอกจีนที่รายงานสถานการณ์ภายในจีน จนทำให้จีนออกมายอมรับเป็นครั้งแรกๆ หลังจบการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 เพียงไม่กี่สัปดาห์ว่า มีเสียงร้องเรียนไปยังหน่วยงานส่วนกลางที่ควบคุมและป้องกันโควิดอยู่ทุกวัน เกี่ยวกับการใช้มาตรการรับมือโควิดที่เข้มงวดเกินไปในหลายพื้นที่ของจีน ทำให้จีนมีการปรับมาตรการโควิดช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ออกมาในนาม ‘มาตรการ 20 ข้อ’ แต่ด้วยเหตุเพลิงไหม้ที่มีผู้เสียชีวิตในเมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ช่วงปลายเดือนเดียวกัน ได้กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย มีการชุมนุมประท้วงและลุกลามไปในหลายเมืองอย่างรวดเร็ว เพราะประชาชนเห็นใจเหยื่อเคราะห์ร้าย มองว่าอพาร์ตเมนต์ที่เกิดเหตุมีการล็อกดาวน์มากเกินไป จนขัดขวางการดับเพลิงและช่วยเหลือผู้ประสบภัย 

 

ในการเรียกร้องของประชาชนจีน ไม่ว่าจะในพื้นที่อุรุมชี, เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, กว่างโจว, เจิ้งโจว และอีกหลายพื้นที่ มีชนวนแรกคือความไม่พอใจต่อการควบคุมโควิดที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากเกินไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการขยายประเด็นไปถึงเรื่องของการให้เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น และอำนาจของตัวผู้นำจีนด้วย 

 

สำหรับมาตรการที่ผ่อนคลายลง ประกอบด้วยการลดขอบเขตการตรวจโควิดแบบกลุ่ม หรือ Mass Testing โดยจะไม่ตรวจปูพรมทั้งเมืองอีกต่อไป แต่จะตรวจเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการระบาดในแต่ละครั้ง ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางสังคมก็จะไม่ต้องตรวจ เพราะถือว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่อยู่บ้านตลอด หญิงตั้งครรภ์ และนักเรียนที่เรียนออนไลน์

 

ส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน บริการสาธารณะ และการเข้าใช้สถานที่สาธารณะต่างๆ จากเดิมที่ต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบภายใน 48 ชั่วโมง มีการยกเลิกตรงนี้แล้วด้วยเช่นกัน แต่อาจจะยังคงไว้สำหรับสถานที่ปิดและเสี่ยงต่อการเป็นคลัสเตอร์ระบาด เช่น สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่เปิดให้บริการได้ แต่ยังต้องแสดงผลตรวจโควิดเป็นลบ 

 

การเปลี่ยนแปลงนโยบายจากที่เข้มงวดอย่างระดมตรวจปูพรมที่ทำมานานตั้งแต่การระบาดเริ่มแรก มาเป็นการผ่อนคลายแบบทันที ถือว่ากลับตาลปัตร ถึงขั้นมีคนจีนเอง และคนต่างชาติที่เผยต่อผู้เขียน บอกว่าเป็นการปรับแบบไม่มีใครคาดคิดว่าจีนจะยอม ‘งอ’ ส่งผลให้มีคนมองว่า นี่คือสัญญาณที่จีนจะให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นหรือไม่

 

ในประเด็นนี้ ถ้าวิเคราะห์กันตามเนื้อผ้า ยังคงไม่สามารถฟันธงหรือใช้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตได้ว่า หากเกิดเหตุการณ์การรวมตัวเรียกร้องของผู้คนขึ้นแล้ว จีนจะตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง หรือให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ เพราะแม้จีนยอมตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง และมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี ทว่าก็มีรายงานออกมาจากสื่อต่างประเทศและสื่อภาคเอกชนอย่าง South China Morning Post (สื่อในเครือ Alibaba) ว่า เจ้าหน้าที่จีนมีความพยายามค้นหาและระบุตัวตนผู้เข้าร่วมชุมนุม และมีการเซ็นเซอร์เนื้อหาการประท้วงไม่ให้ปรากฏในโลกออนไลน์จีนเด็ดขาด ถึงแม้จะปรากฏก็ปรากฏในระยะเวลาสั้นๆ และอันตรธานหายไปในเวลาชั่วพริบตา

 

แล้วทำไมจีนถึงตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง? 

 

เหตุผลแรก ผู้เขียนมองว่าทางการจีนพยายามปรับมาตรการควบคุมโควิดให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตของผู้คนมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว ดังที่สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน รายงานในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ว่า การมีเสียงเรียกร้องเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลไม่ลังเลที่จะปรับ และได้เห็นว่าประชาชนอยากให้เป็นไปแบบไหน จะเรียกว่ามาถูกเวลาก็ย่อมได้ เพราะมาในช่วงเวลาที่จีนส่งสัญญาณเตรียมไว้แล้วว่าจะปรับ แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนักก่อนหน้านี้ 

 

เหตุผลที่สอง จีนไม่สามารถนำเสนอความน่ากลัวของโควิดได้อีกต่อไป เพราะทุกคนต่างรับรู้ข้อมูลและตัวอย่างจากต่างประเทศมากขึ้น แม้จีนจะเผยแพร่บทความเทียบกันระหว่างการใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ของจีน ว่าส่งผลบวกทำให้ไม่มีผู้เสียชีวิตมากเท่ากับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกับโควิดอย่างสหรัฐอเมริกา แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการที่มากกว่าผู้ติดเชื้อแบบมีอาการหลายเท่าตัวในแต่ละวันในจีน ทำให้ผู้คนต่างฉุกคิดว่า ‘โควิดน่ากลัวจริงหรือ?’ และมองว่าโควิดไม่น่ากลัวเท่าการถูกจำกัดการใช้ชีวิต และการต้องเข้าแถวต่อคิวตรวจโควิดเป็นเวลานานและตรวจทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาจำนวนไม่น้อยออกมารวมตัวและชูปัญหาผลกระทบต่อการเรียนของพวกเขา 

 

ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2565 เราได้เห็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน รวมทั้ง ซุนชุนหลาน รองนายกรัฐมนตรีหญิงของจีน ผู้รับผิดชอบการรับมือโควิดในจีนมาตั้งแต่แรกเริ่ม กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางด้านการรับมือโรคระบาดของจีน โดยยอมรับว่าโควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่กำลังระบาดเป็นหลักในจีนมีความอ่อนแอลง ไม่มีความรุนแรงเท่ากับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ หลังจากที่รองนายกฯ หญิงผู้นี้ออกมากรุยทางในแนวทางนี้ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนทยอยออกมาให้สัมภาษณ์เพื่อสนับสนุน โดยชี้ให้เห็นถึงจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของจีนในทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นแบบไม่มีอาการ ไม่มีแม้แต่อาการปวดหัวหรือมีไข้ด้วยซ้ำ 

 

เหตุผลที่สาม จีนมีทางเลือกวัคซีนโควิดมากขึ้นสำหรับใช้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่จีนเป็นห่วงมาตลอด นอกจากการปรับมาตรการให้ผ่อนคลายขึ้น ทางจีนยังประกาศแผนระดมฉีดวัคซีนโควิดในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่อัตราการรับวัคซีนอย่างน้อยสองโดสต่ำกว่า 70% ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นแบบละมุนละม่อม ไม่ใช้วิธีรุนแรง เพราะถ้าใช้ความรุนแรง บอกเลยว่าจีนคงมีการชุมนุมเร็วกว่านี้นานแล้ว เนื่องจากคนจีนให้ความเคารพและความสำคัญต่อผู้สูงอายุมาก 

 

วิธีละมุนละม่อมที่ว่าคือ การให้ทางเลือกการฉีดวัคซีนที่ผู้สูงอายุไม่อาจปฏิเสธ หรือปฏิเสธได้ยากขึ้น ได้แก่ วัคซีนโควิดแบบสูดดม แก้ปัญหาการกลัวเข็มฉีดยา กลัวเจ็บ และข้ออ้างที่ผู้สูงอายุมักจะบอกคือ “ไม่อยากถอดเสื้อ หรือถกแขนเสื้อขึ้น โดยเฉพาะช่วงอากาศเย็นหรือฤดูหนาวเช่นนี้”

 

วัคซีนทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุและคนจีนทั้งหมด ยังคงเป็นวัคซีนที่ผลิตในจีนทั้งหมด และยังคงไม่มีการใช้ mRNA แต่มีสัญญาณบวกเมื่อนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการ และพบกับผู้นำจีนก่อนการประชุม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียจะเริ่มขึ้นไม่นาน โดยหลังประชุมมีการเผยความคืบหน้าว่าวัคซีน mRNA ของ BioNTech จะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกลุ่มต่างชาติที่ประเทศจีนในอีกไม่ช้า และจากที่ผู้เขียนรวมถึงหลายฝ่ายวิเคราะห์นั่นก็น่าจะเห็นการอนุมัติใช้ mRNA ในกลุ่มคนจีนด้วย อย่างไรก็ตาม นี่ถือว่าค่อนข้างช้าสำหรับการพัฒนาและอนุมัติใช้ mRNA ในจีน 

 

เหตุผลที่สี่ การเปิดความร่วมมือกับต่างประเทศ คือหนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลจีน หากยังคงมีข้อกังขาในมาตรการรับมือและจัดการโควิดภายในจีน ความเชื่อมั่นของต่างชาติทั้งการลงทุนในจีน และการร่วมมือต่างๆ ก็จะไม่ดีนัก 

 

เหตุผลที่ห้า สีจิ้นผิงมั่นใจว่ามีความมั่นคงในอำนาจ เนื่องจากกลุ่มผู้นำระดับสูงของพรรค ได้แก่ คณะกรรมการประจำโปลิตบูโร (กรมการเมือง) และคณะกรรมาธิการทหารกลาง ล้วนมาจากคนใกล้ชิดของตน ประกอบกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดก็มาจากความต้องการของประชาชน ดังนั้นจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงมาตรการเข้มงวดที่ยึดมั่นมาในตลอด โดยสีจิ้นผิงสามารถชี้แจงได้ว่า ไม่ใช่การตัดสินใจผิด แต่เป็นเสียงของประชาชน และเป็นการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน 

 

ก่อนหน้านี้ ทางการจีนเริ่มกล่าวคำว่า “ประชาธิปไตยแบบของจีน” มากขึ้น โดยเรียกว่า ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งหมด หรือ Whole-Process People’s Democracy ซึ่งเผยแพร่สมุดปกขาว หรือ Whitepaper ในนามทางการจีน

 

จีนจะไปในทิศทางใดต่อในปี 2566?

 

ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า จีนจะเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการต่อเนื่องในกรอบที่จีนรับได้ คือยังมีความเข้มงวดในสิ่งที่ต้องเข้ม อย่างในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาด ยังคงต้องมีการตรวจโควิด ผู้ใดเสี่ยงก็ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ และอนุญาตให้ตรวจตามความสมัครใจ ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดโควิดในกลุ่มผู้สูงอายุ และพัฒนาวัคซีนและยา แต่ยังไม่ยกเลิกมาตรการแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ 

 

และหากมีเคสการติดเชื้อแบบมีอาการในอัตราส่วนที่มากกว่าแบบไม่มีอาการ และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มต่อเนื่อง เราคงเห็นจีนกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นแบบทันทีเช่นกัน โดยสื่อสารถึงความจำเป็นต้องยกระดับอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ (ช่วงเทศกาลตรุษจีน) หรือระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ที่จัดเป็น 3 เดือนอันตราย ที่จีนจับตามองและพร้อมยกระดับทุกเมื่อ

 

สำหรับกรณีการเปิดประเทศที่ทุกคนเฝ้ารอนั้น คาดว่าหลังการประชุมสภาประชาชน เดือนมีนาคม 2566 จะเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยจีนจะดูผลจากการผ่อนคลายในปัจจุบัน และช่วง 3 เดือนอันตรายที่กล่าวไปแล้ว เพื่อนำมาพิจารณาว่าจะผ่อนคลายต่อมากน้อยเพียงใด และเปิดประเทศหรือไม่ ถ้าเปิด เปิดแบบใด ดังนั้นต้องติดตามกันต่อไป

 

ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising