×

Whoscall เผยสถิติอันน่าตกใจ 7 ใน 10 ครั้งของข้อความ SMS ที่คนไทยได้รับเป็นข้อความสแปม ด้านโทรศัพท์หลอกลวงพุ่งขึ้น 165%

31.03.2023
  • LOADING...
SMS หลอกลวง

การหลอกลวงยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทย สถิติจาก Whoscall พบว่า คนไทยยังต้องรับสายจากมิจฉาชีพเพิ่มขึ้น 165% หรือ 17 ล้านครั้งในปี 2565 รายงานยังเผยสถิติสำคัญครั้งแรก ถึงจำนวนการรั่วไหลของเบอร์โทรศัพท์ในประเทศไทยกว่า 45% หรือ 13.5 ล้านเบอร์  

 

“คาดว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อหลอกลวง และเกิดผลเสียทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต” แมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Gogolook กล่าว

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

Whoscall ยังได้เผยสถิติที่น่าตกใจว่า 7 ใน 10 ครั้งของข้อความ SMS ที่คนไทยได้รับเป็นข้อความสแปมและข้อความหลอกลวง หรือคิดเป็น 73% ของข้อความที่ได้รับทั้งหมด ในส่วนของยอดสายโทรศัพท์หลอกลวงพุ่งขึ้น 165% จาก 6.4 ล้านครั้งในปี 2564 ซึ่งภัยเหล่านี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 

มิจฉาชีพนิยมส่งข้อความหลอกลวงเนื่องจากสามารถเข้าถึงเหยื่อจำนวนมากด้วยต้นทุนต่ำ ข้อความ SMS ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อ ‘ติดต่อครั้งแรก’ โดยหลอกให้เหยื่อกดลิงก์ฟิชชิงเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว เพิ่มบัญชีไลน์เพื่อหลอกให้ส่งข้อมูลหรือโอนเงินให้ กลอุบายที่พบบ่อย ได้แก่ การเสนอเงินกู้โดยมักอ้างรัฐบาลหรือธนาคาร  และการให้สิทธิ์เข้าตรงเว็บพนันออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย

 

คีย์เวิร์ดของข้อความหลอกลวงที่ถูกรายงานที่พบบ่อยที่สุด เช่น รับสิทธิ์ยื่นกู้, เครดิตฟรี, เว็บตรง, คุณได้รับสิทธิ์, คุณได้รับทุนสำรองโครงการประชารัฐ, คุณได้รับสิทธิ์สินเชื่อ และคุณคือผู้โชคดี   

 

รูปแบบและประเด็นการหลอกลวงถูกปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของแต่ละประเทศ จากการค้นหาและระบุการหลอกลวง (รวมการโทรและข้อความ) ต่อผู้ใช้ Whoscall 1 คน ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ที่มีข้อความและสายโทรเข้าหลอกลวง เฉลี่ย 33.2 ครั้งต่อปี (เพิ่มขึ้น 7%) ขณะที่ไต้หวันมี 17.5 ครั้ง (ลดลง 20%) และมาเลเซีย 16.5 ครั้ง (เพิ่มขึ้น 15%) ตัวเลขดังกล่าวตอกย้ำว่าการหลอกลวงนั้นยังคงแพร่หลายไปยังหลายประเทศ

 

กลหลอกลวงใหม่ๆ ในประเทศไทยมักเกิดขึ้นตามความสนใจและเทรนด์ต่างๆ ขณะนี้ข้อความ SMS และสายหลอกลวงที่เกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ หลอกส่งพัสดุเพื่อเก็บเงินปลายทาง หลอกเป็นกรมทางหลวง หลอกให้คลิกไปเล่นพนันออนไลน์ หลอกว่ามีงานพาร์ตไทม์ หลอกว่าได้รางวัลจาก TikTok และแพลตฟอร์มต่างๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

 

ข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลมักเป็นด่านแรกที่มิจฉาชีพใช้เข้าถึงรายละเอียดการติดต่อเพื่อหลอกลวงเหยื่อ การรั่วไหลอาจเกิดขึ้นจากฐานข้อมูลขององค์กรหรือรัฐบาลถูกโจมตีทางไซเบอร์ หรือเมื่อผู้ใช้กรอกแบบสำรวจ แบบทดสอบทางจิตวิทยา หรือแบบฟอร์มในเว็บไซต์ฟิชชิง

 

ในประเทศไทยมีการรั่วไหลของเบอร์โทรศัพท์ 45% ทั้งนี้ รหัสผ่าน เบอร์โทรศัพท์ และชื่อ เป็นข้อมูลส่วนตัวที่มีการรั่วไหลมากที่สุด ตามด้วยสัญชาติ อีเมล ที่อยู่ และวันเกิด

 

ข้อมูลที่รั่วไหลแต่ละประเภทอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น บัญชีธนาคารออนไลน์หรือบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาจถูกขโมยได้หากรหัสผ่านรั่วไหล หรือในกรณีที่มิจฉาชีพได้ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ แม้แต่บันทึกการชำระเงินและการซื้อของ ก็จะสามารถใช้หลอกลวงทางโทรศัพท์และข้อความ SMS ได้อย่างง่ายดาย เพื่อป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ เราจึงควรใช้การยืนยันตัวตนแบบสองขั้น (Two-Factors Authentication) เมื่อใช้บริการออนไลน์ เปลี่ยนรหัสผ่านที่รัดกุมเป็นประจำ และใช้ Whoscall เพื่อระบุสายโทรเข้าและข้อความ SMS ที่ไม่รู้จัก

 

การที่บริการออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิดการหลอกลวงจึงเพิ่มขึ้น โดยไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง Whoscall ขอแนะนำให้คนไทยปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้เพื่อป้องกันตนเองจากเหล่ามิจฉาชีพได้แก่

 

  • อย่าคลิก: หากคุณได้รับลิงก์ใน SMS อย่าคลิกลิงก์นั้น โดยเฉพาะข้อความที่มาจากธนาคารหรือหมายเลขที่ไม่รู้จัก เนื่องจากปัจจุบันมีข้อห้ามไม่ให้ธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศไทยส่งลิงก์ทาง SMS ให้กับลูกค้าโดยตรง
  • อย่ากรอก: หากได้รับ SMS เพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือขออัปเดตชื่อผู้ใช้/รหัสผ่าน หรือข้อมูลทางการเงินที่มีลิงก์ไปยังเว็บไซต์ที่น่าสงสัย อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ เด็ดขาด
  • อย่าเพิกเฉย: ผู้ใช้สามารถช่วยกันต่อต้านกลโกงและหลอกลวงทางโทรศัพท์ โดยการรายงานเบอร์โทรศัพท์ที่น่าสงสัยหรือหลอกลวงทางแอปพลิเคชัน Whoscall เพื่อป้องกันและช่วยส่งคำเตือนไปยังกลุ่มผู้ใช้รายอื่น
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising