×

อนามัยโลกหวั่น ‘สึนามิ’ โอไมครอน-เดลตา ย้ำอย่าเพิ่งด่วนสรุปสายพันธุ์ใหม่ไม่อันตราย

30.12.2021
  • LOADING...
โอไมครอน-เดลตา

ดร.ทีโดร อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดในปัจจุบันว่า ทั้งสองสายพันธุ์ที่พบคือ เดลตาและโอไมครอน จะทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นในวงกว้างประหนึ่งคลื่นยักษ์สึนามิ แต่โดยส่วนตัวก็หวังว่านานาประเทศทั่วโลกจะเร่งวางแผนรับมือ เพื่อให้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดกลายเป็นอดีต

 

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกยังใช้โอกาสนี้เตือนรัฐบาลทั่วโลกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าเพิ่งชะล่าใจเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอนที่เบื้องต้นพบว่ามีอาการไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับตัวกลายพันธุ์อื่นๆ โดยย้ำว่า ยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปและต้องมีการศึกษาลงลึกในรายละเอียด เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิดในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ก็เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่อาจดูเบาไวรัสโควิดได้

 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ประชากรทุกคนทั่วโลกได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งจากสมาชิกองค์กรอนามัยโลก 194 ประเทศ มีถึง 92 ประเทศที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศภายในปี 2021 นี้ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายของประเทศที่พลาดเป้าฉีดวัคซีนจะตั้งเป้าเร่งการฉีดวัคซีนให้คนในประเทศให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ภายในเดือนมิถุนายนปี 2022

 

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจาก WHO พบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกในเวลานี้เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 11 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 4.99 ล้านคนแล้ว โดยที่สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ยุโรปเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ และแอฟริกาเพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอัตราเฉลี่ยทั่วโลกพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ค่อยๆ ขยับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา

 

ขณะเดียวกัน ทีมนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนกับทางสถานีวิทยุ BBC Radio 4 เมื่อวานนี้ (29 ธันวาคม) ระบุชัดว่า โอไมครอนมีความแตกต่างจากตัวไวรัสโควิดที่ระบาดอยู่ก่อนหน้า จนแทบจะเรียกได้ว่าโอไมครอนไม่ใช่โรคติดต่อแบบเดียวกันกับโควิดที่ระบาดอยู่ก่อนหน้า

 

ทั้งนี้ จอห์น เบลล์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตของรัฐบาลอังกฤษ กล่าวว่า พิจารณาจากอาการที่รุนแรงน้อยกว่าและใช้เวลารักษาที่โรงพยาบาลน้อยกว่าคือไม่เกิน 3 วัน แถมการรักษาในบางรายก็แทบไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงอาจกล่าวได้ว่า สายพันธุ์โอไมครอนไม่เหมือนไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาที่ทั่วโลกต้องเผชิญในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

 

ยิ่งไปกว่านั้น เบลล์ยังชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิดในกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจนครบโดสแล้วอยู่ในระดับที่น้อยมาก ดังนั้นการฉีดวัคซีนยังคงเป็นหัวใจหลักในการพยายามจัดการกับการระบาดของไวรัสโควิด

 

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์จากออกซ์ฟอร์ดยังแสดงความหวังว่า ภาพเหตุการณ์ที่เลวร้ายอย่างห้องไอซียูเต็มหรือคนป่วยล้นโรงพยาบาล จะเป็นเพียงภาพประวัติศาสตร์ให้จดจำ และไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีก

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising