องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกโรงเตือนยุโรปกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงของการเผชิญกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในช่วง 1-2 เดือนนับจากนี้ โดยคราวนี้สายพันธุ์หลักที่จะระบาดคือสายพันธุ์เดลตา ซึ่งทางสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหภาพยุโรป (European Union’s Disease Control) หรือ ECDC ประเมินว่า สายพันธุ์เดลตาจะมีสัดส่วนสูงถึง 90% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในเดือนสิงหาคม
คำเตือนครั้งนี้มีขึ้นหลัง WHO พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดใน 53 ประเทศทั่วยุโรป ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอดในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยจำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นถึง 10% ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากยุโรปมีการผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและมีการเดินทางข้ามพรมแดนกันมากขึ้น
ฮานส์ คลูก (Hans Kluge) ผู้อำนวยการ WHO ประจำภาคพื้นยุโรป กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ระบุว่า การเดินทาง การรวมตัวของคนจำนวนมาก และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมทางสังคม คือสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่ติดต่อง่ายกว่าเดิมและอัตราการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าลง
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ WHO ของยุโรป กล่าวชัดว่า ขณะที่ประชาชนมากกว่า 60% ยังคงรอฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก การผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางและการปะปนทางสังคมอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สายพันธุ์เดลตากลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในยุโรปภายในเดือนสิงหาคมนี้ และถ้ายิ่งฉีดวัคซีนช้าเท่าไร เชื้อไวรัสก็ยิ่งกลายพันธุ์มากขึ้นเท่านั้น
ด้าน แคทเธอรีน สมอลวูด (Catherine Smallwood) เจ้าหน้าที่อาวุโสแผนกฉุกเฉินของ WHO แสดงความวิตกว่า ความเสี่ยงของการระบาดครั้งใหญ่ในภูมิภาคยุโรปมีแนวโน้มจะมาจากการแข่งขันยูโร 2020 ที่จะกลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ครั้งใหญ่ หลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในกลุ่มแฟนบอลที่เดินทางกลับจากลอนดอนและเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ก่อนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศเจ้าภาพเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของบรรดาแฟนบอลเหล่านี้
วันเดียวกัน ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของเกาหลีใต้ประกาศว่า ทางการจะระงับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของ AstraZeneca ให้กับประชาชนอายุต่ำกว่า 50 ปี และให้มีผลบังคับใช้ทันที พร้อมให้คำมั่นจัดหาวัคซีนทางเลือกตัวใหม่แทนวัคซีน AstraZeneca โดยก่อนหน้านี้ทางการเกาหลีใต้ฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้กับประชาชนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป
จองอึนคยอง หนึ่งในคณะกรรมาธิการของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของเกาหลีใต้กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นหลังมีข้อมูลว่าวัคซีน AstraZeneca มีประสิทธิภาพในกลุ่มคนมีอายุมากกว่ากลุ่มคนหนุ่มสาว ดังนั้นในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 50 ปีที่ฉีดเข็มแรกเป็นวัคซีน AstraZeneca จะได้รับโดสที่สองเป็นวัคซีนของ Pfizer ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1.6 ล้านคนทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน ทางการเกาหลีใต้ก็ประกาศให้วัคซีน Pfizer เป็นวัคซีนป้องกันโควิดหลักที่จะใช้ฉีดให้กับประชาชนทั่วประเทศแทนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
การตัดสินใจของเกาหลีใต้ครั้งนี้ยังมีขึ้นหลังผลการศึกษาเมื่อเดือนที่แล้วพบปัญหาภาวะลิ่มเลือดในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีน AstraZeneca ในช่วงวัย 30 ปี ทำให้เกาหลีใต้ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ประเมินประโยชน์และโทษของวัคซีน AstraZeneca จนนำมาสู่การตัดสินใจในครั้งนี้
นอกจากอาการภาวะลิ่มเลือดแล้ว ทางการเกาหลีใต้ยังตรวจพบอาการข้างเคียงอื่นๆ จากการฉีดวัคซีน AstraZeneca เช่น ปวดหัว ตาพร่ามัว หายใจติดขัด ปวดท้องหรือปวดช่วงอก ขาบวม และผิวหนังเป็นรอยช้ำได้ง่าย ซึ่งคนที่มีอาการดังกล่าวหลังฉีดวัคซีนระหว่าง 4-28 วัน แนะนำให้พบแพทย์อย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมนี้จะเป็นเดือนที่ประชาชนในวัย 60 ปีทั่วประเทศได้รับวัคซีนเข็มแรกครบ ซึ่งทางการจะเปิดให้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรอายุ 55-59 ปี จำนวน 7.4 ล้านคนต่อไป โดยประชากรกลุ่มนี้จะได้รับการฉีดวัคซีน Moderna
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น
อ้างอิง: