องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งเป็นไวรัสกลายพันธุ์รุ่นใหม่ที่แตกย่อยมาจากโอมิครอน จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าเวอร์ชันดั้งเดิม แม้ว่าข้อมูลเบื้องต้นจะแสดงให้เห็นว่าสามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าเดิมก็ตาม
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ทีมนักวิจัยของ WHO และจากสถาบันชั้นนำอื่นๆ ทั่วโลกพบว่า โดยทั่วไปแล้วโอมิครอนไม่ได้ทำให้คนป่วยหนักรุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลตา แม้ว่าจะแพร่กระจายได้เร็วกว่าไวรัสสายพันธุ์ก่อนๆ และสามารถหลบเลี่ยงการป้องกันภูมิคุ้มกันบางอย่างจากวัคซีนได้
มาเรีย แวน เคอร์คอฟ (Maria Van Kerkhove) หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าการค้นพบครั้งนี้น่าจะเป็นข้อเท็จจริงยืนยันคุณสมบัติและผลกระทบของสายพันธุ์ซิสเตอร์โอมิครอน ที่นักวิทยาศาตร์ติดฉลากว่า BA.2 ขณะที่สายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้คือ BA.1
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ย้ำว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ค้นพบเท่านั้น ยังคงต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยต่อไป ซึ่งครอบคลุมถึงการค้นหาวัคซีนที่จะช่วยป้องกันไวรัสโควิดทุกสายพันธุ์ได้อย่างสมบูรณ์
โดยขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังศึกษาการแพร่เชื้อของสายพันธุ์ BA.2 นี้อย่างใกล้ชิด และจะเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมหากมีความคืบหน้าใดๆ ก่อนเตือนให้ทั่วโลกยังคงต้องเฝ้าระวังวงจรการระบาดของไวรัสโควิด ที่ดูเหมือนว่าจะยังคงเดินหน้าวิวัฒนาการตัวมันเองอย่างไม่หยุดยั้งอยู่ในเวลานี้
อ้างอิง: