องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องการสนับสนุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉินจำนวน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 271 ล้านบาท เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่ตอนกลางของเมียนมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1,700 คน และบาดเจ็บอีกหลายพันคน
WHO เผยว่าตอนนี้ ได้ยกระดับการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นระดับสูงสุด โดยเงินช่วยเหลือฉุกเฉินดังกล่าวจะถูกใช้ในการรักษาผู้บาดเจ็บ ป้องกันโรคระบาดและฟื้นฟูบริการสุขภาพที่จำเป็นในช่วง 30 วันข้างหน้า
ขณะที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 4 ซึ่งหลายประเทศ อาทิ ไทย จีน อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และรัสเซีย ได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ไปช่วยเหลือ และยังคงเดินหน้าความพยายามค้นหาผู้รอดชีวิตที่ถูกฝังใต้ซากอาคารบ้านเรือนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีการทำพิธีละหมาดในช่วงเดือนรอมฎอน ยังส่งผลให้มัสยิดเก่าแก่กว่า 50 แห่งในภูมิภาคมัณฑะเลย์และสะกาย พังถล่มลงมา และทำให้มีชาวมุสลิมเสียชีวิตเพิ่มเป็น 570 คนแล้ว
ทางด้านสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies: IFRC) ชี้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาตอนนี้ เป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่มีความซับซ้อนและมีความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกชั่วโมง
โดยหลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ (28 มีนาคม) ยังมีรายงานว่ากองทัพเมียนมายังคงเดินหน้าโจมตีทางอากาศถล่มฝ่ายต่อต้านในบางพื้นที่ ส่งผลให้สถานการณ์ทวีความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
ขณะที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาของเมียนมา ได้ประกาศหยุดปฏิบัติการทางทหารชั่วคราวในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของ NUG จะหยุดการสู้รบกับกองทัพเมียนมาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วานนี้ (30 มีนาคม) เพื่อเปิดทางให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ยังไม่ทราบชะตากรรมซูจี
ประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองคือความปลอดภัยของอองซานซูจี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนของเมียนมา
สำนักข่าว BBC รายงานข้อมูลจากคิม อริส (Kim Aris) บุตรชายของซูจี ซึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ได้รับการยืนยันใดๆ เกี่ยวกับสถานะและสุขภาพของมารดาหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหว
โดยเขาได้รับข้อมูลว่า เรือนจำในกรุงเนปิดอว์ ที่ซูจี ถูกคุมขังอยู่นั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้
ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เขาแทบไม่ได้ติดต่อกับมารดา โดยซูจี ได้รับอนุญาตให้เขียนจดหมายเพียง 1 ครั้ง
ภาพ: Stringer / Reuters
อ้างอิง: