×

ส่องสกุลเงินเอเชียใด ‘อ่อนค่า’ มากที่สุดในปีนี้

18.04.2024
  • LOADING...

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณว่าอาจต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้นานกว่าที่คาด และสถานการณ์ความขัดแย้งที่ร้อนระอุในตะวันออกกลาง สกุลเงินตลาดเกิดใหม่เอเชีย (Asia EM) ต่างๆ แห่อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน

 

โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์น่าตกใจในหลายสกุลเงิน ได้แก่

 

  • เยนญี่ปุ่น ที่ทะลุ 154 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 34 ปี
  • รูปีอินเดีย ที่แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
  • ดอลลาร์ไต้หวัน ที่อ่อนค่าสุดในรอบ 8 ปี
  • รูเปียห์อินโดนีเซีย ที่อ่อนค่าหลุด 16,000 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกตั้งแต่ปี 2022
  • วอนเกาหลีใต้ ที่อ่อนค่าหลุด 1,400 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าหนักสุดในรอบเกือบ 4 ปี

 

โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (YTD) จนถึงวันที่ 18 เมษายน จะเห็นว่าเยนญี่ปุ่นนับเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุด รองลงมาคือบาทไทย

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บาทไทยเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.78 บาทต่อดอลลาร์ จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ นับว่าอ่อนค่าไปราว 7% ตั้งแต่ต้นปี ยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลวธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำย่อตัวลงบ้าง เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างยังคงต้องการซื้อทองคำอยู่ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังคงร้อนแรง รวมถึงความต้องการถือทองคำเพื่อเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อสูง

 

อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.85-36.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลให้เงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้

 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทั้งความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ย Fed (ซึ่งจะคลี่คลายลงได้ เมื่อตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ที่ต้องสะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้น) รวมถึงความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังคงเผชิญแรงกดดันจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และโฟลวธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.90 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X