×

ผู้เชี่ยวชาญจาก WHO ชี้ Mpox ไม่ระบาดหนักเหมือนโควิด ยืนยันรู้วิธีรับมือ

21.08.2024
  • LOADING...
mpox

ดร.ฮานส์ คลูก ผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฝีดาษวานร (Mpox) หรือเอ็มพ็อกซ์ โดยยืนยันว่า ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเอ็มพ็อกซ์ต่อประชากรทั่วไปนั้นอยู่ในระดับต่ำ 

 

โดยเขาปฏิเสธการเปรียบเทียบความรุนแรงของการแพร่ระบาดระหว่างเอ็มพ็อกซ์กับโควิด เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญทราบดีว่าต้องควบคุมการแพร่ระบาดอย่างไร และรู้ว่าอะไรคือขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อขจัดการแพร่ระบาดให้หมดสิ้น 

 

“เราจะล็อกดาวน์ภูมิภาคยุโรปอีกหรือไม่ มันจะเป็นเหมือนโควิดหรือไม่ คำตอบคือ ‘ไม่’ อย่างชัดเจน” 

 

ก่อนหน้านี้ WHO ได้ประกาศให้เอ็มพ็อกซ์เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี หลังพบกรณีการระบาดรุนแรงของไวรัสเอ็มพ็อกซ์สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า Clade 1b ในหลายพื้นที่ทางตอนกลางและตะวันออกของทวีปแอฟริกา 

 

โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่กว่า 90% พบในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 15,600 คน และเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 540 คน 

 

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังพบกรณีการระบาดของเอ็มพ็อกซ์สายพันธุ์ Clade 1b ในสวีเดน ซึ่งถือเป็นประเทศแรกนอกแอฟริกา 

 

สำหรับการแพร่ระบาดของเอ็มพ็อกซ์ในปี 2022 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยนั้น เกิดจากไวรัสเอ็มพ็อกซ์สายพันธุ์ Clade 2 ที่รุนแรงน้อยกว่า 

 

ดร.คลูก มั่นใจว่าการแพร่ระบาดของเอ็มพ็อกซ์สามารถยับยั้งได้ด้วยการร่วมมือกันของทุกประเทศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันวางระบบควบคุมและยับยั้งการระบาดของเอ็มพ็อกซ์ในตอนนี้

 

“เราจะเลือกวางระบบเพื่อควบคุมและกำจัดเชื้อเอ็มพ็อกซ์ทั่วโลก หรือเราจะเข้าสู่วัฏจักรแห่งความตื่นตระหนกอีกครั้ง จากนั้นก็ละเลยมัน”

 

ไทย-อาร์เจนตินา พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ

 

กรณีการระบาดของเอ็มพ็อกซ์ยังเป็นที่จับตามองว่าจะลุกลามไปยังทวีปอื่นๆ อีกหรือไม่ 

 

โดยล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขของไทยเผยแพร่ประกาศเตรียมแถลงข่าวช่วงบ่ายวันนี้ (21 สิงหาคม) กรณีพบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อเอ็มพ็อกซ์สายพันธุ์ Clade 1 รายแรกในไทย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา 

 

ขณะที่ในลาตินอเมริกา มีรายงานจากโฆษกกระทรวงสาธารณสุขอาร์เจนตินาว่า จะดำเนินการตรวจสอบเรือสินค้าลำหนึ่งที่ลอยลำในแม่น้ำนอกเมืองซานลอเรนโซ ทางตอนใต้ของประเทศ หลังจากพบว่าลูกเรือ 1 คนมีอาการของโรคเอ็มพ็อกซ์ ซึ่งทางการจะส่งเจ้าหน้าที่แพทย์เข้าไปตรวจสอบลูกเรือรายนี้ และหากพบว่าติดเชื้อ จะมีการกักตัวทั้งเรือและลูกเรือไว้เพื่อการรักษาและเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัส

 

สนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม

 

สำหรับในยุโรป ปัจจุบันยังมีรายงานผู้ติดเชื้อเอ็มพ็อกซ์สายพันธุ์ Clade 2 เดือนละประมาณ 100 คน โดย ดร.คลูก แนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในแอฟริกาพิจารณารับการฉีดวัคซีน และสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมทั้งในยุโรปและแอฟริกา

 

ปัจจุบัน WHO แนะนำให้ใช้วัคซีน MVA-BN หรือ LC16 หรือวัคซีน ACAM2000 ในการต้านทานไวรัสเอ็มพ็อกซ์หากไม่มีวัคซีนตัวอื่น โดยวัคซีนเหล่านี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งปัจจุบันถูกกำจัดไปแล้ว 

 

โดย Bavarian Nordic ในเดนมาร์ก ผู้ผลิตวัคซีน MVA-BN มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนได้ 10 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2025 และสามารถจัดส่งวัคซีนได้ถึง 2 ล้านโดสในปีนี้ ส่วนวัคซีน LC16 ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นในนามของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นมีสำรองอยู่จำนวนมาก

 

ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แห่งแอฟริกา เปิดเผยว่า มีแผนชัดเจนในการจัดหาวัคซีนจำนวน 10 ล้านโดสสำหรับใช้ในแอฟริกา

 

โดยคองโกและไนจีเรียจะเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้ประชาชนตั้งแต่สัปดาห์หน้า ซึ่งบริษัท Bavarian Nordic จะถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีน MVA-BN ให้กับผู้ผลิตวัคซีนในแอฟริกา เพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนได้ในประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณและลดต้นทุน

 

ภาพ: NIAID / Handout via Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising