- วัคซีน Pfizer ที่ได้รับการบริจาคจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งปรับเกณฑ์การจัดสรรให้บุคลากรด่านหน้าตามเสียงเรียกร้องและกระแสกดดันของสังคม ทำท่าว่าจะมีปัญหาขึ้นอีกครั้งหลังหลายโรงพยาบาลออกมาระบุว่าได้รับการจัดสรรน้อยกว่าที่ขอไป
- (8 สิงหาคม) องค์กรแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่น ออกแถลงการณ์ ระบุว่ารายชื่อที่ยื่นไป 1,400 คน ได้รับการจัดสรรวัคซีน Pfizer เพียง 700 โดสเท่านั้น ทั้งที่เป็นการขอตรงตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดทุกประการ
- ช่วงค่ำวันเดียวกัน โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเพจว่า โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ได้รับการจัดสรร Pfizer เพียงร้อยละ 60 ของจำนวนคนที่ส่งรายชื่อไปเท่านั้น ทั้งที่ระบุชื่อ ตำแหน่งหน้าที่ และส่งรายชื่อผู้ที่จะขอฉีดบูสเตอร์ Pfizer ไปไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนบุคลากรทั้งหมดที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลในขณะนี้ด้วยซ้ำ
- “เราอยากจะขอร้องไปยังผู้กำหนดนโยบายว่า ถ้าจะต้องประหยัดวัคซีนเก็บไว้เพื่ออะไรก็ตาม ขอให้ไปใช้ส่วนที่พูดกันว่าจะสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉินหรือส่วนที่กันไว้เพื่อการวิจัยนั้นเถิด ขออย่าได้ทำให้ผู้คนที่รบอยู่ด่านหน้าในทุกโรงพยาบาลต้องรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ และทำให้เกิดความระส่ำระสาย เกิดปัญหาเรื่องขวัญกำลังใจขึ้นในหมู่กำลังรบที่อ่อนล้า และรบมายืดเยื้อยาวนานมากแล้วของเราเลย” เพจโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ระบุ
- วันต่อมา (9 สิงหาคม) นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่าจังหวัดนครราชสีมา ได้รับมอบวัคซีน Pfizer เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 15,800 โดส แต่เนื่องจากว่าบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามีมากกว่า 100,000 คน โดยก่อนหน้านี้ได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3 ไปแล้วบางส่วนประมาณ 14,000 คน ดังนั้นวัคซีน Pfizer ที่ได้รับมาเพียงจำนวน 15,800 โดส จึงถือว่าน้อยมาก ไม่มีพอที่จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจังหวัดได้แน่นอน
- ขณะที่ประเด็นเรื่องความโปร่งใสในการจัดสรรวัคซีน Pfizer เป็นที่พูดถึงอย่างมากในสังคม โดยล่าสุดมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพและข้อความเข้ารับการฉีดวัคซีน Pfizer เข็มที่ 1 ที่โรงพยาบาลเลย ด้วยสิทธิโครงการพิเศษ โดยบัตรบริการปรากฏยศสิบเอก
- นพ.ปรีดา วรหาร นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย (สสจ.เลย) ชี้แจงเรื่องนี้ว่านายทหารคนดังกล่าวคือบุคลากรด่านหน้าที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลค่ายศรีสองรัก มณฑลทหารบกที่ 28 โดยการฉีควัคซีน Pfizer ที่เป็นข่าวคือได้รับ Pfizer เป็นเข็มที่ 1 ซึ่งตรงตามเกณฑ์บุคลากรด่านหน้าที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลยจะได้รับวัคซีน Pfizer 2 เข็ม
- แพทย์ด่านหน้าท่านหนึ่งเปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า หน้างานจริงมีโควตาจัดสรรวัคซีน Pfizer ต่ำกว่าความต้องการที่แจ้งไป โดยเฉพาะต่างจังหวัดส่วนมากจะขาดแคลน อย่างไรก็ตาม โรงเรียนแพทย์ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา ปัญหาจะอยู่ที่ตามโรงพยาบาลต่างจังหวัด เนื่องจากวัคซีน Pfizer มีขั้นตอนตั้งแต่การขนส่ง และการเก็บรักษาที่ค่อนข้างซับซ้อน
- ข้อมูลนี้ตรงกับการแถลงข่าวของ ศบค. วันนี้ (9 สิงหาคม) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงการจัดสรรวัคซีน Pfizer จากการสำรวจตามความต้องการของบุคลากร ขณะนี้กรมควบคุมโรคจะจัดส่งในเบื้องต้น 50-60% ของความต้องการที่สำรวจไว้ก่อน หลังจากนั้นจะมีการสำรวจศักยภาพการฉีดของแต่ละจุด และจะจัดสรรให้เพิ่มอย่างแน่นอน
- ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวด้วยว่า เรื่องการฉีดวัคซีนเข็ม 3 จะมีการนำเสนอรายละเอียดทุกวันเพื่อให้เห็นข้อมูล ซึ่งในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้าที่ได้รับเข็ม 3 ตัวเลขล่าสุดฉีดวัคซีน AstraZeneca ไปอีก 900 โดส หากนับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 มีบุคลากรทางการแพทย์ได้รับเข็ม 3 ไปแล้ว 182,082 ราย ในส่วนของวัคซีน Pfizer เมื่อวานนี้ฉีดไปแล้ว 23,481 ราย ส่วนตัวเลขเลขเฉพาะวัคซีน Pfizer อยู่ที่ 39,483 ราย
- สำหรับวัคซีน Pfizer เป็นที่จับตามองของสังคม การเปิดเผยรายละเอียดการจัดสรรวัคซีนสู่สาธารณชนอย่างโปร่งใสจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับคนทำงานด่านหน้า และลดความหวาดระแวงที่สังคมมีต่อการบริหารจัดการของรัฐ ซึ่งไม่เพียงแต่ข้อมูลของการจัดสรรวัคซีน Pfizer เท่านั้น แต่ข้อมูลอื่นๆ ทั้งแผนการจัดหาวัคซีนโดยภาพรวม จำนวนเตียงในโรงพยาบาล จำนวนการตรวจโควิดต่อวัน รัฐก็ควรเปิดเผยสู่สาธารณะอย่างโปร่งใสเช่นกัน เพราะข้อมูลที่ถูกต้องจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยกันพาประเทศผ่านวิกฤต