×

คนไทยถูกหลอก SMS สูงสุดในเอเชีย! Whoscall พัฒนาแอปช่วยคนไทยที่โดนหลอกวันละ 2 แสนราย

08.05.2024
  • LOADING...
Whoscall

เรียกได้ว่าในปัจจุบันปัญหาการโดนหลอกที่ใกล้ตัวกับคนไทยมากที่สุดก็คือการหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความรำคาญ ความกังวล และซ้ำร้ายที่สุดก็คือความเสียหายให้กับใครหลายคน

 

สำหรับปี 2566 คนไทยได้รับข้อความ SMS ที่เป็นข้อความสแปมและข้อความหลอกลวงเฉลี่ย 6 ใน 10 ของข้อความ SMS ทั้งหมดที่ได้รับ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับ SMS หลอกลวงสูงมากที่สุดเป็นอันดับแรกในเอเชียอีกด้วย

 

ข้อมูลผลสำรวจของ Whoscall ยังเผยเพิ่มเติมว่า คนไทยที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมีถึงวันละ 217,047 ราย โดยมีสายที่ได้รับจากมิจฉาชีพถึง 20.8 ล้านครั้ง และถูกมิจฉาชีพหลอกจาก SMS มากกว่า 58.3 ล้านข้อความ ซึ่งเป็นจำนวนยอดที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ถึงร้อยละ 22 และร้อยละ 17 ตามลำดับ ด้วยมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 53,875 ล้านบาท

 

การส่งข้อความ SMS ยังคงเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพนิยมใช้หลอกคนไทย โดยมักจะแอบอ้างบริษัทขนส่งหรือหน่วยงานรัฐ และใช้คีย์เวิร์ดสำคัญๆ เช่น แจกฟรี, ฟรี 500, พัสดุของท่านเสียหาย, เคลมค่าเสียหายติดต่อ และยูสใหม่

 

จากปัญหาดังกล่าว บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทด้านเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) และผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall สำหรับใช้ระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปมที่ใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน จึงได้เปิดตัวแคมเปญ ‘จับมือเพื่อนรัก ตัดสายมิจร้าย (SAVE FRIENDS FROM FRAUD)’ ในประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกง รวมทั้งมีเครื่องมือที่จะปกป้องตัวเองจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการถูกหลอกโดยมิจฉาชีพผ่านช่องทางโทรศัพท์และข้อความ SMS ที่แอบแฝงด้วยลิงก์ปลอม

 

“นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่เราต้องให้ความสนใจก็คือกลเม็ดในการหลอกลวงที่ล้ำหน้ามากขึ้นท่ามกลางเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว” ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

 

และเสริมว่า “วันนี้เรามาถึงยุค 5.0 ของกลลวงมิจฉาชีพแล้ว ซึ่งเป็นยุคที่มิจฉาชีพใช้ AI เพื่อปลอมหรือแอบอ้างตัวตนของบุคคลที่เรารู้จัก พร้อมทั้งนำข้อมูลส่วนตัวมาหลอกให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ทำให้เหยื่อถูกหลอกได้ง่ายขึ้น” ฉะนั้นทาง Whoscall จึงเห็นความสำคัญในการติดเกราะป้องกันตัวของประชาชนด้วยการรู้ให้เท่าทันกลโกงและติดเครื่องมือในการป้องกันตัวเอง

 

Whoscall

อ้างอิง: Whoscall

 

พ.ต.อ. ก้องกฤษฎา กิตติถิระพงษ์ รองผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. กล่าวว่า “อาชญากรรมทางเทคโนโลยีกำลังกลายเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากขึ้นในทุกวัน โดยข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่ามีการแจ้งความถึง 1,000 กว่าเคส ซึ่งมียอดมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ราว 70-80 ล้านบาทต่อวัน ทั้งซื้อของออนไลน์ หลอกให้รัก หลอกเอาเงินบำนาญจากกลุ่มผู้เกษียณอายุ ซึ่งส่วนมากก็มีต้นตอมาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ทำงานกันในหลายประเทศ ด้วยวิธีการเข้าถึงเหยื่อผ่านการล้วงข้อมูลจากเบอร์โทรศัพท์”

 

ดังนั้นสำหรับในปี 2567 Whoscall มีแผนที่จะช่วยลดความสูญเสียทางทรัพย์สินจำนวน 28,000 ล้านบาทจากมิจฉาชีพ และรณรงค์ให้มีส่วนร่วมในการต่อต้านการกระทำแบบนี้ด้วยการแจ้งเบอร์มิจฉาชีพ ตัดสาย และไม่กดลิงก์จาก SMS พร้อมทั้งให้ความรู้กับคนไทยเกี่ยวกับแอปพลิเคชัน Whoscall ซึ่งเป็นแอปกันมิจฉาชีพที่ทุกคนเข้าถึงได้

“การติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ให้ความสะดวกกับผู้ใช้งานก็จริง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งมันอาจมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ ดังนั้นก่อนจะมีปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ เราต้องตระหนักรู้อยู่ตลอดว่าความสัมพันธ์ที่มีเรื่องของ ‘เงิน’ เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นขอยืมเงิน ชวนลงทุน ขอให้โอนเงินช่วยเหลือ ล้วนแล้วแต่เป็นหัวข้อที่ทุกคนต้องฉุกคิดและตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าคนที่เรากำลังสนทนาด้วยนั้นคือบุคคลที่มีธุระกับเราหรือเป็นตัวจริงที่เราควรพูดคุยด้วยหรือไม่” ร.ต.อ.หญิง พิชญากร สุขทวี กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising