Gabrielle Chanel และ Pablo Picasso
ภาพ Apparition of Face and Fruit Dish on a Beach ที่ Salvador Dalí วาด
ณ Villa La Pausa ของ Gabrielle Chanel
หนึ่งในคำถามที่มักถูกถกเถียงอย่างไม่จบสิ้นคือ “แฟชั่นถือว่าเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งไหม?”
คงไม่มีวันที่เราจะหาคำตอบที่แน่ชัดได้ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล แต่สิ่งหนึ่งที่ผมการันตีว่าจริงร้อยเปอร์เซ็นต์คือ วงการศิลปะและวงการแฟชั่นเป็นมิตรที่ดีและผลักดันกันและกันอยู่เสมอ ซึ่งไม่มีแบรนด์ไหนที่ชัดเจนไปกว่า Chanel แล้วในยุคนี้
ใช่ครับ Chanel แบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสที่มีคนยืนต่อคิวเป็นชั่วโมงหน้าร้านเพื่อซื้อกระเป๋าหรือแจ็กเก็ตทวีดใหม่, ใช่ครับ Chanel ที่ Jennie BLACKPINK เป็น Brand Ambassador และใช่ครับ Chanel แบรนด์ที่คนยังคงใฝ่ฝันตั้งแต่เล็กจนโตเพื่อจะเป็นเจ้าของสักชิ้น ซึ่งในความเป็นจริงยังมีด้านของโลกศิลปะที่แบรนด์ได้เชื่อมต่ออย่างสวยงามมาตั้งแต่แรกเริ่ม และเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้อย่างมากเพื่อจะเข้าใจดีเอ็นเอของ Chanel ในวันนี้
ย้อนกลับไปตั้งแต่ Gabrielle Chanel ริเริ่มแบรนด์ในปี 1910 กับร้านหมวก Chanel Modes ที่กรุงปารีส วีรสตรีของวงการแฟชั่นคนนี้ก็ได้คลุกคลีและเป็นเพื่อนกับศิลปินหลากหลายคนที่เธอได้ทั้งร่วมงานและต่างได้เป็นแรงบันดาลใจในผลงานดีไซน์ของเธอ
ตัวอย่างสำคัญก็คงหนีไม่พ้น Pablo Picasso หนึ่งในศิลปินที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่ง Gabrielle Chanel ได้รู้จักเมื่อปี 1917 และทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอมาและร่วมงานกัน อย่างในปี 1922 กับละครเวทีเรื่อง Antigone ซึ่งอีกหนึ่งศิลปินและเพื่อนสนิทของ Gabrielle Chanel อย่าง Jean Cocteau ได้ดัดแปลงจากบทประพันธ์ช่วงยุคกรีกของ Sophocles พร้อมให้เธอออกแบบชุดคอสตูม และ Pablo Picasso ออกแบบฉากให้
หรืออีกหนึ่งโมเมนต์ไฮไลต์ก็คือมิตรภาพอันสวยงามของ Gabrielle Chanel และ Salvador Dalí ตั้งแต่ช่วงปลายยุค 20 ที่เบิกบานและลึกซึ้ง เพราะ Gabrielle Chanel ยอมเปิดบ้าน Villa La Pausa ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ให้ Salvador Dalí ได้ใช้เป็นสตูดิโอชั่วคราว ซึ่งที่นั่นเขาได้สร้างสรรค์ผลงานระดับตำนานอย่างภาพวาด Apparition of Face and Fruit Dish on a Beach และต่อมา Gabrielle Chanel ก็ยอมเป็นผู้ช่วยของ Salvador Dalí ตอนเขารับหน้าที่ดูแลคอสตูมให้โชว์บัลเลต์ชื่อ Bacchanale
Chanel Ready-to-Wear Spring/Summer 2014
Chanel Haute Couture Spring/Summer 2022
เพราะความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของ Gabrielle Chanel และโลกศิลปะที่ผมได้กล่าวมาสิ่งนี้ถูกถ่ายทอดและส่งต่อมาจนถึงทุกวันนี้ โดยในช่วงยุค Karl Lagerfeld แม้เขาอาจไม่ได้ร่วมงานกับศิลปินอื่นๆในรูปแบบของ Gabrielle Chanel แต่ก็ดูเหมือน Karl Lagerfeld จะมองตัวเองเป็นศิลปินที่ทำได้หลากแขนง ตั้งแต่สเกตช์ภาพที่แต่ละคอลเล็กชันมักจะกลายเป็นรูปบนบัตรเชิญแฟชั่นโชว์ การถ่ายภาพ หรือกับแฟชั่นโชว์ระดับไอคอนิกอย่าง Spring/Summer 2014 ที่ใช้ชื่อว่า ‘Art’ ที่เขาจำลองแกลเลอรีขึ้นมาใน Grand Palais พร้อมเป็นคนคิดงานศิลปะทั้งหมด 75 ชิ้นที่ใช้ตกแต่งฉาก
พอมาถึงยุคปัจจุบันกับ Virginie Viard ในตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ เธอก็ไม่ลืมโลกศิลปะเช่นกัน เพราะอย่างในปีนี้กับโชว์โอต์กูตูร์ทั้งสองครั้ง เธอให้ Xavier Veilhan ศิลปินชาวฝรั่งเศสชื่อดังที่โดดเด่นด้วยศิลปะแนว Constructivism มาออกแบบฉากให้
แต่การที่ Chanel อยากจะให้โลกศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแบรนด์ ไม่ได้ทำแค่ผิวเผินหรือเปลือกนอกอย่างเดียว เพื่อการตลาดและเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้ดูสวยหรู แต่ทางแบรนด์เห็นถึงบทบาทตัวเองในการใช้แพลตฟอร์ม ทรัพย์สิน และทรัพยากร เพื่อช่วยเหลือศิลปินในทุกระดับ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนของโลกก็ตาม เพื่อให้ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
https://www.youtube.com/watch?v=skcn_wDKSDk
https://www.youtube.com/watch?v=SBmWIYrg21M
สิ่งที่ Chanel ได้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2021 คือการก่อตั้งกองทุนที่ชื่อ Chanel Culture Fund ที่ทางแบรนด์ได้ร่วมงานกับหน่วยงานสำคัญด้านศิลปะทั่วโลก เพื่อให้ช่วยจัดตั้งโปรแกรม นิทรรศการ หรือสนับสนุนผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ อย่างเช่น ที่พิพิธภัณฑ์ The National Portrait Gallery ในลอนดอน ก็มีโปรเจกต์ชื่อ Reframing Narratives: Women in Portraiture ที่ผลักดันให้เมื่อพิพิธภัณฑ์กลับมาเปิดในปี 2023 อีกครั้งหลังมีการบูรณะครั้งใหญ่ จะจัดแสดงผลงานของศิลปินผู้หญิงมากยิ่งขึ้น
ส่วนอีกโปรเจกต์คือรางวัล The Chanel Next Prize ที่ทุกปีจะมอบเงิน 1 แสนยูโรให้ศิลปิน 10 คนทั่วโลก ไม่ว่าจะมาจากโลกศิลปะ ดนตรี หรือการแสดง เพื่อให้แต่ละคนมีต้นทุนในการสร้างสรรค์ผลงานให้ดียิ่งขึ้นไป
แต่ Chanel ไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะในช่วงปีที่ผ่านมาการจะช่วยเหลือโลกศิลปะเพื่อให้เชื่อมโยงกับแบรนด์ ก็ถูกโฟกัสในรูปแบบ Localization ที่เจาะกลุ่มไปยังประเทศที่มีความสำคัญต่อแบรนด์ อย่างเช่น ประเทศไทย โดยโปรเจกต์แรกที่ทางแบรนด์ทำก็เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กับการจัดไพรเวตดินเนอร์สุดพิเศษริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ Siri Sala Private Thai Villa เพื่อฉลองการเปิดตัวซีรีส์นิทรรศการงานศิลป์ ‘Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย’ ที่ก่อตั้งโดย กรกฤต อรุณานนท์ชัย พร้อมทั้งยังได้ เชฟชุดารี เทพาคำ มารังสรรค์เมนูให้
ทริปล่องเรือบนแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังสถานที่จัดดินเนอร์
จูเน่ เพลินพิชญา, ออฟ จุมพล และ ออกแบบ ชุติมณฑน์ ที่งานดินเนอร์
บรรยากาศงานดินเนอร์
ดินเนอร์ครั้งนี้จัดในรูปแบบคล้ายกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา ณ โรงแรม Amanpuri จังหวัดภูเก็ต ที่ Chanel ทำเพื่อฉลองการเปิดตัวภาพยนตร์ Memoria ที่ประเทศไทย ของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ และได้นางเอกของเรื่อง Tilda Swinton บินมาด้วย ซึ่งทั้งสองดินเนอร์ที่ผมได้เกียรติร่วมงาน ผมรู้สึกว่ามันเป็นการยกระดับด้านการสื่อสารและสร้าง Brand Activation ที่มีชั้นเชิง แตกต่าง และเป็นระดับสากล แบบที่ว่าเรามักจะเห็นจัดแค่ที่นิวยอร์ก ลอนดอน หรือปารีส เท่านั้น
แน่นอน Chanel สามารถจัดงานใหญ่มโหฬารใจกลางเมือง เชิญดาราคนดังเป็นร้อยชีวิต ได้นักร้องระดับโลกมาแสดง และทำให้เป็นอีเวนต์เป็น Talk of the Town แต่แบรนด์ขอไม่เดินตามใครและไม่ทำอะไรจำเจ เพราะพวกเขาจัดไปก่อนหน้าทุกคนแล้วกว่า 4 ปีก่อนกับแฟชั่นโชว์ Cruise 2019 Replica และมาวันนี้แบรนด์น่าจะมองว่า ‘คุณค่า’ และ ‘อิทธิพล’ ของตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับแค่ในเชิงพาณิชย์อย่างเดียวอีกต่อไป แต่แบรนด์ยังจะสามารถสานต่อเรื่องราวที่ Gabrielle Chanel ปลูกฝังได้หรือไม่
ผมคิดว่ามันสวยงามมากกับการที่เราได้มองไปรอบๆ โต๊ะกับแขกที่มาดินเนอร์ราว 70 คน และเราได้เห็นคนรุ่นใหม่อย่าง ออฟ จุมพล และ จูเน่ เพลินพิชญา มาร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับศิลปินระดับโลกอย่าง Tom Sachs, ออกแบบ ชุติมณฑน์ ที่เป็น Friend of the House คนสำคัญของแบรนด์, โต้ง Twopee, บาส นัฐวุฒิ, กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหาร Vogue ประเทศไทย และ Park Soojoo นางแบบและ Chanel Ambassador ที่บินมาดินเนอร์โดยเฉพาะ พร้อมสร้างเซอร์ไพรส์แสดงถึง 17 นาที เพื่อโชว์เมดเลย์ผลงานเพลงของเธอเป็นครั้งแรก
Park Soojoo ขณะแสดงพิเศษที่งานดินเนอร์
มิว นิษฐา ที่งานดินเนอร์
หลายคนอาจมองว่ากลุ่มคนที่ดินเนอร์นี้ดูไม่ค่อยน่าจะเข้ากันได้ แต่ผมกลับคิดว่าหากทุกคนอยู่ในสารบบของวงการที่ต่างใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และใช้ ‘ศิลปะ’ ในทางของตัวเอง นี่แหละอีกโอกาสที่จะมาแลกเปลี่ยนความคิดและทัศนคติ โดยในอนาคตอาจก่อเกิดผลงานร่วมกันที่มีความ Inclusive และไม่รู้สึกแตกแยก เหมือนกับที่ Gabrielle Chanel ไม่เคยหยุดร่วมงานกับคนจากหลากหลายวงการตอนที่เธอสร้างให้ Chanel เป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์
และสำหรับตัวงานนิทรรศการ ‘Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย’ ที่ตั้งแต่เริ่มอาจมีความเฉพาะกลุ่ม การที่ Chanel ได้จัดดินเนอร์รูปแบบนี้ และผลักดันเพื่อให้กลุ่มคนมีชื่อเสียงได้มาเรียนรู้เรื่องราวและสร้างมิตรภาพใหม่ๆ ในช่วงค่ำคืนหนึ่ง พวกเขาได้ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเองในการแชร์ภาพและบอกเล่าถึงประสบการณ์จากงานไปยังฟอลโลเวอร์จำนวนหลายล้านคน เพื่อให้พวกเขาได้รู้ถึงนิทรรศการ โดยเฉพาะกับฐานแฟนคลับคนรุ่นใหม่ที่ในยุคสมัยนี้ก็มีไลฟ์สไตล์ที่สนใจศิลปะมากยิ่งขึ้นด้วย
พอจบงานและทุกคนได้ล่องเรือกลับไปยังโรงแรม Mandarin Oriental ผมมานั่งทบทวนและวิเคราะห์เหมือนกับทุกอีเวนต์ของ Chanel ที่ผมได้ไปทั้งในและต่างประเทศว่าแบรนด์กำลังเดินหน้าไปในทิศทางไหนในด้านการสร้าง Brand Positioning และ Brand Awareness ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่า Chanel ได้ก้าวขั้นมาเป็นผู้นำด้านคัลเจอร์ (Cultural Pioneer) แล้ว และไม่ใช่แค่ผู้นำด้านแฟชั่น (Fashion Pioneer) อย่างเดียวอีกต่อไป โดย Chanel นี่แหละจะเป็นเหมือนสะพานและกระบอกเสียงสำคัญที่จะเชื่อมต่อวงการแฟชั่นกับวงการอื่นๆ เพื่อให้พวกเขาได้มีที่ยืนและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่งดงามและช่วยปรับความคิดของคนว่า วงการแฟชั่นและแบรนด์ลักชัวรีมักมีความฟุ่มเฟือยและอยู่ในโลกฟองอากาศของตัวเอง โดย Chanel จะไปสนับสนุนวงการอะไรต่อในประเทศไทยก็ต้องรอดูกันเร็วๆ นี้
“Fashion is not something that exists in dresses only. Fashion is in the sky, in the street, fashion has to do with ideas, the way we live, what is happening.” – Gabrielle Chanel
ภาพ: Courtesy of Chanel, Getty Images
อ้างอิง: