เกือบ 2 ปีแล้วที่เชื้อไวรัสโควิดถูกตรวจพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีน แต่ต้นกำเนิดของไวรัสนี้ยังคงไม่ชัดเจน และผู้เชี่ยวชาญยังคงตั้งคำถามต่อไปว่าไวรัสนั้นแพร่จากสัตว์สู่คน หรืออาจรั่วไหลออกจากห้องปฏิบัติการ
ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อ 26 คนให้เข้าร่วมกลุ่มที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยต้นกำเนิดของเชื้อก่อโรคชนิดใหม่ (SAGO) ซึ่งรายชื่อดังกล่าวยังมีชื่อของนักวิทยาศาสตร์ 6 คนที่เดินทางไปประเทศจีนเพื่อร่วมในปฏิบัติการร่วมขององค์การอนามัยโลกและจีนในการหาต้นตอของโควิดก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งในปฏิบัติการดังกล่าวมีการออกรายงานร่วมกันในเดือนมีนาคมว่า ไวรัสอาจถ่ายทอดจากค้างคาวสู่มนุษย์ผ่านสัตว์อื่น แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม
WHO เผยว่า การแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังการปรึกษาหารือสาธารณะ ส่วน ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของ WHO กล่าวว่า WHO ต้องการถอยหนึ่งก้าว และสร้างสภาพแวดล้อมที่สามารถมองประเด็นทางวิทยาศาสตร์ได้อีกครั้ง และบอกว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุด และอาจจะเป็น ‘โอกาสสุดท้าย’ ที่จะเข้าใจเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัสนี้
ส่วน มาเรีย แวน เคิร์คโฮฟ หัวหน้าด้านเทคนิคสำหรับโควิดของ WHO ระบุว่า SAGO จะประเมินอย่างเร่งด่วนถึงสิ่งที่ทราบแล้วในขณะนี้ สิ่งที่ยังไม่ทราบ และสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างรวดเร็ว เธอยังหวังว่า SAGO จะแนะนำการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้ที่ประเทศจีนและที่อื่นๆ นอกจากนี้ยังบอกว่าการทดสอบหาแอนติบอดีในกลุ่มชาวจีนในเมืองอู่ฮั่นในปี 2019 ที่มีการรายงานออกมานั้นจะ ‘สำคัญอย่างยิ่ง’ ในการทำความเข้าใจต้นกำเนิดของไวรัส
นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่บทความในวารสาร Science เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเขียนโดย เคิร์คโฮฟ, ไรอัน และ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก โดยบทความตอนหนึ่งระบุว่า SAGO จะมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ WHO ในการพัฒนากรอบการทำงาน เพื่อกำหนดการศึกษาที่ครอบคลุมเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเชื้อโรคอุบัติใหม่ รวมถึงเชื้อโควิด ซึ่งข้อมูลต้นกำเนิดดังกล่าวจะมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนานโยบายและเสริมสร้างความพร้อม เพื่อลดความเป็นไปได้ของเหตุการณ์การแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนในอนาคต ตลอดจนโอกาสที่เหตุดังกล่าวจะกลายมาเป็นการระบาดใหญ่
บทความดังกล่าวบอกด้วยว่าสมมติฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเชื้อโควิดทั้งหมดต้องได้รับการตรวจสอบต่อไป โดยเน้นย้ำถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เปิดกว้างและโปร่งใส นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการค้นพบล่าสุดเกี่ยวกับศักยภาพในการแพร่กระจายของเชื้อโควิดจากสัตว์สู่คน เช่น การศึกษาโคโรนาไวรัสคล้ายซาร์สที่แพร่ระบาดในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การสุ่มตัวอย่างทางชีวภาพก่อนระบาดทั่วโลก หรือการศึกษาสัตว์ป่าที่ขายในตลาดในและรอบๆ เมืองอู่ฮั่น และกล่าวว่ายังคงจำเป็นต้องมีการสอบสวนกรณีการติดเชื้อที่ทราบในช่วงแรก รวมถึงกรณีต้องสงสัยในจีนก่อนเดือนธันวาคม 2019 โดยละเอียดด้วย
ด้าน เฉินซู ทูตจีนประจำสหประชาชาติในกรุงเจนีวา กล่าวในอีกการแถลงข่าวว่า ข้อสรุปจากปฏิบัติการร่วมของ WHO-จีน ที่ผ่านมานั้นค่อนข้างชัดเจนแล้ว และกล่าวด้วยว่า “ได้เวลาส่งทีมศึกษาไปที่อื่นแล้ว” เพราะมีทีมในระดับนานาชาติถูกส่งมาที่จีนถึง 2 ครั้งแล้ว
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.science.org/doi/10.1126/science.abm7796
- https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/who-says-it-may-be-last-chance-find-covid-origins-2021-10-13/
- https://www.aljazeera.com/news/2021/10/14/the-last-chance-who-set-up-team-to-track-covid-19-origins
- https://www.theguardian.com/world/2021/oct/14/last-chance-who-reveals-new-team-to-investigate-covid-origins