วันนี้ (4 พฤศจิกายน) สุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ว่าจะมีการตั้งกระทู้ถามสด โดยทางพรรคก้าวไกลคาดว่าจะเป็นการตั้งถามเกี่ยวกับเรื่องการจับกุมคุมขังและคุกคาม ประชาชนในพื้นที่ชุมนุม และสำหรับพรรคเพื่อไทยจะมีการตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไป และกรณีประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ตกต่ำและมาตรการประกันราคาข้าวที่เกษตรกรยังคงไม่มีความเชื่อมั่นในมาตรการ แต่ไฮไลต์ของการประชุมคือ วาระการรายงานการปฏิรูปประเทศ และรายงานเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
นอกจากนี้สุทินยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ภายหลังจากการหารือกับทุกฝ่ายที่ผ่านมาว่า ก่อนหน้านี้ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เคยเข้าร่วมคณะกรรมการชุดใดในสภาผู้แทนราษฎรเลยนั้น สุทินกล่าวว่า เนื่องจากคณะกรรมการหลายชุดที่ผ่านมาเป็นคณะกรรมการที่รัฐบาลเข้าไปเป็นเจ้าภาพในการเดินหน้าแก้ปัญหา จึงคิดว่าเป็นคณะกรรมการที่ไม่สมดุล พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงไม่ขอเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ
ขณะเดียวกันการตั้งคณะกรรมการปรองดองและสมานฉันท์ที่จะเกิดขึ้น หากเป็นการตั้งขึ้นโดยความร่วมมือจากทุกฝ่าย พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ
สำหรับกรณีที่ สิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ เห็นควรให้กลไกรัฐสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรเป็นเจ้าภาพในการสรรหาและออกแบบคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์นั้น มองว่าเวทีสภาจะเป็นทางออกของการหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศได้ แต่สภาจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานในหลายด้าน ซึ่งจะต้องเน้นการทำงานแบบเครือข่ายมากยิ่งขึ้นดังนั้นการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ภาคประชาสังคมควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม หากสภาดำเนินการเอง ตนเชื่อมั่นว่าอาจจะยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับดังเช่นที่ผ่านมา
ส่วนเนื้อหาในการตั้งคณะกรรมการ ส่วนตัวมองว่าต้องสุ่มหยิบยกหลากหลายประเด็นเข้าร่วมหารือเพื่อคลี่คลายปัญหาให้กับประเทศ ซึ่งไม่อาจจะเว้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ส่วนสิ่งที่ยังคงกังวลคือ คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์นั้นไม่มีอำนาจในการสั่งการกับหน่วยงานต่างๆ ได้นั้น
นอกจากนี้การระดมความเห็นภายในคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นจะออกมาในลักษณะรูปแบบเดิม คือการรวบรวมความคิดเห็นออกมาในลักษณะรูปเล่ม ส่วนตัวมองว่าไม่ควรที่จะให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ออกมาในลักษณะรูปเล่มในรูปแบบเดิมเท่านั้น ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลการศึกษาและสามารถชี้ถึงความตระหนักรู้ทางสังคมได้
อย่างไรก็ตาม สุทินยังกล่าวถึงการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ยังจะต้องกลับไปร่วมหารือในประเด็นต่างๆ อีกครั้ง ทั้งประเด็นเรื่องระยะเวลาในการอภิปราย และกำหนดเวลาในการลงมติ ก่อนที่จะนำสู่การบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และกรณีที่หากเกิดเหตุการณ์ที่รัฐสภาคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะมีผลอย่างไร ซึ่งหากเกิดการคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริง จะเปรียบเสมือน Killing Time หรือเวลาการสังหาร และแน่นอนว่าหากผลออกมาเป็นเช่นนั้นต้องมีประชาชนผิดหวัง และเมื่อมีความผิดหวังเกิดขึ้น จะเกิดอะไรตามมาส่วนตัวก็ไม่อาจคาดเดาได้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า