×

ผู้เชี่ยวชาญ WHO เตือน ตัวเลขจริงยอดติดโควิด-19 ในอินเดีย อาจทะลุ 500 ล้านคน มากกว่าที่รายงาน 30 เท่า

28.04.2021
  • LOADING...

ดร.โสมญา สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNN เตือนว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอินเดียอาจเลวร้ายกว่าที่คิด และชี้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ ณ ปัจจุบันที่มีการรายงานอยู่ที่ราว 17.9 ล้านคนนั้น (ข้อมูลจาก worldometers.info) อาจเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 30 เท่า 

 

ดร.โสมญา ชี้ถึงปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อจริงต่ำกว่าที่มีรายงานว่า ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตรวจเชื้อที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันทางการอินเดียได้เพิ่มจำนวนการตรวจหาเชื้อเป็นวันละเกือบ 2 ล้านราย แต่ก็ยังไม่มากพอ เนื่องจากอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศยังมีเพียงประมาณ 15% และในบางเมืองใหญ่ เช่น กรุงนิวเดลี มีประมาณ 30% หรือสูงกว่า

 

“นั่นหมายความว่ามีประชาชนอีกมากที่นั่น ซึ่งติดเชื้อและยังตรวจไม่พบ เพียงเพราะศักยภาพในการตรวจเชื้อ” เธอกล่าว

 

สาเหตุที่ทำให้การตรวจเชื้อไม่มากพอที่จะสะท้อนถึงอัตราผู้ติดเชื้อจริงในอินเดีย เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อาจไม่รู้ตัวว่าพวกเขาติดเชื้อ อีกทั้งยังไม่เคยได้รับการตรวจ หรือการตรวจเชื้อที่น้อยกว่าในพื้นที่ยากไร้ เพราะผู้ยากไร้จำนวนมาก ไม่สามารถหยุดงานเพื่อไปตรวจเชื้อหรือเดินทางไปศูนย์ตรวจเชื้อได้

 

ดร.โสมญา ยังชี้ถึงผลสำรวจทั่วประเทศที่ผ่านมา ซึ่งอ้างอิงจากการตรวจสารภูมิต้านทานในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อดูว่าใครติดเชื้อ ซึ่งช่วยในการตรวจสอบจำนวนผู้ติดเชื้อจริงได้ดีกว่า โดยพบว่ามีผู้ติดเชื้อสูงกว่าที่รายงานมากถึงอย่างน้อย 20 ถึง 30 เท่า และหากนำมาคำนวณเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจนถึงเมื่อวานนี้ (27 เมษายน) จะประเมินได้ว่า ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในอินเดียตอนนี้ อาจมีมากกว่า 529 ล้านรายแล้ว

 

ทั้งนี้ อินเดียรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 350,000 รายภายในวันเดียว เมื่อวันจันทร์ (26 เมษายน) ที่ผ่านมา และเป็นวันที่ 5 แล้ว ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่าวันละ 300,000 ราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตก็สูงเป็นสถิติใหม่ มากกว่า 2,800 รายในวันเดียว

 

ซึ่ง ดร.โสมญา ยังชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่จำนวนผู้เสียชีวิตที่ทางการอินเดียเปิดเผยออกมาอาจต่ำกว่าความเป็นจริง

 

“ตามความเห็นของฉัน ใช่ มันเป็นไปได้ว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยเกินไป หลายประเทศมีการกลับไปดูตัวเลขผู้เสียชีวิตย้อนหลังและแก้ไขให้ถูกต้อง กรณีเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในบางรัฐของอินเดีย ระหว่างการแพร่ระบาดระลอกแรก พวกเขาย้อนกลับดูตัวเลขผู้เสียชีวิตและแก้ไขมัน ฉันคาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงนั้นมากกว่านี้ แต่มันยากที่จะดูว่ามากแค่ไหน” ดร.โสมญากล่าว

 

ขณะที่การรายงานผู้เสียชีวิตต่ำกว่าความเป็นจริงนั้นเกิดขึ้นในอินเดียมาตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโรคโควิด-19 สาเหตุหนึ่งมาจากการสนับสนุนงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ ทำให้ในภาวะปกติจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่ขึ้นทะเบียนในระบบของรัฐเพียง 86% และในจำนวนนี้มีเพียง 22% ที่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตโดยได้รับการรับรองจากแพทย์ 

 

ที่ผ่านมาชาวอินเดียส่วนมากมักจะเสียชีวิตภายในบ้านหรือสถานที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ทำให้ไม่ค่อยมีแพทย์เดินทางไปตรวจสอบและรับรองสาเหตุการเสียชีวิต 

 

โดยปัญหานี้ยิ่งสาหัสขึ้นเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง และโรงพยาบาลต่างๆ ไม่มีพื้นที่รองรับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่น้อยต้องนอนรอการรักษาและเสียชีวิตภายในบ้าน 

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการรวบรวมข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของรัฐที่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งทุกปัญหาที่กล่าวมายิ่งเลวร้ายมากขึ้นในพื้นที่ยากไร้ ขณะที่ปัจจัยเหล่านี้ ยิ่งสะท้อนความเป็นไปได้ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินเดียนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก

 

ภรมาร์ มูเคอร์จี (Bhramar Mukherjee) ศาสตราจารย์ด้านชีวสถิติและระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลการประเมิน คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินเดีย อาจต่ำกว่าความเป็นจริงราว 2 ถึง 5 เท่า ซึ่งหากเปรียบเทียบจากยอดรวมผู้เสียชีวิตที่มีรายงาน ณ ปัจจุบันที่ราว 198,000 ราย จะพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอินเดียอาจสูงถึงเกือบ 990,000 ราย

 

“ความท้าทายที่แท้จริงในการระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 คือการที่สาเหตุการเสียชีวิตมักถูกกำหนดให้เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคไต หรือโรคหัวใจ” มูเคอร์จี กล่าว และชี้ว่าความคลาดเคลื่อนของสาเหตุการเสียชีวิต ทำให้หลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร มีการคำนวณยอดผู้เสียชีวิตส่วนเกินไว้ด้วย

 

ภาพ: Amal KS / Hindustan Times via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X