×

หลี่เฉียงคือใคร? จากม้านอกสายตา สู่เบอร์ 2 รองจากสีจิ้นผิง และนายกฯ จีนคนใหม่

29.10.2022
  • LOADING...

การก้าวสู่เบอร์ 2 ในคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) หรือคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนของ ‘หลี่เฉียง’ ถือเป็นการหักปากกาเซียน เพราะผู้เชี่ยวชาญต่างคาดกันว่า วังหยาง เบอร์ 4 ของโปลิตบูโรชุดเดิม ซึ่งเป็นประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติคนปัจจุบัน จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปต่อจากหลี่เค่อเฉียงที่กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่ง

 

เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งเบอร์ 2 หรือเบอร์ 3 ในกลุ่มผู้นำพรรคที่มีอยู่ 7 คน จะได้ก้าวสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ผู้มีคุณสมบัติที่จะได้เป็นนายกฯ ได้ก็มักจะต้องผ่านประสบการณ์การเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาก่อน ซึ่งวังหยาง มีคุณสมบัติครบ เพราะเคยเป็นรองนายกฯ สมัยที่หลี่เค่อเฉียงครองตำแหน่งสมัยแรก 

 

ธรรมเนียมพรรคอีกข้อที่ยึดถือสืบต่อกันมานาน คือเรื่องอายุ แม้ไม่ได้ลงเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม ธรรมเนียมนี้เรียกว่า 七上八下(ชีซ่างปาเซี่ย หรือที่แปลเป็นไทยว่า 7 ขึ้นไป 8 ลงมา)อันหมายถึง อายุ 68 ปี สามารถไปต่อในตำแหน่งระดับผู้นำของพรรคได้ แต่ถ้ามีอายุ 68 ปีในสมัยประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ถือว่าต้องเกษียณ ดังนั้น วังหยาง ซึ่งอายุ 68 ปี ในช่วงที่มีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคครั้งที่ 20 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป จึงมีสิทธิ์ที่จะไปต่อในตำแหน่งระดับผู้นำพรรคได้ 

 

และธรรมเนียมหลักข้อสุดท้ายสำหรับคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจีนได้นั้น คือจะต้องมีประสบการณ์การทำงานในระดับภูมิภาคในภาพกว้าง ก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจระดับมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแก้ปัญหาปากท้อง ขจัดความยากจน ซึ่ง วัง หยาง ก็มีประสบการณ์ที่โดดเด่น ตั้งแต่เมื่อครั้งพัฒนาพื้นที่ในฉงชิ่งให้มีศักยภาพสูง ในช่วงปี 2005-2007 สมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคฯ ประจำฉงชิ่ง นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ปฏิรูปการนำเสนอของสื่อ ให้นำเสนอเรื่องราวระดับรากหญ้า ของเกษตรกร แรงงานผู้ยากไร้มากขึ้น ไม่ใช่นำเสนอแต่เรื่องราวหรือกิจกรรมการออกสื่อของผู้นำของฉงชิ่งเพียงอย่างเดียว

 

แต่ใดๆ ล้วนไม่แน่นอน โดยเฉพาะห้วงความคิดของคน เมื่อวังหยางหลุดรายชื่อคณะกรรมการกลางพรรคชุดที่ 20 ต่อด้วยการเกิดภาพเหตุการณ์ไม่คาดคิดในวันปิดประชุมสมัชชาใหญ่พรรคครั้งที่ 20 เมื่อหูจิ่นเทา อดีตประธานาธิบดีจีน และเป็นหัวเรือใหญ่ของ ‘ถวนพ่าย’ สันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์จีน ถูกเชิญออกจากหอประชุม ท่ามกลางความฉงนและการคาดเดาไปต่างๆ นานา (สำนักข่าวซินหัวระบุในภายหลังว่า หูจิ่นเทาถูกพาออกจากที่ประชุมเพราะไม่สบาย) ทำให้ฉากทัศน์ที่ว่าสีจิ้นผิงพยายามกระชับอำนาจนั้นยิ่งเด่นชัดมากขึ้น

 

เพราะทั้งหลี่เค่อเฉียงและวังหยางต่างก็อยู่ในกลุ่มนี้ และรู้ดีกันว่า พวกเขากลายเป็นขั้วตรงข้ามของสีจิ้นผิง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีความพยายามในการคานอำนาจ สร้างสมดุลอำนาจภายในพรรคระหว่างสองขั้วการเมืองนี้มาโดยตลอด

 

นอกจากวังหยางแล้ว อีกหนึ่งตัวเต็งในตำแหน่งนายกฯ ก่อนหน้านี้คือ หูชุนหัว ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และมีประสบการณ์การทำงานระดับเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑล ในการแก้ไขปัญหาความยากจนจนเป็นที่ประจักษ์ในหลายพื้นที่ของจีน รวมทั้งพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์อย่างมองโกเลียใน (Inner Mongolia) 

 

หูชุนหัวจึงเป็นอีกคนที่มีคุณสมบัติเพราะเป็นคนที่ทำงานในพื้นที่ภูมิภาคระดับกว้าง และได้รับฉายา ‘Little Hu’ เนื่องจากมีเส้นทางการทำงานคล้ายกับหูจิ่นเทา อดีตผู้นำจีนรุ่นที่ 4 และเป็นนักปฏิรูปเศรษฐกิจคนสำคัญของกลุ่มถวนพ่าย ที่ยังคงได้รับเลือกเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการกลางพรรคชุดที่ 20 ซึ่งทำให้มีกระแสคาดการณ์ว่า เขามีโอกาสจะได้รับไม้ต่อจากหลี่เค่อเฉียงด้วยเช่นกัน  

 

แต่ผลออกมาคือ หูชุนหัว ไม่มีชื่อแม้กระทั่งในคณะกรรมการกรมการเมือง หรือโปลิตบูโร (ที่มีสมาชิก 24 คน) ด้วยซ้ำ 

 

เมื่อวังหยางและหูชุนหัวหลุดโผไป ประกอบกับเหตุการณ์หูจิ่นเทาด้วยแล้ว ทำให้กระแสคาดการณ์ว่าสีจิ้นผิงต้องการกระชับอำนาจและรวบรวมคนสนิทใกล้ชิดมาเป็น 6 ขุนพลเคียงข้างก็ยิ่งโหมกระพือหนักขึ้น

 

หลี่เฉียงเป็นใคร? 

และแล้วคนที่ขึ้นมาเป็นเบอร์สองใน 7 คนของคณะกรรมการถาวรประจำโปลิตบูโร กลายเป็น ‘หลี่เฉียง’ เขาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ ผู้กุมบังเหียนเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ทว่าเส้นทางการเมืองของเขาน่าจะมีรอยด่างพร้อย จากกรณีจัดการโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในมหานครเซี่ยงไฮ้ไม่อยู่จนระบาดหนัก จนต้องล็อกดาวน์นานกว่า 2 เดือน ผลคือเศรษฐกิจกระทบหนัก ซึ่งดูได้จากการขยายตัวของ GDP จีน ไตรมาสที่ 2 ดิ่งลงจากขยายตัวเกือบ 5% ในไตรมาสแรกของปี เหลือแค่ 0.4% 

 

และในเมื่อมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการค้าจีนที่ใหญ่ที่สุดของจีนด้วยแล้ว จึงทำให้เขาต้องมีส่วนรับผิดชอบไปเต็มๆ  

 

หนึ่งในความเข้มงวดของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ของรัฐบาล ไม่ใช่แค่การระดมตรวจโควิดทั่วเมือง หรือการล็อกดาวน์ หรือจำกัดการใช้ชีวิตของประชาชนพลเมืองเท่านั้น แต่เข้มข้นในแง่ของ ‘การลงดาบ’ หรือสั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนถึงระดับสูงของเมืองและมณฑล เพื่อ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ด้วย

 

ทว่ากรณีของหลี่เฉียงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เขาไม่โดนลงดาบเลย ซ้ำยังมีเสียงสนับสนุนเขาจากในจีนด้วยว่า “การระบาดในเซี่ยงไฮ้ระลอกใหม่ ปี 2022 มาจากสายพันธุ์โอมิครอน ที่จีนมีข้อมูลในมือน้อยมาก ดังนั้นหลี่เฉียงจึงดำเนินการได้ตามที่ควรจะเป็นแล้ว” ประกอบกับผลงานการป้องกันและควบคุมโควิดของเขาในช่วงสองปีแรกก็เป็นไปในทิศทางบวก ด้วยตัวเลขติดเชื้อและเสียชีวิตต่ำกว่าในหลายพื้นที่ของจีน และมีการเทียบกับเมืองระดับเศรษฐกิจระดับโลก ที่จีนมักเอามาเทียบเสมอ (แน่นอนว่าหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา)  

 

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่ค่อยมีใครคิดว่าหลี่เฉียงจะโดดเด่นถึงขั้นก้าวขึ้นมาสู่ว่าที่นายกรัฐมนตรีดังที่เห็นตอนนี้

 

มันจึงเป็นเหตุการณ์กลับตาลปัตร จากหนทางการเมืองที่แทบจะ ‘มืดมน’ กลายเป็น ‘สว่างไสว’ เลยทีเดียว

 

ทำไม หลี่เฉียง กลับมาสู่เส้นทางอันเจิดจรัสในยุคสมัยที่ 3 ของสีจิ้นผิง 

 

แนวทางการฟื้นฟูแกนหลักของสังคมนิยมภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง เป้าหมายหลักของสีจิ้นผิง 

หากวิเคราะห์นโยบายต่างๆ ของจีน ที่ริเริ่มโดยสีจิ้นผิง และมันสมองของพรรค กุนซือข้างกายผู้นำจีนหลายยุคหลายสมัยอย่างหวังฮู่หนิง อย่างเช่น นโยบาย ‘เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน’ นโยบายสังคมนิยมอันมีอัตลักษณ์เฉพาะแบบจีน นโยบายฟื้นฟูชาติจีน จะพบว่า ล้วนเป็นนโยบายที่เป็นไปในแนวทางแกนหลักของแนวคิดสังคมนิยม และความเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ ที่สีจิ้นผิงต้องการฟื้นฟูขึ้น เพราะตัวเขาเองรู้สึกว่าในพรรคกำลังเปลี่ยนไป อาจถูกความเป็นทุนนิยมเข้ามากลืนได้ ดั่งที่โลกตะวันตกต่างบอกว่า หลายสิบปีมานี้จีนอยู่ในรูปแบบทุนนิยมแบบจีน 

 

การที่สีจิ้นผิงจะดำเนินนโยบายข้างต้นได้ ขุนพลข้างกายต้องมีแนวคิดไปในทางเดียวกับเขา และหากดูคนที่มีโปรไฟล์ทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ และเป็นคนที่พร้อมจะทำตามแนวทางของสีจิ้นผิงได้นั้น ก็มีหลี่เฉียงที่โดดเด่นตามเงื่อนไขนี้ 

 

โดยหลี่เฉียงใกล้ชิดกับสีจิ้นผิงมาเป็นเวลานาน แม้หนึ่งในเส้นทางการทำงานการเมืองของหลี่เฉียงจะเริ่มจากสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่ว่ากันว่าเขาคือ คนที่อยู่ฝ่ายสีจิ้นผิง และจงรักภักดีอย่างมาก โดยทำงานใกล้ชิดกับสีจิ้นผิงเมื่อครั้งอยู่มณฑลเจ้อเจียง  

 

เส้นทางสายผู้นำของหลี่เฉียงอาจถูกวางไว้ตั้งแต่วันแรกที่สีจิ้นผิงก้าวสู่ผู้นำสูงสุดของจีน 

เส้นทางทางการเมืองของหลี่เฉียงเฉิดฉายขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่สีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรค และประธานาธิบดีจีนสมัยแรก โดยเขาก้าวเป็นผู้ว่าการมณฑลเจ้อเจียง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลเจียงซู และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ พื้นที่ที่เป็นเสมือนแหล่งบ่มเพาะผู้นำระดับสูงของจีน เรียกได้ว่ามีการปูทางไว้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกปรือฝีมือทางด้านพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ ‘ไม่ใช่การแก้จน พัฒนาพื้นที่แร้นแค้น เหมือนกับในอดีต’ หากแต่เป็น ‘การพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพื่อให้จีนสู้กับนานาชาติได้’

 

สาเหตุที่วิเคราะห์ข้างต้น เพราะเจ้อเจียง เจียงซู และเซี่ยงไฮ้ ล้วนเป็นพื้นที่ติดต่อกัน และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจีนในขณะนี้ โดยเป็นเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) โดยผลงานชิ้นโบแดง ก็คือการพัฒนาเขต YRD ให้เปิดกว้างมากขึ้น

 

ตรงตามนโยบายเศรษฐกิจของสีจิ้นผิง เน้นพึ่งพาตนเอง ขณะเดียวกันก็รู้เท่าทันโลก โดยเฉพาะอเมริกา 

หลังจากบ่มเพาะฝึกปรือฝีมือทางด้านธุรกิจ ทั้งจากการทำงานในพื้นที่ YRD และสำเร็จการศึกษาปริญญาโทบริหารธุรกิจสำหรับผู้นำระดับสูง (Exectuive MBA) จากโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์ประจำคณะกรรมการกลางพรรค (Party School of the CPC Central Committee) และปริญญาโทบริหารธุรกิจอีกใบจาก Hong Kong Polytechnic University ทำให้เขามีความรู้ทางด้านบริหารธุรกิจ ประกอบกับแนวความคิดสังคมนิยมที่บ่มเพาะในโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้เขามีแนวความคิดเปิดกว้างและผสมผสานทั้งโลกสมัยใหม่และไม่ทิ้งแกนหลักคอมมิวนิสต์ เป็นไปตามที่สีจิ้นผิงอยากได้

 

หลี่เฉียงดำเนินนโยบายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาที่มหานครเซี่ยงไฮ้และเขตเศรษฐกิจ YRD โดยดึงดูดให้ Tesla แบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกมาตั้งโรงงานระดับเมกะแฟกทอรีแห่งแรกในจีนที่เซี่ยงไฮ้ได้สำเร็จ เมื่อปลายปี 2019 หลังจีนเพิ่งผ่านพ้นความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสงครามการค้าจีนและอเมริกา และกำลังเข้าสู่ช่วงที่โควิดระบาดในปี 2020

 

ผลของการเข้าไปสร้างโรงงาน Tesla ที่เซี่ยงไฮ้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกระตุ้นการพัฒนายานยนต์ในจีน อย่างเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา โรงงานเซี่ยงไฮ้ผลิตและส่งรถยนต์ EV ออกไปจากโรงงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 80,000 คัน 

 

นอกจาก Tesla หลี่เฉียงยังช่วยจีนก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง และไม่ต้องกลัวอเมริกาแบนอีกต่อไป นั่นคือ การส่งเสริมการพัฒนาบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป และโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงอื่นๆ ในเซี่ยงไฮ้

 

จากผลงานของเขา หลี่เฉียงได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำระดับสูงหัวก้าวหน้า มีแนวคิดสมัยใหม่ และเข้าถึงง่าย ตรงนี้ไม่ได้มีการยกย่องแค่ในฝั่งจีนเท่านั้น แต่สำนักข่าวตะวันตกก็รายงานประเด็นนี้เช่นกัน 

 

แม้จีนจะสร้างจุดยืน ‘พึ่งพาตนเอง’ แต่จีนกำลังทำให้โลกเห็นว่า ต้องการร่วมมือกับทุกฝ่าย และยึดสันติวิธี ไม่ต้องการสร้างโลกขั้วเดียว หรือแบ่งฝักฝ่าย แม้จะเป็นคู่แข่งตัวฉกาจอย่างอเมริกา การวางตัวเบอร์สองรองจากสีจิ้นผิง ว่าที่นายกฯ คนต่อไป และดูแลเศรษฐกิจและขับเคลื่อนนโยบายของสีจิ้นผิง จึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันอเมริกา ขณะเดียวกันก็เป็นคนที่แสดงจุดยืนว่า พร้อมร่วมมือกับอเมริกา (ให้โลกได้เห็น)  

 

หลี่เฉียง คือคนคนนั้น เขาเคยออกมาเรียกร้องให้เกิดการร่วมมือระหว่างจีนและอเมริกามากขึ้น อย่างเช่นเมื่อครั้งติดตามสีจิ้นผิงไปเยือนอเมริกาเมื่อปี 2015

 

จีนตั้งมั่น ‘ดำเนินนโยบายจีนเดียว คัดค้านการเป็นเอกราชของไต้หวันอย่างเด็ดขาด’ วางหมากให้ไต้หวันซึมซับนโยบายจีนเดียวและหนึ่งประเทศ สองระบบ โดยดูฮ่องกงเป็นตัวอย่าง

 

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทันได้สังเกต คือ 6 ขุนพลเคียงข้างสีจิ้นผิงชุดใหม่ โดยส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับฮ่องกงโดยตรง 

 

ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน แต่มีการปกครองที่ไม่เหมือนกับจีน ดังที่จีนระบุว่า หนึ่งประเทศสองระบบ ซึ่งพยายามจะใช้ตรงนี้กับไต้หวันด้วยเช่นกัน ดังนั้น การจะทำให้ไต้หวันอินกับคำว่า ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ ได้ จีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง สมัยที่ 3 จึงเร่งเครื่องอีกครั้งที่จะทำให้ไต้หวันและโลกได้เห็นว่าหนึ่งประเทศสองระบบสามารถเกิดขึ้นได้อย่างดี โดยใช้ฮ่องกงเป็นตัวอย่าง 

 

การใช้ขุนพลที่เกี่ยวข้องกับฮ่องกงจึงเป็นหนึ่งกลยุทธ์หลักที่สีจิ้นผิงวางหมากไว้ และ แน่นอนว่า หลี่เฉียง มีประสบการณ์จากฮ่องกงโดยตรง ทั้งจบ MBA จากมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำของฮ่องกงอย่าง Hong Kong Polytechnic University โดย South China Morning Post (SCMP) สื่อเอกชนชื่อดัง ได้ลงบทสัมภาษณ์ของ พริสซิลลา เหลา อดีตอาจารย์ของเขาที่มหาวิทยาลัยและยังเป็นอดีตผู้แทนฮ่องกงในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) ที่ยืนยันว่า หลี่เฉียงจะเป็นนายกรัฐมนตรีจีนที่ดีได้ เพราะเป็นคนติดดิน มีวิสัยทัศน์ไกล และคุ้นเคยกับฮ่องกงอย่างดี 

 

SCMP สื่อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ภาครัฐจีนยังนำเสนออีกว่า เฉินจงหนี และซือหรงไหว สองตัวแทนของฮ่องในการเข้าร่วมประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน และเคยประชุมร่วมกับหลี่เฉียงที่เจ้อเจียงและเซี่ยงไฮ้ ยกย่องว่า หลี่เฉียงเป็นคนขยัน มีความเป็นมิตร และมีประสบการณ์การดูแลนโยบายเศรษฐกิจของพื้นที่เศรษฐกิจจีน อย่างเจ้อเจียงและเซี่ยงไฮ้มาหลายปี 

 

ถึงยุคที่สีจิ้นผิงแสดงจุดยืน ‘พรรคคอมมิวนิสต์ต้องการเอกภาพ’ ผ่านการตัดสินใจ ‘ไม่ยึดติดขนบธรรมเนียม หากเป็นคนที่เหมาะสม และเป็นหนึ่งเดียวได้’

 

ตามที่ปูพื้นมาตั้งแต่ต้น ธรรมเนียมสำคัญของการก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจีน ประกอบไปด้วย

 

  • อายุไม่เกิน 67 ปี ในช่วงสมัยประชุมสมัชชาใหญ่ฯ
  • มีประสบการณ์การดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
  • และมีประสบการณ์การทำงานในภูมิภาคระดับกว้าง โดยเฉพาะเรื่องของปากท้องและการแก้จน การพัฒนาพื้นที่ยากจนให้เติบโต เนื่องจากเป็นงานที่เด่นชัด 

 

ถ้าดูตามกรณีของหลี่เฉียง สิ่งที่จะขัดธรรมเนียมมากที่สุดเห็นจะเป็นหลี่เฉียงไม่เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาก่อน และถ้าถามว่าเขาเคยมีประสบการณ์การทำงานในภูมิภาคระดับกว้างหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า “มี” เขาเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มาหลายมณฑล แต่จุดบอดใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญมักวิจารณ์ว่าคุณสมบัติเขาอาจยังไม่พอ ก็เพราะเขายังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองมากนักในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่แก้จน แต่นั่นมันอาจจะ OUT ไปแล้วในยุคใหม่ของจีนภายใต้สีจิ้นผิง  

 

สีจิ้นผิงยุคนี้ต้องการคนที่ปฏิรูป แต่เป็นการปฏิรูปให้เท่าทันโลก ไม่ใช่แค่การแก้จน  ด้วยประสบการณ์ของหลี่เฉียงที่เน้นหนักการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยอย่างยิ่งทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว ทำให้สีจิ้นผิงไว้วางใจให้เป็นเบอร์สอง 

 

อย่างไรก็ตาม จีนจะก้าวข้ามธรรมเนียมที่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากคนที่เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร?

 

ดูเหมือนสีจิ้นผิงจะเตรียมพร้อมปฏิรูปขนบธรรมเนียมของพรรคมาก่อนหน้านี้ โดยจีนผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เปิดช่องให้คณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สามารถแต่งตั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีได้ ทำให้คาดว่าในการประชุมสมัยหน้า คงมีการแต่งตั้งหลี่เฉียงเป็นรองนายกรัฐมนตรีก่อน และจากนั้นจึงแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปในช่วงเดือนมีนาคม 2023 

 

ภาพ: Lintao Zhang / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising