ในเกมบิ๊กแมตช์พรีเมียร์ลีกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างนิวคาสเซิลปะทะอาร์เซนอล เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดพลิกผันตัดสินเกม
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ โจ วิลล็อก อดีตนักเตะกันเนอร์ส ตามไปเก็บบอลที่กำลังจะหลุดพ้นเส้นหลังกลับมาได้แบบต้องปรบมือในความพยายาม ก่อนที่จะเปิดกลับเข้ามากลางประตู บอลนั้นเลยมาถึงเสาไกลที่มี โชลินตัน เพื่อนร่วมทีม กระโดดโถมตัวมาจากด้านหลังเบียดกับ กาเบรียล มากัลเญส
จากจังหวะนี้บอลกลับมาตกหน้าปากประตู และเป็น แอนโธนี กอร์ดอน เก็บส้มหล่นทำประตูขึ้นนำให้นิวคาสเซิล
ทันทีที่บอลข้ามเส้นประตูไปมีการเช็กจาก VAR ว่าเป็นประตูที่ถูกต้องหรือไม่ โดยที่ไม่ได้เช็กแค่กรณีเดียว แต่เป็นการเช็กถึง 3 กรณีด้วยกัน
- กรณีที่ 1 บอลออกจากสนามไปหรือยัง
- กรณีที่ 2 มีการทำฟาวล์ของโชลินตันหรือไม่
- กรณีที่ 3 กอร์ดอนอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้าหรือไม่
หลังใช้เวลาเช็กอยู่ร่วม 3 นาที VAR ยืนยันว่า ‘Check Completed’ อันหมายถึงตรวจสอบแล้ว และยืนกรานให้นิวคาสเซิลประตูนี้ ซึ่งต่อมากลายเป็นประตูตัดสินเกม ทำให้อาร์เซนอลพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกของฤดูกาล
มิเกล อาร์เตตา นายใหญ่อาร์เซนอล ถึงกับหัวเสียให้สัมภาษณ์ด้วยความผิดหวังต่อการตัดสินของ VAR พร้อมตั้งคำถามถึงเรื่องของ ‘มาตรฐานการตัดสิน’ (Standard of Officiating) ที่ดูเหมือนจะสวนทางกับสิ่งที่พรีเมียร์ลีกพยายามบอกว่านี่คือลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ VAR ของพรีเมียร์ลีกถูกตั้งคำถาม และคำถามต่อมาคือ ตกลง VAR พรีเมียร์ลีกมีมาตรฐานไหม และมันช่วยให้การแข่งขันดีขึ้นอย่างไร?
เสียงสะท้อนจากอาร์เตตาในวันนั้นบอกว่า “ผมมาอยู่ตรงนี้เพื่อจะบอกว่าการตัดสินแบบนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ เราไม่สมควรที่จะแพ้ในเกมนี้ แต่เราต้องมาแพ้เพราะการตัดสินที่ผิดพลาดอย่างชัดเจน มันน่าละอาย มันอัปยศอดสูมาก”
โดยเฉพาะการที่ต้องเช็กภาพถึง 3 ครั้ง “มันทำให้ทุกอย่างยิ่งดูแย่ขึ้นไปอีก”
สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีกคือ การที่ผู้ตัดสิน VAR ซึ่งคือ แอนดรูว์ แมดลีย์ ต้องเช็กภาพถึง 3 เหตุการณ์นั้น เป็นเพราะเขาไม่สามารถหา ‘บทสรุป’ ที่ชัดเจนมากพอ (Clear and Obvious) ในแต่ละเหตุการณ์ได้
เริ่มจากเหตุการณ์แรก ลูกกึ่งยิงกึ่งผ่านของ เจค็อบ เมอร์ฟีย์ ที่หลุดเลยเสาไกลออกไป และเป็น โจ วิลล็อก วิ่งกวดไปเอาบอลกลับมาเล่นต่อนั้น VAR ได้ใช้เวลาเช็กถึง 33 วินาที ก่อนที่จะได้ข้อสรุปที่ไม่มีข้อสรุป เพราะไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าบอลนั้นหลุดออกนอกเส้นสนามไปหรือยัง เนื่องจากมุมภาพไม่สามารถที่จะระบุได้อย่างแน่ชัด
นั่นนำไปสู่การเช็กในเหตุการณ์ต่อมาที่ใช้เวลาถึง 50 วินาที ว่าจังหวะปะทะกันกลางอากาศระหว่างโชลินตันกับ กาเบรียล มากัลเญส ฝ่ายแรกมีการทำฟาวล์หรือไม่ ซึ่งทางด้านแมดลีย์ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้เหมือนเดิม แม้ว่าภาพช้าจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่ากองกลางชาวบราซิลใช้ 2 มือในการผลักและกดเพื่อนร่วมทีมชาติ และเป็นจุดที่ค้านสายตาแฟนฟุตบอลที่ได้เห็นเหตุการณ์มากที่สุด
จากนั้นคือเหตุการณ์สุดท้ายว่ากอร์ดอนอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้าหรือไม่ เพราะในจังหวะนั้นผู้รักษาประตู ดาบิด รายา ออกมาตัดบอลแล้วทำให้เหลือแค่กาเบรียลคนเดียวที่อยู่หลังลูกฟุตบอล ซึ่งตามกฎแล้วควรจะเป็นลูกล้ำหน้า
แต่เป็นอีกครั้งที่ VAR บอกว่า ไม่สามารถระบุได้ว่ามีการสัมผัสบอลของโชลินตันก่อนที่ลูกจะไปถึงกอร์ดอนหรือไม่ และไม่สามารถหา ‘มุมกล้อง’ ที่จะสามารถลากเส้นวัดได้ว่าเป็นการล้ำหน้าหรือไม่
หลังจากที่ VAR ใช้เวลาอีก 90 วินาทีในการเช็กจังหวะนี้ แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ ทำให้แจ้งไปยัง สจวร์ต แอตต์เวลล์ ผู้ตัดสินในสนาม ว่าเช็กแล้วแต่ไม่สามารถชี้ชัดได้ ผู้ตัดสินในสนามจึงยืนยันตามสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามคือ ให้เป็นประตูของนิวคาสเซิล
เรื่องนี้ถือเป็นกรณีที่น่าสนใจ และมีความแตกต่างจากกรณีความผิดพลาดของ VAR ในเกมระหว่างท็อตแนม ฮอตสเปอร์กับลิเวอร์พูลเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ที่ VAR ก่อความผิดพลาดร้ายแรงจนทำให้ประตูของ หลุยส์ ดิอาซ ถูกตัดสินว่าล้ำหน้าทั้งๆ ที่ชัดเจนว่าไม่ได้ล้ำหน้า
ครั้งนั้นเป็น ‘ความผิดพลาดส่วนบุคคล’ (Human Error)
แต่สำหรับครั้งนี้ จากคำชี้แจงดูเหมือนจะเป็นเรื่องของ ‘ระบบ’ (System) ที่ไม่สามารถหามุมกล้องที่ชัดเจนมากพอที่จะตัดสินได้ ซึ่งเรื่องนี้หาก VAR ตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่าบอลออกไปแล้ว มีการทำฟาวล์ หรือล้ำหน้า โดยที่ยังไม่แน่ใจ ก็จะเป็นความผิดพลาดเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ VAR ไม่สามารถทำได้
ขณะที่ทางด้านอาร์เซนอลได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อ PGMOL บริษัทที่กำกับดูแลงานด้านผู้ตัดสินของพรีเมียร์ลีก ด้วยการขอเรียกร้องให้มีการจัดการ ‘มาตรฐานการตัดสิน’ (Standard of Officiating) ให้การทำหน้าที่ของผู้ตัดสินอยู่ในมาตรฐานระดับโลก ในแบบเดียวกับที่พรีเมียร์ลีกต้องการเห็นคุณภาพของการแข่งขัน
ปัญหาคือตอนนี้ PGMOL ก็ไม่รู้ว่าตกลงแล้วมาตรฐานที่ว่าอยู่ตรงไหน
ประหนึ่งพ่อครัวทำอาหารตามสั่ง อร่อยไม่ซ้ำเพราะจำสูตรไม่ได้
ทุกสัปดาห์พรีเมียร์ลีกจะมีประเด็นดราม่าเกี่ยวกับการตัดสินของ VAR ผุดขึ้นมาไม่หยุด ซึ่งนอกจากจังหวะประตูปัญหาของกอร์ดอนแล้ว ในเกมที่เซนต์เจมส์พาร์กก็มีจังหวะการเข้าสกัดบอลของ ไค ฮาเวิร์ตซ์ ที่วางปุ่มใส่ขาของ ฌอน ลองสตาฟฟ์ และ บรูโน กิมาไรส์ ของนิวคาสเซิลเอง ก็มีจังหวะนอกเกมศอกใส่จอร์จินโญ
ในเกมที่ คราเวน ค็อตเทจ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถูกริบประตูของ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ เพราะ VAR มองว่า แฮร์รี แม็กไกวร์ อยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า แม้ว่าจะไม่ได้เป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับจังหวะการได้ประตูก็ตาม เพราะคนได้บอลก่อนตบกลับเข้าไปกลางประตูคือ อเลฮานโดร การ์นาโช ซึ่งยังดีที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดคว้าชัยชนะได้จากประตูโทนของ บรูโน เฟอร์นานเดส ในช่วงท้ายเกม
เรียกว่ามีปัญหาให้เห็นทุกสัปดาห์ ขณะที่ความชัดเจนก็น้อย
การเรียกร้องให้มีการเปิดเผยบทสนทนาของผู้ตัดสินในสนามกับ VAR แบบ ‘สดๆ’ (Live) ในระหว่างเกม ก็ถูกคัดค้านจากองค์กร International Football Association Board (IFAB) ที่เป็นเหมือนผู้คุมกฎฟุตบอลของโลก โดยเหตุผลนั้นได้รับการชี้แจงว่า “มันจะยิ่งทำให้เกิดประสบการณ์ที่สับสนวุ่นวายไปกันใหญ่”
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตั้งแต่มี VAR โลกฟุตบอลก็แทบไม่เคยสงบสุขได้อีกเลย โดยเฉพาะกับลีกที่ดูเหมือนมาตรฐานการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินจะไม่ดีเท่ากับลีกอื่นหรือรายการอื่นอย่างพรีเมียร์ลีก
การตั้งคำถามจากอาร์เตตาและอาร์เซนอลเกี่ยวกับมาตรฐานของการตัดสินด้วย VAR เป็นการตั้งคำถามที่ดี
เพียงแต่ปรบมือข้างเดียวเสียงอาจจะดังไม่พอ บางทีทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีกควรมีโอกาสหารือร่วมกัน และยกระดับการเรียกร้องให้หนักแน่นมากยิ่งขึ้น
แต่คำถามก็คือ จะมีกี่สโมสรที่พร้อมจับมือแล้วเรียกร้องไปด้วยกันจริงๆ
เพราะเมื่อมีผู้เสียประโยชน์ ก็ย่อมมีผู้ที่ได้ประโยชน์ วันนี้อาร์เซนอลหรือทีมไหนก็ตามอาจจะเสียหาย แต่วันหน้าก็อาจจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ แล้วแบบนี้จะเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ทีมที่เสียประโยชน์ไหม?
สำหรับกรณีศึกษาเรื่องประตูปัญหานี้อาจแก้ไขในอนาคตด้วยการลงทุนติดตั้งมุมกล้องเพิ่ม เพื่อลดจุดบอดของภาพที่ใช้ช่วยพิจารณาการตัดสิน หรือใช้เทคโนโลยีที่ดีกว่าในการช่วยตัดสิน
ส่วนที่เหลือคือเรื่องดุลยพินิจของผู้ตัดสิน นั่นเป็นเรื่อง ‘อัตวิสัย’ ที่ยากจะขีดเส้นใต้ให้ชัดเจนเท่ากัน
คำถามเรื่องของ ‘มาตรฐาน’ จึงเป็นคำถามที่สุดท้ายแล้วอาจไม่มีคำตอบที่ถูกทุกข้อ
บางทีเราก็อาจต้องยอมรับความจริงกันไปแบบนี้แหละ
อ้างอิง: