กลายเป็นเรื่องน่าประหลาดใจของคนกรุงและของคนไทยทั้งประเทศ เพราะเมื่อ 2 เดือนที่แล้วมีการประกาศตามหาว่าใครเป็นเจ้าของ ‘อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ’ ยิ่งอ่านถึงตรงนี้แล้วนึกภาพตาม หลายคนยิ่งสงสัยว่าแล้วที่ผ่านมาใครเป็นผู้ดูแลจัดการอนุสาวรีย์แห่งนี้ เพราะมีการใช้งานในพิธีรำลึกถึงทหารหาญที่ผ่านการรบในวันทหารผ่านศึก แถมยังมีการประดับไฟสวยงามในโอกาสต่างๆ ด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานการปรับปรุงพัฒนาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการชุดนี้ โดยมีผู้บริหารสำนักผังเมือง สำนักการโยธา สำนักงานเขตราชเทวี สำนักงานเขตพระนคร และผู้แทนจากกรมศิลปากร เข้าร่วม
ที่ประชุมวันนั้นได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นพิจารณาว่าสรุปแล้วหน่วยงานใดเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรมศิลปากรชี้แจงว่าตนเองไม่ใช่เจ้าของ มีอำนาจเพียงอนุมัติเห็นชอบในการบูรณะ
ขณะที่ทางกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นสำนักการโยธาหรือสำนักงานเขตก็แจ้งว่าไม่เคยมีหนังสือมอบให้กรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ
ที่ประชุมในวันนี้มีมติให้มีการสืบหาเจ้าของที่แท้จริงให้ได้ก่อน โดยมอบหมายให้สำนักผังเมืองเป็นเจ้าภาพสืบค้นหาผู้ดูแลหรือเจ้าของอนุสาวรีย์ต่างๆ และให้สอบถามไปยังกรมธนารักษ์ เนื่องจากเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมว่าเมื่อสร้างอนุสาวรีย์ต่างๆ แล้วได้มอบให้หน่วยงานใดรับผิดชอบดูแล ซึ่งที่ผ่านมาตามประวัติการบำรุงรักษาอนุสาวรีย์พบว่าหลายแห่งกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการ แต่กลับไม่มีประวัติครุภัณฑ์ระบุว่าเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร
หลังการประชุมในวันนั้น ผ่านมาแล้ว 2 เดือน ปรากฏว่ายังไม่สามารถระบุได้ว่าหน่วยงานใดเป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กันยายน นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่าเรื่องใครเป็นเจ้าของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้นต้องไปสืบค้นประวัติและเอกสารต่างๆ เมื่อช่วงตอนสร้างอนุสาวรีย์ก่อนว่าหลังจากสร้างเสร็จแล้วมีการมอบอำนาจให้ใครหรือหน่วยงานใดเป็นผู้ดูแลหรือไม่ กรมศิลปากรจะมอบอนุสาวรีย์ดังกล่าวให้ กทม. เลยคงไม่สามารถทำได้ ต้องขอเวลาในการศึกษาเอกสารข้อมูลหลักฐานต่างๆ ก่อนว่ามีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจในการดูแลหรือไม่
สำหรับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 คน ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน รัฐบาลมีมติให้สร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้เป็น ‘รัฐปิยานุสสรณ์’ โดยให้หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล เป็นผู้ออกแบบ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการปั้นหล่อรูปวีรชน มีรัฐพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484
ภาพ: วิกิพิเดีย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: