ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกหรือ WHO พร้อมด้วย ดร.อาห์เหม็ด อัล-มันดารี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกของ WHO ออกแถลงการณ์ เตือนว่าระบบสาธารณสุขของอัฟกานิสถานกำลัง ‘ใกล้เข้าสู่ภาวะล่มสลาย’ หลังจากที่ขาดแคลนเงินสนับสนุนจากนานาชาติ ทำให้สถานพยาบาลต่างๆ ประสบปัญหาในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน
แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันพุธ (22 กันยายน) ที่ผ่านมา หลัง ดร.ทีโดรส พร้อมด้วย ดร.อาห์เหม็ด และทีมเจ้าหน้าที่ของ WHO ได้เดินทางไปเยือนกรุงคาบูล เพื่อพบปะผู้นำของกลุ่มตาลีบันและเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ พร้อมทั้งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลและสถานการณ์ด้านสาธารณสุขในอัฟกานิสถาน
โดยที่ผ่านมา อัฟกานิสถานพึ่งพาความช่วยเหลือจากเงินบริจาคของนานาชาติเป็นจำนวนมาก แต่การถอนทหารของสหรัฐฯ และการเข้ายึดอำนาจของกลุ่มตาลีบัน ส่งผลให้ผู้บริจาคจำนวนมากระงับการช่วยเหลือ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็สั่งอายัดทรัพย์สินทางการเงินของอัฟกานิสถาน
ปัจจุบัน สถานพยาบาลในอัฟกานิสถาน ราว 2 ใน 3 จากทั้งหมด 2,309 แห่ง เป็นส่วนหนึ่งในโครงการแซฮัตมันดี (Sehatmandi) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบสาธารณสุขขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 20,000 ล้านบาท จากผู้บริจาคนานาชาติหลายราย ซึ่งรวมถึงธนาคารโลก สหภาพยุโรป และหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
แต่เนื่องจากเงินบริจาคทั้งหมด ถูกส่งมอบผ่านกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลพลเรือนอัฟกานิสถานที่ถูกโค่นล้มไป ทำให้เมื่อกลุ่มตาลีบันเข้ายึดอำนาจ กลุ่มผู้บริจาคจึงถอนการสนับสนุนโครงการ
“การตัดการสนับสนุนเงินบริจาคสำหรับโครงการด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ อย่าง แซฮัตมันดี ส่งผลให้สถานพยาบาลหลายพันแห่ง ไม่มีงบประมาณสำหรับค่าเวชภัณฑ์และเงินเดือนสำหรับพนักงาน” ดร.ทีโดรส ระบุในแถลงการณ์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ก่อนที่อัฟกานิสถานจะเผชิญกับภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม
ทั้งนี้ WHO ยังระบุว่าโรงพยาบาลที่รักษาโรคโควิดในอัฟกานิสถาน จำนวน 9 แห่ง จาก 37 แห่ง หรือกว่า 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ ได้ปิดตัวลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่การตรวจและติดตามผู้สัมผัสเชื้อ รวมถึงอัตราการให้วัคซีนแก่ประชาชนอัฟกันก็ลดลงอย่างมาก โดย WHO เผยว่ามีประชากรอัฟกันเพียงประมาณ 2.2 ล้านคน หรือราว 6% ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรับมือวิกฤตโควิดในอัฟกานิสถาน โดยตอนนี้สถานการณ์ระบาดเริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้ง จากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา
ภาพ: Photo by Haroon Sabawoon/Anadolu Agency/Getty Images
อ้างอิง: