หนังใหม่ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี เรื่อง ‘Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า’ นำแสดงโดย เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ (เจนนิษฐ์) และแพรวา สุธรรมพงษ์ (มิวสิค) สอง ‘ไอดอล’ แห่งวง BNK48 บอกเล่าเรื่องราวที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เลือกมอง ด้านหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องของเด็กสาวสองคนผู้ซึ่งชีวิตของพวกเธอมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ และสถานการณ์เบื้องหน้า ตลอดจนหนทางที่ต้องก้าวเดินต่อไปล้วนแล้วน่าอึดอัดคับข้อง กระทั่งขมุกขมัว เปรียบไปแล้วก็เหมือนเรือลำน้อยล่องลอยอยู่ท่ามกลางความไม่แน่ไม่นอนของทะเลในฤดูมรสุม และดูเหมือนสิ่งยึดเหนี่ยวทั้งหลาย (ครอบครัว, เพื่อน, สิ่งศักดิ์สิทธิ์) ก็ช่างง่อนแง่นคลอนแคลน หรือพึ่งพาไม่ได้จริงๆจังๆ
อีกด้านหนึ่ง หนังดูเหมือนชวนให้คนดูตรึกตรองในแง่มุมที่ไม่ได้เป็นเรื่องจำเพาะของสองสาวอีกต่อไป ทว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทุกคน พูดง่ายๆ หนังของคงเดชทำให้มโนนึกของพวกเราวนเวียนอยู่กับคำถามที่ว่า เราสามารถควบคุมสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัวได้มากน้อยแค่ไหน เพียงใด ชีวิตที่พวกเราดำเนินอยู่นี้เป็นของเรา หรืออยู่ภายใต้การกำหนดกฎเกณฑ์หรือการครอบงำของใครหรืออะไรกันแน่ หนังเหมือนกับเปิดช่องให้ผู้ชมได้ลากเส้นประได้ตามใจชอบ และใครจะพาหนังเรื่องนี้ไปสู่น่านน้ำของการวิพากษ์วิจารณ์สังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์บ้านเมืองในช่วงปัจจุบัน ที่น่าอึดอัดเหมือนอยู่ในชั้นอากาศบางเบาแบบสตราโทสเฟียร์ (ซึ่งบังเอิญว่าเป็นชื่อของวงดนตรีสมัครเล่นของสาวๆ ในเรื่อง) ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เลื่อนลอย หรือเรื่องที่ทึกทักไปเอง
นอกจากนี้ แง่มุมปลีกย่อยที่หนังสอดแทรก และเชื่อมโยงกับความเป็นไปรอบด้าน-ก็คือ มีช่องว่างอันมหึมาระหว่างคนสองเจเนอเรชัน คนเป็นพ่อต่อไม่ติดกับคนเป็นลูก กระทั่งต้องเลิกคุยกัน โลกของเด็กสาวกับโลกของคนเป็นพ่อแม่กลายเป็นโลกคนละใบ และเส้นรอบวงของพวกเขาดูเหมือนจะไม่สามารถทับซ้อนกันได้ด้วยประการทั้งปวง ช่วงหนึ่งของหนัง เด็กสาวสองคนถึงกับรำพึงอย่างเคว้งคว้างถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในภายภาคหน้าของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการไม่มีแบบอย่างที่น่าลอกเลียน
แต่ไม่ว่าหนังเรื่อง Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า จะสะกิดหรือสัมผัสความนึกคิดของผู้ชมในแง่มุมใด นี่เป็นหนังสะเทือนอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบทบาทของการตอกย้ำความจริงที่ว่า ชีวิตเป็นเรื่องน่าผิดหวัง และการมีชีวิตอยู่โดยที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองสามารถเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ และ/หรือ ไม่สามารถหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของอะไรก็ตามที่ใหญ่โตกว่านั้น-ก็ช่างเป็นเรื่องที่ยากลำบากและสุดแสนจะทานทน
อย่างที่หลายคนคงมองเห็นเหมือนๆ กัน ‘หน้าหนัง’ ของ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า ตามที่ถูกนำเสนอผ่านโปสเตอร์หนัง ทีเซอร์ และเทรลเลอร์ ชวนให้สรุปได้ว่านี่เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กสาวสองคนที่เขยิบความสัมพันธ์ไปในระดับที่แนบแน่นและลึกซึ้งกว่าความเป็นเพื่อน ส่วนที่ชวนให้โล่งอกก็คือ หนังไม่ได้พาเนื้อหาไปในทิศทางนั้นอย่างจริงๆ จังๆ หรืออีกนัยหนึ่ง นี่ไม่ใช่หนังที่ว่าด้วยการค้นพบอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละคร และตราบเท่าที่เนื้อหาส่วนนั้นดำรงอยู่ การที่คนทำหนังไม่ได้พยายามตีกรอบความสัมพันธ์ของตัวละคร ก็ยิ่งทำให้การปะปนระหว่างความรักแบบเพื่อนและแบบคนรัก-กลายเป็นส่วนหนึ่งของความอลหม่านสับสนของตัวละครที่อยู่ในช่วงชีวิตแห่งความว้าวุ่น และน่าจะสอดรับกับโลกความเป็นจริงของคนหนุ่มสาวที่การพยายามแยกแยะความเป็นเพื่อนกับความเป็นแฟน-ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมีเส้นแบ่งชัดเจนตายตัวอีกต่อไป
จุดใหญ่ใจความของ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า บอกเล่าเรื่องราวของเด็กสาวที่ชื่อซู (เจนนิษฐ์) ผู้ซึ่งในตอนที่หนังพาผู้ชมไปพบตัวละครนี้ตั้งแต่ฉากแรก เธอตัดสินใจว่าจะไปเรียนต่อ ณ ประเทศฟินแลนด์ ดินแดนที่เธอไม่รู้จักด้วยประการทั้งปวง แต่ว่ากันตามจริง เธอไม่แคร์ด้วยซ้ำ มันอาจจะเป็นประเทศไหนก็ได้ในโลกใบนี้-ตราบเท่าที่มันไม่ใช่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และเนื้อหาถัดจากนี้ก็ค่อยๆ ปะติดปะต่อให้ผู้ชมได้รับรู้ต้นสายปลายเหตุ ตลอดจนนำพาพวกเราไปสำรวจชีวิตของตัวละคร ซึ่งว่าไปแล้ว-ก็ไม่เรียบร้อยเท่าไรนัก (แต่มองในอีกแง่มุมหนึ่ง ใครบ้างล่ะที่มีชีวิตเหมือนผ้าพับไว้) และดูเหมือนว่าการพยายามสะสางโน่นนี่นั่นก่อนการเดินทางไกลจะเป็นภารกิจหลักของตัวละคร และสองในหลายสิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเร่งด่วนได้แก่การคืนดีกับ (อดีต) เพื่อนสนิทที่ชื่อมิว (พัศชนันท์ เจียจิรโชติ หรือ อร BNK48) ซึ่งครั้งหนึ่ง มีสถานะเป็น BFF หรือ Best Friend Forever
อีกหนึ่งได้แก่การหาทางยุติสถานการณ์มึนตึง และเมินเฉยกับผู้เป็นพ่อ (สวมบทโดย ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย ที่ห่างหายไปจากจอเงินเป็นเวลาเนิ่นนาน) ซึ่งไม่เห็นด้วยอย่างชนิดหัวชนฝากับการตัดสินใจของลูกสาว และไม่ยอมทั้งพูดคุยด้วยและเซ็นใบอนุญาตในฐานะผู้ปกครอง ทั้งๆ ที่หนังบอกให้รู้ว่า เด็กสาวบรรลุนิติภาวะแล้ว เลือกตั้งได้แล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง (โดยปริยาย นี่เป็นชีวิตที่อย่างไรเสีย-ก็ต้องมี ‘ผู้ปกครอง’)
แต่ก็นั่นแหละ ปมขัดแย้งจริงๆ ของตัวละครไม่ใช่เรื่องภายนอกเท่ากับสภาวะภายใน และว่าไปแล้ว สถานการณ์ของซูก็คล้ายๆ กับของตัวเอกในหนังของ Lasse Hailstorm เรื่อง What’s Eating Gilbert Grape? ที่ดูเหมือนทุกอย่างรอบตัวฉุดรั้งชายหนุ่มไม่ให้ทำในสิ่งที่มุ่งมาดปรารถนา (อันได้แก่การไปจากเมืองที่ไร้อนาคตแห่งนี้) และเจ้าตัวต้องมีชีวิตเพื่อคนรอบข้างตลอดเวลา ในกรณีของซู ในฐานะพี่สาวคนโต เธอมีกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงของครอบครัวที่ต้องรับช่วงต่อ และน้องชายซึ่งกำลัง ‘งอกงาม’ ในแบบฉบับของตัวเอง-ที่ต้องดูแล อีกทั้งปมติดค้างบางอย่างเกี่ยวกับผู้เป็นแม่-ซึ่งไม่ได้อยู่ตรงนั้นอีกต่อไปแล้ว ก็รบกวนความรู้สึกของเจ้าตัวตลอดเวลา
มากกว่าครึ่งค่อนของหนังเรื่อง Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า อาจจะบอกเล่าเรื่องของซู แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันเกี่ยวข้องกับเบลล์ (แพรวา) BFF คนใหม่ของซู ผู้ซึ่งครอบครัวของเธอแตกฉานซ่านเซ็น และชีวิตของสาวน้อยไม่มีอะไรให้ยึดโยงเท่าใดนัก หรือจะว่าไปแล้ว ซูเป็นเหมือน ‘โลกทั้งใบ’ ของเบลล์ เป็นทั้งเหตุผลและความหมาย และแน่นอนว่าเธอไม่เห็นด้วยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูกับการตัดสินใจไปเมืองนอกของซู และเป็นไปได้อย่างย่ิงว่ายิ่งเวลาผ่านพ้นไป ความรู้สึกก้นบึ้งของเบลล์อธิบายได้ด้วยชื่อภาษาไทยของหนังเรื่องนี้
แต่ไม่ว่าเนื้อหาจะพัฒนาไปเช่นไร ความท้าทายยิ่งยวดของ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า ได้แก่การที่หนังไม่ได้มีสิ่งที่เรียกว่าพล็อตเรื่องที่แต่ละเหตุการณ์กอดเกี่ยวกันด้วยตรรกะและเหตุผลอย่างแน่นหนาและตายตัว และรูปแบบการเดินเรื่องมีลักษณะคล้ายภาพคอลลาจที่เหตุการณ์น้อยใหญ่ค่อยๆ ปะติดปะต่อให้ผู้ชม ไม่เพียงได้รับรู้ถึงความกระอักกระอ่วนของเด็กสาวทั้งสองคน ทว่าค่อยๆ ดำดิ่งลงไปในห้วงคิดคำนึงของตัวละคร ขณะที่สไตล์การกำกับของคงเดชก็ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใครจริงๆ หลายช่วงคลับคล้ายกับจะมุ่งหน้าไปในทิศทางของหนังตลกหน้าตาย แต่จนแล้วจนรอด เขากลับไม่ยอมปล่อยให้คนดูได้ระเบิดเสียงหัวเราะออกมาดังๆ
อีกทั้งหนังยังสอดแทรกไว้ด้วยฉากที่อาจเรียกได้ว่าพิลึกพิลั่น และแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่มันจะไม่ลงเอยอย่างน่าอับอายขายหน้า ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมากลับเหนือความคาดหมายจริงๆ หนึ่งในนั้นได้แก่ฉากทรงเจ้าเข้าผีที่สุดแสนประดักประเดิด ทว่ามันกลับกลายเป็นโมเมนต์ที่ทั้งขึงขังจริงจัง อธิบายบางเรื่องที่น่าฉงนสนเท่ห์ให้กับคนดู รวมถึงยังนำไปสู่จุดหักเหบางอย่างในชีวิตของตัวละคร และทั้งหมดทั้งมวลและรวมถึงอีกหลายส่วนที่ไม่ได้กล่าวถึง-สะท้อนถึงทักษะ ความละเอียด และอ่อนไหวของคนทำหนังที่หาตัวจับได้ยากจริงๆ
และแน่นอน การแสดงที่ราบรื่นและเป็นธรรมชาติของทั้งเจนนิษฐ์และแพรวา พูดได้อย่างไม่ต้องอ้ำอึ้งว่า ความสำเร็จหรือล้มเหลวของหนังอยู่ที่แอ็กติ้งของทั้งสองคนมากกว่าครึ่งค่อน และสองสาวก็ดลบันดาลให้คนดูเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยในตัวละคร หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเธอทำให้ทั้งซูและเบลล์เป็นตัวละครที่น่าสงสารเห็นใจ คนหนึ่งเหมือนตกลงไปในบ่อทรายดูด และกำลังดิ้นรนให้ตัวเองหลุดพ้นทุกวิถีทาง อีกคนหนึ่งกำลังหาทางทะนุถนอมห้วงเวลาที่อาจจะผ่านพ้นไปแล้วและไม่หวนคืน แต่อะไรก็ไม่น่าเศร้าเท่ากับสิ่งที่คนทั้งสองวาดหวังกลับเป็นอะไรที่สวนทางกัน
ส่วนตัวไม่ได้ติดตามบทบาทของคนทั้งสองในฐานะไอดอลของวง BNK48 แต่เชื่อว่าหากเจนนิษฐ์ และแพรวาจะหันมาเอาดีทางด้านการแสดง พรสวรรค์ที่มีอยู่อย่างล้นเหลือของทั้งสองคนก็น่าจะพาพวกเธอไปได้ไกลแสนไกล
‘Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า’ (พ.ศ. 2562)
กำกับ-คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้แสดง-เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ, แพรวา สุธรรมพงษ์, พัศชนันท์ เจียจิรโชติ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์