×

WHO ส่งหนังสือถึง ‘อนุทิน’ ยกไทยเป็นแชมป์ด้านสาธารณสุข ชี้เป็นประเทศแรกของโลกที่เปิดให้หน่วยงานสากลประเมิน

โดย THE STANDARD TEAM
13.11.2022
  • LOADING...
อนุทิน ชาญวีรกูล

วันนี้ (13 พฤศจิกายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับหนังสือจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดย นพ.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า ขอบคุณประเทศไทย ในฐานะแชมเปียน ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุข ไปจนถึงการวางระบบดูแลสุขภาพประชาชนแบบถ้วนหน้า (Universal Health and Preparedness Review: UHPR) ไว้อย่างยอดเยี่ยม 

 

นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลายมาเป็นประเทศนำร่องด้านการวางระบบสุขภาพที่น่าชื่นชม นี่คือหนึ่งในประเทศแรกของโลก และเป็นประเทศแรกของอาเซียน ที่เปิดกว้างให้หน่วยงานสากลเข้ามาประเมิน เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการยกระบบสาธารณสุขทั่วโลก สำหรับจุดเด่นของประเทศไทย ซึ่งเราได้รับรายงานมาจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ประกอบไปด้วย  

 

  1. ระบบการประสานงานด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง 

 

  1. ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยอดเยี่ยม บนรากฐานที่เข็มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ 

 

  1. การสนับสนุนงานโดยผู้บริหารระดับต่างๆ และความทุ่มเทอุทิศตนของคนทำงานในภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมกันปฏิบัติภารกิจ ทุกอย่างขับเคลื่อนสอดประสานกัน เพื่อรักษาชีวิตประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ไปจนถึงการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ในการพัฒนาระบบสาธารณสุข รวมไปถึงการวางกฎ ตีกรอบด้านภาษี เพื่อดูแลเรื่องการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

 

ในปีนี้ การประชุมด้านสุขภาพ สำนักงานเลขาธิการ ให้ความสำคัญในเรื่องของการทบทวน การเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (UHPR) ที่ทุกประเทศสมาชิกต่างให้ความสำคัญ เพื่อร่วมกันออกแบบการพัฒนางานสาธารณสุข สำหรับการเตรียมพร้อมเรื่องสุขภาพ ไปจนถึงการรับมือเหตุไม่คาดฝัน และความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์สาธารณสุข ทั้งหมดได้มาโดยการเรียนรู้จากประสบการณ์ของไทย และอีก 3 ชาติที่ให้ WHO ได้เข้ามาศึกษาระบบสุขภาพที่

 

“ขอให้ไทยรักษาความเป็นเลิศด้านสาธารณสุขในฐานะของแชมเปียนต่อไป และขอให้ประเทศไทยยังคงร่วมโครงการนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิก WHO ประสบการณ์ใหม่ๆ จากทุกประเทศนำร่องจะส่งต่อถึงประเทศไทยและทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขร่วมกัน” 

 

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวมีข้อความส่วนตัวจากเกเบรเยซุสถึงอนุทินว่า “With Much Gratitude” แปลเป็นไทยว่า “ด้วยความซาบซึ้ง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีของบุคคลทั้งสอง

 

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา WHO เลือกประเทศไทยให้เป็นประเทศต้นแบบลำดับที่ 3 ในการนำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า จากการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่ดี และข้อเสนอแนะระหว่างประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้นจากการจัดกิจกรรมฯ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO และทีมประเทศไทย พบว่าประเทศไทยมีการบริหารจัดการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโควิดเป็นอย่างดี มีความยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามสถานการณ์ และเน้นการปฏิบัติได้จริง 

 

ทั้งนี้ พบปัจจัยสำคัญ คือ 

 

  1. มีการสนับสนุนโดยผู้บริหารระดับสูงที่กำหนดนโยบายประเทศ 

 

  1. ระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งจากการลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่องกว่า 4 ทศวรรษ 

 

  1. มีความร่วมมือเชื่อมต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาคการศึกษา รวมถึง อสม. 

 

  1. มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชน 

 

  1. มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูล
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X