หากไม่นับตลาดหุ้นฮ่องกง จีน รวมทั้งหุ้นไทย อาจพูดได้ว่าปีที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในปีที่ดีของการลงทุนในหุ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่เติบโตได้อย่างโดดเด่น
สำหรับปี 2024 ผู้คนในแวดวงเศรษฐกิจและการลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกอาจเติบโตชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจอันดับหนึ่งอย่างสหรัฐฯ ทำให้หลายคนตั้งคำถามขึ้นมาว่า บรรยากาศการลงทุนในปีนี้จะเป็นอย่างไร แล้วตลาดหุ้นใดที่จะเป็นดาวเด่นในปีนี้
‘บัวหลวง’ ชูหุ้นเวียดนามเด่นสุดปีนี้
รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศ บล.บัวหลวง กล่าวว่า หากให้เรียงลำดับตลาดหุ้นที่จะเป็นดาวเด่นในปีนี้ อันดับ 1 คือหุ้นเวียดนาม ตามมาด้วยหุ้นสหรัฐฯ ส่วนอันดับ 3 คือหุ้นฮ่องกงและหุ้นไทย
หุ้นเวียดนามได้แรงส่งจากการลดดอกเบี้ย 4 ครั้งเมื่อปีก่อน ครั้งละ 0.5% ส่วนปีนี้ยังมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมอีก 4 ข้อ ได้แก่
- การลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
- การยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
- การเติบโตของนักท่องเที่ยว หลังจากเมื่อปีก่อนมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 11 ล้านคน มากกว่าเป้าหมายที่ 8 ล้านคน
- การย้ายฐานการผลิตของบริษัทจีน
รัฐศรัณย์กล่าวว่า เศรษฐกิจเวียดนามน่าจะขยายตัวได้ 6% ในปีนี้ ขณะที่การอ่อนค่าของเงินดองผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของเวียดนามลดลงต่อเนื่องมาเหลือ 5.3% ต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี จากที่เคยสูงถึง 8% เมื่อต้นปี 2566
“เมื่อฝากเงินแล้วได้ดอกเบี้ยลดลง คนจะเริ่มโยกย้ายเงินไปลงทุนมากขึ้น” รัฐศรัณย์กล่าว พร้อมแนะนำให้นักลงทุนโฟกัสไปที่ธุรกิจอย่างนิคมอุตสาหกรรม การบริโภคในประเทศ และเทคโนโลยี
ปัจจุบันหุ้นเวียดนามซื้อขายที่ P/E ราว 12 เท่า ขณะที่กำไรมีแนวโน้มจะเติบโตถึง 18%
หุ้นสหรัฐฯ ยังน่าสนใจแม้พุ่ง 40% เมื่อปีก่อน
รัฐศรัณย์กล่าวต่อว่า ปี 2566 เป็นปีทองของหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี NASDAQ พุ่งขึ้นกว่า 40% ด้วยแรงหนุนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหุ้นที่อิงกับ AI
แม้ปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสชะลอลงจากที่เติบโต 2.4% เมื่อปีก่อน มาเหลือ 1.2-1.3% แต่การจ้างงานยังแข็งแกร่ง สะท้อนจากตัวเลขอัตราการว่างงานต่ำกว่า 4% ต่ำสุดในรอบหลาย 10 ปี ส่วนเงินเฟ้อลดลงจาก 9% มาเหลือ 3-4%
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินกันว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ จะยังเติบโตได้ 12% ในปีนี้ แต่ด้วยราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นมาต่อเนื่อง ทำให้ตลาดมีโอกาสพักฐานในไตรมาสก่อน ก่อนจะฟื้นตัวชัดเจนช่วงครึ่งปีหลัง
อีกหนึ่งปัจจัยหนุนของหุ้นสหรัฐฯ คือการเลือกตั้งประธานาธิบดี จากสถิติที่ผ่านมาชี้ว่าในปีที่มีการเลือกตั้ง หลังจากเลือกตั้งแล้วเสร็จ อีก 1 ปีหลังจากนั้นดัชนี S&P 500 จะปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 10-12%
ธีมการลงทุนของหุ้นสหรัฐฯ ในปีนี้ ดาวเด่นยังคงเป็น AI แต่น่าจะเป็นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ หลังจากยอดขายชิปฟื้นตัว 8 เดือนติดต่อกัน หรืออย่างธุรกิจการแพทย์ที่นำ AI เข้าไปเสริม อย่างบริษัท Intuitive Surgical (ISRG) ที่เป็นผู้พัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัด
หุ้น ‘ฮ่องกง-ไทย’ มีโอกาสหลังรั้งท้ายโลกเมื่อปีก่อน
หุ้นฮ่องกงและหุ้นไทยเป็นตลาดที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้นักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง เชื่อว่าความเสี่ยงที่ทั้งสองตลาดนี้จะร่วงลงไปรุนแรงหลังจากนี้มีไม่มากแล้ว
“หุ้นฮ่องกงมี P/E ลดลงมาเหลือเพียง 7-8 เท่า ขณะที่กำไรปีนี้มีแนวโน้มจะเติบโต 13%” รัฐศรัณย์กล่าว
ส่วนหุ้นไทยน่าสนใจมากขึ้นเช่นกันหลังจากร่วงลงมาหนักเมื่อปีก่อน แต่การลงทุนยังต้องเลือกเป็นรายกลุ่ม ส่วนตัวมองว่าหุ้นที่น่าสนใจคือกลุ่มที่ล้อไปกับธีม ESG เช่น AMATA, BLA และ THCOM
‘กสิกรไทย’ แนะสร้างสมดุลพอร์ต ลงหุ้นสหรัฐฯ มากสุด
หากเป็นนักลงทุนที่เน้นจัดพอร์ตเพื่อสร้างสมดุลทั้งในแง่กำไรและความเสี่ยง มทินา วัชรวราทร ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย บอกว่ายังจำเป็นต้องมีหุ้นสหรัฐฯ ในสัดส่วนมากที่สุดราว 50%
แต่หากมองหาตลาดที่มีแนวโน้มจะโดดเด่นในปีนี้ เชื่อว่าคำตอบจะเป็นอินเดียและเวียดนาม
ความเสี่ยงของหุ้นสหรัฐฯ คือการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะไม่ลดดอกเบี้ยเร็วแบบที่ตลาดคาดหวัง ทำให้หุ้นสหรัฐฯ อาจปรับฐานเพื่อปรับจูนความคาดหวังกับความเป็นจริงให้สอดคล้องกัน
ส่วนหุ้นอินเดียน่าสนใจจากความสามารถในการทำกำไรที่ดีต่อเนื่อง ในปีนี้คาดว่าจะเห็นกำไรเติบโตในระดับ 15% และการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอินเดียจะเป็นโอกาสของการลงทุนระยะยาว
ด้านหุ้นเวียดนามมีความน่าสนใจจากการที่มูลค่ายังถูก ขณะที่เศรษฐกิจยังเติบโตได้ สะท้อนจากตัวเลขการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
หุ้นญี่ปุ่นร้อนแรงสุดหลังเปิดปี 2567
3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นหลักที่ปรับตัวขึ้นได้ร้อนแรงที่สุดคือหุ้นญี่ปุ่น จากการจัดอันดับของ investing.com พบว่าดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวขึ้น 7.5% มากกว่าอันดับ 2 อย่างดัชนี BIST 100 ของตุรกี
เมื่อสัปดาห์ก่อน นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นญี่ปุ่นสูงถึง 9.56 แสนล้านเยน หรือราว 6.5 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นการซื้อสุทธิรายสัปดาห์มากที่สุดนับแต่เดือนมิถุนายนปีก่อน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยได้เทขายหุ้นญี่ปุ่นออกมา 1.07 ล้านล้านเยน มากที่สุดนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2556
การพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องของหุ้นญี่ปุ่น 28% ในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้ดัชนี Nikkei 225 ทำจุดสูงสุดในรอบ 34 ปี หนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยน นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และการยกระดับธรรมาภิบาลของบริษัทญี่ปุ่น
อ้างอิง: