×

Circle K หมายมั่น ‘กลืน’ 7-Eleven สร้างอาณาจักรร้านสะดวกซื้ออันดับ 1 ในสหรัฐฯ แต่ไม่ว่าดีลสำเร็จหรือไม่ การควบรวมก็จะมีต่อไปในอนาคต

10.11.2024
  • LOADING...
Circle K

Circle K เจ้าของร้านสะดวกซื้ออันดับ 2 ของสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าควบรวมกิจการครั้งใหญ่ หวังซื้อกิจการ 7-Eleven ร้านสะดวกซื้ออันดับ 1 ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ว่าดีลนี้จะสำเร็จหรือไม่ แนวโน้มการควบรวมกิจการในธุรกิจร้านสะดวกซื้อของสหรัฐฯ จะยังคงร้อนแรงต่อไปในอนาคต

 

ปัจจุบันตลาดร้านสะดวกซื้อในสหรัฐฯ ยังคงกระจัดกระจาย โดย 10 แบรนด์ใหญ่สุดครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันไม่ถึง 1 ใน 5 แม้ช่วงที่ผ่านมาการควบรวมกิจการจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์นี้อาจกำลังจะเปลี่ยนไป

 

ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ร้านค้าแบบเจ้าของเดียว (Mom-and-Pop Stores) ครองตลาดร้านสะดวกซื้อ และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2017 จากข้อมูลของ National Association of Convenience Stores หลังจากนั้นสัดส่วนของร้านค้าแบบเจ้าของเดียวเริ่มลดลง เนื่องจากแบรนด์ใหญ่ๆ เดินหน้าควบรวมกิจการ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันร้านค้าแบบเจ้าของเดียวยังคงมีสัดส่วนอยู่ราว 60% ของร้านสะดวกซื้อทั้งหมดในสหรัฐฯ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

Alimentation Couche-Tard บริษัทแม่ของ Circle K ต้องการเร่งกระบวนการควบรวมกิจการ ด้วยการเข้าซื้อกิจการ Seven & i Holdings เจ้าของ 7-Eleven ในญี่ปุ่น แต่ Seven & i ปฏิเสธข้อเสนอแรก โดยมองว่าราคาต่ำเกินไป และยังไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธข้อเสนอที่ 2 ที่ปรับราคาสูงขึ้น โดยในงานประชุมนักลงทุน Seven & i นำเสนอแผนการเติบโตของบริษัทโดยลำพัง

 

แม้ว่า 7-Eleven และ Couche-Tard จะควบรวมกิจการกัน ส่วนแบ่งตลาดรวมกันก็ยังอยู่ที่ราว 12% แต่หน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ น่าจะยังคงจับตามองดีลนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภคและเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง

 

Anthony Bonadio นักวิเคราะห์จาก Wells Fargo ระบุว่า ร้าน Circle K ประมาณครึ่งหนึ่ง มีร้าน 7-Eleven อยู่ในรัศมี 3 ไมล์

 

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (FTC) ก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ Seven & i เข้าซื้อกิจการ Speedway ในปี 2021 โดยทั้งสองบริษัทบรรลุข้อตกลงในการขายร้านค้า 293 แห่ง จากจำนวนร้านค้ารวมกันราว 13,000 แห่ง ปัจจุบัน 7-Eleven มีร้านค้าประมาณ 12,600 แห่งในสหรัฐฯ

 

การควบรวมกิจการเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเติบโตของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ เนื่องจากการสร้างสถานีบริการน้ำมันใหม่ๆ ต้องใช้เวลาและขั้นตอนการขออนุญาตมากมาย ขณะที่การเพิ่มรายได้จากสาขาเดิม (Same-Store Sales Growth) ในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงและอาหารก็ทำได้ยาก ธุรกิจน้ำมันมีกำไรต่ำ และมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว

 

ส่วนอาหารมีศักยภาพมากกว่า และมีกำไรสูงกว่า แต่มีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ เช่น Casey’s General Stores ที่โดดเด่นด้วยพิซซ่า และ Wawa ที่ขึ้นชื่อเรื่องแซนด์วิช อย่างไรก็ตาม 7-Eleven อาจได้เปรียบ Couche-Tard ในด้านนี้ จากประสบการณ์และความสำเร็จของธุรกิจอาหารในญี่ปุ่น

 

Seven & i ประกาศในงานประชุมนักลงทุนว่า การควบรวมกิจการจะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเติบโตในสหรัฐฯ โดยบริษัทเข้าซื้อร้านค้ามากกว่า 7,000 แห่งในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2006 บริษัทมีเงินสดประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.36 แสนล้านบาท) และยินดีจ่ายในราคาสูง เช่น การเข้าซื้อ Speedway และ Sunoco

 

เช่นเดียวกับ Couche-Tard ที่การควบรวมกิจการเป็นส่วนหนึ่งของ DNA โดยร้านค้ากว่า 70% มาจากการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งแม้ Couche-Tard จะมีเงินสดในมือประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.38 หมื่นล้านบาท) แต่ระบุว่า สามารถใช้จ่ายได้ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.36 แสนล้านบาท) ในการเข้าซื้อกิจการ

 

หาก Couche-Tard ไม่สามารถซื้อกิจการ Seven & i ได้ ยักษ์ใหญ่ทั้งสองรายนี้ก็น่าจะเดินหน้าควบรวมกิจการกับแบรนด์อื่นๆ ต่อไป ซึ่งอาจต้องจ่ายเงินในราคาสูงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโต

 

ปัจจุบันนอกจาก Couche-Tard และ Seven & i แล้ว มีเพียง 6 แบรนด์ที่มีร้านค้ามากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูง Seven & i ตั้งเป้าเพิ่มรายได้เกือบ 70% ภายในปี 2030 ขณะที่ Couche-Tard ตั้งเป้าเพิ่มกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย มากกว่า 70% ภายในปี 2028

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising