ในช่วงกลางเดือนกันยายน-ตุลาคม SCB Chief Investment Office (CIO) วิเคราะห์ 3 ประเด็นหลักที่มีผลต่อแนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก (Global Asset Allocation) ประกอบด้วย
- ผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เริ่มแตกต่างตามความรวดเร็วในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets: DMs) และกำลังพัฒนา (Emerging Markets: EMs) โดยเฉพาะการส่งสัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve: Fed) ที่จะเริ่มทำ QE Tapering ภายในปี 2021 นี้
- ภูมิคุ้มกันของ EMs ประเทศ ต่อความผันผวนของตลาดการเงินโลก
- บทเรียนต่อตลาดการเงินโลกจากการทำ QE Taper ของ Fed ในปี 2013 และความแตกต่างของการทำ QE Taper ในรอบนี้
SCB CIO วิเคราะห์ธนาคารกลางหลัก เริ่มส่งสัญญาณ QE Taper โดยสัญญาณจาก Fed จะชัดเจนขึ้นจากการประชุมเดือนกันยายน และน่าจะประกาศรายละเอียดและเริ่มทำในการประชุมเดือนพฤศจิกายน คาดความผันผวนในตลาดการเงินโลกสูงขึ้น แต่ไม่รุนแรงเท่ากับในปี 2013 โดยในรายละเอียด SCB CIO คาดว่า Fed จะส่งสัญญาณ QE Taper ที่ต่อเนื่องและชัดเจนขึ้นในการประชุมวันที่ 21-22 กันยายนนี้ ซึ่งต่างจากเมื่อปี 2013 เป็นการประกาศที่สร้างความตกใจให้ตลาด โดยในรอบนี้ทั้งผู้ร่วมตลาดและ Fed ล้วนมีบทเรียนจากปี 2013
นอกจากนั้น Fed ได้ส่งสัญญาณหรือนวดตลาดล่วงหน้า ทำให้ตลาดเริ่มมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งสัญญาณชัดเจนในการแยกการตัดสินใจประเด็น QE Taper (คาดว่าจะประกาศรายละเอียดและเริ่มทำในช่วงการประชุมของ Fed วันที่ 2-3 พฤศจิกายน) และการขึ้นดอกเบี้ย (ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งแรกปี 2023) ออกจากกัน ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรน่าจะเพิ่มขึ้นแบบช้าๆ ซึ่งน่าจะทำให้ผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกไม่รุนแรงเท่ากับการทำ QE Taper ในปี 2013
โดยนอกจาก Fed แล้ว ล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณลดการเข้าเข้าสินทรัพย์อย่างช้าๆ ภายใต้โครงการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) ซึ่งจะเริ่มในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่จะยังคงการทำ QE ภายใต้โครงการ Asset Purchase Program (APP) ไว้ต่อ การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 กันยายน ไม่น่าจะทำให้ภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงมากนัก ในขณะที่การเลือกตั้งสภาล่างและนายกคนใหม่ของญี่ปุ่นน่าจะตามมาด้วยนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นไล่ตามประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ให้ทัน
สำหรับแนวโน้มตลาดการเงินโลก SCB CIO ประเมินการเพิ่มขึ้นแบบช้าๆ ของ US Treasury Yields จะทำให้หุ้นกลุ่ม Quality Growth ในสหรัฐฯ และยุโรป ยังน่าสนใจ
ส่วนประเทศในกลุ่ม EMs ที่ฟื้นช้า ต้องระวังความผันผวนในตลาดหุ้นและค่าเงิน โดยบทเรียนจากปี 2013 บ่งชี้ว่า ในตลาดหุ้นทั่วโลก ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาดอื่นทั้งในแง่การปรับตัวลดลงและระยะเวลาฟื้นตัว ตามมาด้วยตลาดหุ้นยุโรป ไต้หวัน เกาหลีใต้ โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากปรับขึ้นไปอย่างมีนัยในช่วงก่อนหน้า แต่ก็สามารถทยอยฟื้นตัวกลับมาได้ ในขณะที่กลุ่มประเทศ EM เช่น จีน ไทย อินโดนีเซีย บราซิล ตุรกี และแอฟริกาใต้ ได้รับผลกระทบหนักต่อทั้งตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และค่าเงิน
โดยในช่วงปลายปี 2021 คาดว่าอัตราผลตอบแทน US Treasury จะอยู่ที่ประมาณ 1.6% ซึ่งเป็นการขยับขึ้นแบบช้าๆ และน่าจะส่งผลกระทบจำกัดต่อหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่ผลประกอบการยังเติบโตต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันยังคงกังวลต่อค่าเงินและตลาดหุ้นกลุ่มประเทศ EMs ซึ่งแม้เสถียรภาพด้านต่างประเทศจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2013 แต่ปัญหาด้านภูมิคุ้มกันของ EMs ส่วนใหญ่อยู่ที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำและฟื้นช้า โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจถูกกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้าและโควิด
สำหรับกลยุทธ์ในการจัดพอร์ตการลงทุนสินทรัพย์ทั่วโลก (Asset Allocation Portfolio Strategy) SCB CIO ยังคงมีมุมมองบวกต่อหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป พร้อมกับปรับมุมมองตลาดหุ้นญี่ปุ่นเป็น Slightly Positive และปรับมุมมองหุ้นจีน H-Share และไทยลงเป็น Slightly Negative เราเชื่อในภาวะตลาดผันผวนจะมีโอกาสดีในการเข้ามาสะสมหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Quality Growth ที่ยังมีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง
นอกจากนี้เรามีมุมมองที่ดีขึ้นต่อหุ้นญี่ปุ่น จากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่, ราคาหุ้นที่ยังไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาด DM อื่น และผลกระทบที่น่าจะจำกัดจาก Fed QE Taper
จากความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ภาครัฐที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและอาจส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท เราปรับมุมมองหุ้นจีน H-Share ลงเป็น Slightly Negative สำหรับตลาด A-Share เรายังคงมุมมอง Neutral จากนโยบายมุ่งเน้นเติบโตจากภายในประเทศของจีน เช่น นโยบาย Dual Circulation และ Common Prosperity
ในตลาดหุ้น ASEAN เรายังคงชอบเวียดนาม แม้เศรษฐกิจและผลประกอบการจะชะลอลงในช่วงไตรมาส 3/2021 แต่ผลกระทบได้รับ Priced-In ไปบ้างแล้ว โดยในระยะข้างหน้า น่าจะมีการฟื้นตัวได้จากการฟื้นตัวของภาคส่งออกตามเศรษฐกิจโลกและความคืบหน้าในการนำเข้าวัคซีนที่ค่อนข้างดี ทำให้การเปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาได้
นอกจากนี้เรายังได้ปรับมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยลงเป็น Slightly Negative จากความตึงตัวของ Valuation และผลกระทบจาก QE Tapering ต่อเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า
ด้วยอัตราผลตอบแทนแท้จริงของ US Treasury ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ความผันผวนในตลาดหุ้นสูงขึ้น เราคงมุมมองต่อทองคำขึ้นเป็น Neutral และคงมุมมองต่อน้ำมันที่ Slightly Negative จากปัจจัยอุปสงค์ที่น่าจะได้รับแรงกดดันจากการเปิดเมืองที่ช้ากว่าคาด โดยเฉพาะจากประเทศ EMs
ส่วนมุมมองต่อ DM และ Asian REITs เราคงไว้ที่ Neutral โดย DM REITs แม้มีการเปิดเมืองต่อเนื่อง แต่ Valuation ค่อนข้างตึงตัว ในขณะที่ Asian REITs แม้ราคาถูก แต่ผลกระทบของสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มยืดเยื้อ