×

‘แก้เหลื่อมล้ำ-เตรียมสื่อสาร-ปรับการสอน’ โจทย์ใหญ่เมื่อเด็กไทยต้องเรียนออนไลน์ยุคโควิด-19

18.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ท่ามกลางปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องเลื่อนกำหนดเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่พ่วงมาด้วยรูปแบบการเรียนการสอนทางโทรทัศน์และออนไลน์ เพื่อมุ่งหวังลดความเสี่ยงที่เด็กอาจติดเชื้อภายในโรงเรียนได้
  • ทว่าการแก้ปัญหาด้วยการให้เด็กเรียนรู้ผ่านจอมือถือหรือโทรทัศน์ กลับสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม เมื่อพบว่ามีครอบครัวของนักเรียนจำนวนมากที่ไม่สามารถจัดสรรอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้บุตรหลานได้เรียนในช่วงนี้
  • ส่วนเรื่องของประสิทธิภาพทางการศึกษา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามของผู้ปกครองหลายคนว่าแท้จริงแล้ว การเรียนผ่านช่องทางออนไลน์จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ได้มากน้อยเพียงใด

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กำหนดเปิดภาคเรียนของโรงเรียนในไทยเลื่อนออกไปเป็นเดือนกรกฎาคม กระทรวงศึกษาธิการสั่งเดินหน้าการเรียนการสอนทางไกลผ่านหลากหลายช่องทาง ทั้งทางโทรทัศน์และทางออนไลน์สำหรับเด็กในพื้นที่ที่ยังไม่สามารถไปโรงเรียนได้ กระแสความกังวลว่าเด็กไทยจะพร้อมเรียนทางไกลหรือไม่ก็เกิดขึ้น พร้อมกับภาพข่าวในพื้นที่สื่อที่แสดงให้เห็นว่า มีหลายครอบครัวที่กำลังประสบภาวะ ‘ไม่พร้อม’ หรือต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ เช่น โทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้บุตรหลานได้ใช้งานในช่วงเวลานี้

 

ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ทำการสำรวจนักเรียนไทยอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,633 คนจากสถานศึกษา 290 แห่งเมื่อปี 2561 และได้รับการแปลผลโดย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา จากสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ชี้ว่า 68.7% ของนักเรียนกลุ่มนี้มีสถานที่ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือเงียบๆ ในบ้าน แต่เมื่อเจาะลงไปยังนักเรียนกลุ่มที่มีฐานะยากจนที่สุด 20% สุดท้ายก็จะพบว่า มีเพียง 55.03% เท่านั้นที่มีสถานที่ในรูปแบบดังกล่าว และแม้เครื่องรับโทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือจะเป็นอุปกรณ์ที่ครัวเรือนของนักเรียนไทยส่วนใหญ่เข้าถึง แต่ทว่าก็ยังมีนักเรียนในกลุ่มที่มีฐานะยากจนที่สุดที่เข้าไม่ถึงโทรศัพท์มือถืออยู่ราว 20%

 

(ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค – ภาพจาก www.eef.or.th)

 

ดร.ภูมิศรัณย์ บอกกับเราว่า จะต้องมีวิธีอื่นๆ ในการช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้เพิ่มเติม ทั้งการส่งหนังสือ แบบฝึกหัด และเอกสารเพื่อให้นักเรียนเรียนที่บ้าน หรือให้พ่อแม่ช่วยจัดการเรียนการสอนที่บ้าน ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยครูในชุมชน พี่เลี้ยง อาสาสมัครในชุมชน หรือแม้แต่รุ่นพี่ที่จะเข้าไปช่วยสอนตามบ้าน

 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีเด็กคนไหน ‘หล่นหาย’ ไปกลางทาง

 

“โดยเฉพาะเด็กกลุ่มยากจนมากๆ หรือเด็กกลุ่มที่พ่อแม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ หรือว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะต้องออกนอกระบบการศึกษา กลุ่มนี้ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะแม้แต่ในสถานการณ์ปกติ บางครั้งกว่าเขาจะเข้ามาเรียนได้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อยิ่งเจอสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม การปิดเทอมนานๆ เด็กไม่ได้อยู่กับครู หรือว่าไม่มีข้าวให้กิน เขาก็ไม่ได้ไปโรงเรียน โอกาสที่เขาจะหลุดไปนอกระบบการศึกษาก็ค่อนข้างเยอะ มีทั้งเด็กกลุ่มชายขอบหรือเด็กยากจนที่อยู่ในเมือง และเด็กที่อยู่ในชนบท รวมทั้งเด็กที่โรงเรียนอยู่ไกล ครูไปติดตามไม่ได้” ดร.ภูมิศรัณย์ระบุ 

 

“ปัจจัยสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา คือการติดตามของครูซึ่งอาจเข้มข้นไม่เท่ากันในแต่ละโรงเรียน โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างช่วงชั้น ซึ่งเด็กอาจจะมีการย้ายโรงเรียนเกิดขึ้น นี่ก็เป็นความท้าทายเช่นกัน”

 

เขายังกล่าวถึงปัญหาที่เด็กยากจนจะเสี่ยงต่อปัญหาโภชนาการและขาดแคลนอาหาร ดังนั้นเมื่อปิดเทอมนานขึ้นก็ต้องหาวิธีช่วยเหลือ อาทิ การจัดส่งอาหาร หรือให้เด็กมารับข้าวสาร อาหารแห้ง ซึ่งก็เป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้นด้วย เขาย้ำว่าการเรียนฟรีนั้น ‘ไม่เพียงพอ’ สำหรับการดึงเด็กกลุ่มที่ยากจนให้คงอยู่ในระบบ

 

 

“โดยเฉพาะกลุ่มยากจนที่สุด เรียนฟรีเขาอาจไม่ต้องเสียค่าเทอม ค่าเสื้อผ้า แต่ว่ามันไม่ได้ครอบคลุมถึงค่าเสียโอกาสต่างๆ เช่น เด็กยากจนที่พ่อแม่ต้องการแรงงานไปทำงานในไร่ ไปรับจ้าง ไปช่วยหาเลี้ยงในบ้าน หรือค่าเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ในระหว่างการเรียน ซึ่งนโยบายเรียนฟรีครอบคลุมไปไม่ถึง บางทีแม้แต่ค่าเดินทางหรือค่าอาหารกลางวันที่จะติดกระเป๋าไปยังไม่มี” ดร.ภูมิศรัณย์กล่าว

 

โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำยังถูกสะท้อนจากนักวิชาการด้านการศึกษา ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาชี้ว่าเด็กยากจนที่อยู่ ‘ในเมือง’ เป็นกลุ่มที่เขากังวล เพราะการเป็น ‘ประชากรแฝง’ อยู่ในโรงเรียนใหญ่ทำให้บางครั้งพวกเขาอาจถูกมองข้าม และอาจถูกผลักออกมาจากการเข้าถึงการเรียนผ่านช่องทางดิจิทัล การผสมผสานการเรียนแบบ ‘ออฟไลน์’ เช่น การจัดส่งเอกสารไปให้นักเรียนได้ศึกษา เข้ากับการเรียนแบบออนไลน์ อาจเป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ได้ แต่ที่สำคัญคือครูยังต้องมีปฏิสัมพันธ์และติดตามนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และหากทำได้ก็ควรมีเวลาให้เด็กมาโรงเรียนพบกับครูด้วย เพื่อติดตามไม่ให้พวกเขาหลุดออกจากระบบการศึกษาไป

 

“บางทีมันจะมีความชะล่าใจ เช่น ผลสำรวจออกมาทุกคนมีมือถือหมด แต่เด็กกลุ่มนี้มือถือเติมเงินทีละ 50 บาทนะ มีเอาไว้แค่ให้ติดต่อกับที่บ้าน ถ้าคุณจะออนไลน์ด้วยมือถือ คุณต้องอัปเกรดโปรโมชัน ไปอยู่ใน Zoom ยิ่งหนักเลย อย่างไรก็โดนเหวี่ยงหลุด ให้เต็มที่ 30 นาทีก็ไปหมดแล้ว” เขาระบุ

 

ทั้ง ดร.ภูมิศรัณย์ และ ผศ.อรรถพล ระบุตรงกันว่า ปัญหาความขาดแคลนเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าการจัดสรร ‘งบประมาณรายหัว’ ที่จัดสรรให้นักเรียนทุกคนเท่าๆ กันอาจไม่เหมาะกับประเทศไทยอีกต่อไป

 

“ต้องเช็กว่าเด็กคนไหนขาดแคลนทุนทรัพย์ เผลอๆ ต้องเช็กด้วยซ้ำว่าพ่อแม่คนไหนตกงาน เพราะพ่อแม่ตกงาน ลูกก็ไม่มีกิน” ผศ.อรรถพลกล่าว

 

(ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล)

 

และมิใช่เพียงแค่โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่ประสิทธิภาพในการเรียนออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกตั้งคำถาม

 

หลังจากเขาเป็นแกนนำในการตั้งวงคุยกับครูในหลายพื้นที่ตลอดกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในภาวะที่ ‘ไม่ปกติ’ เช่นนี้ ผศ.อรรถพล แสดงความกังวลว่าการที่บางโรงเรียนอาจให้นักเรียนดูโทรทัศน์หรือดูคลิปการสอนยาวนานหลายชั่วโมงต่อวัน จะสอดคล้องกับพฤติกรรมและความสนใจของเด็กขณะอยู่บ้านมากน้อยเพียงใด ซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุดก็จะเริ่มมีเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองตามมา

 

“ถ้าผู้บริหารโรงเรียนที่เถรตรงบังคับให้นักเรียนดูคลิปวันละ 7 คาบ ซึ่งถึงเวลาโรงเรียนบังคับเด็กที่บ้านไม่ได้หรอก โดยเฉพาะเด็กมัธยมฯ ไม่ต้องพูดถึง เด็กดิ้นรนไปหาอะไรที่อ่านแล้วฟังรู้เรื่องมากกว่า ซึ่งแม้ว่าตอนนี้แนวปฏิบัติจากส่วนกลางจะไม่ได้บังคับ แต่การบอกว่าให้ครูรายงานผลการปฏิบัติไปที่ต้นสังกัดจะเป็นช่องให้เกิดการ ‘ทำอย่าง รายงานอีกอย่าง’ ของครูจำนวนหนึ่งขึ้น เพราะบางครั้งการบอกให้เด็กดูการสอน เขาไปตามเช็กเด็กไม่ได้หมดหรอกว่าเด็กดูหรือเปล่า แต่เวลาส่งรายงานเขาก็บอกว่าเขาทำทั้งหมด”

 

 

“บางโรงเรียนส่งตารางมาถึงบ้านแล้ว เด็กจำนวนหนึ่งก็เริ่มถามว่าต้องดูคลิป 4 คาบต่อวันจริงเหรอ พ่อแม่เด็กจำนวนหนึ่งก็เริ่มน้ำท่วมปากเพราะเข้าใจโรงเรียนว่าโรงเรียนก็ต้องแก้ปัญหาแบบนี้ แต่สุดท้าย Energy ของเด็กจะเป็นตัวผลักดันให้พ่อแม่ต้องเริ่มส่งเสียง” เขากล่าว “แต่ที่น่าห่วงคือชนชั้นกลางระดับล่างที่ส่งเสียงไม่ได้ บ้านมีลูก 5 คน ทีวีมี 17 ช่อง เด็ก ป.5 ต้องดูพร้อมกับเด็ก ป.3 จะทำอย่างไร สุดท้ายมันก็ผลักให้โรงเรียนอาจต้องโกหกต้นสังกัด

 

“ตอนนี้ผมจัดเวิร์กช็อปออนไลน์โดยตั้งใจเพื่อเอาครูมาอยู่ในห้องเรียนออนไลน์จริงๆ ให้เขารู้ว่าการอยู่บน Zoom ก็ดี การมานั่งฟังคลิปก็ดี มันเป็นอย่างไร ขนาดบางคลิป 10-15 นาที ถามเขาว่าดูต่อเนื่องทั้งคลิปจริงๆ หรือเปล่า เขาก็บอกว่ามีหยุดพัก ผมก็ถามไปว่าแล้วคุณอัดคลิปกี่นาที เขาบอก ‘อัดคลิป 50 นาทีครับ’ ขนาดคุณยังลุกไปชงกาแฟ แล้วลูกศิษย์คุณนั่งฟังคุณ 50 นาทีจะฟังไหวไหม” ผศ.อรรถพล ระบุ

 

เขายังชี้ว่าในระบบการเรียนออนไลน์จริงๆ ที่ออกแบบระบบมาแล้วนั้น คลิปการสอนจะต้องถูกซอยย่อยตามเนื้อหาที่ถูกวิเคราะห์มาอย่างเหมาะสม เช่น มัธยมศึกษาแบ่งแล้วไม่ควรเกินคลิปละ 10 นาที มีการให้เวลาของการทำกิจกรรมที่บ้านซึ่งอาจได้เรียนรู้หลายวิชาพร้อมกัน แล้วให้ผู้เรียนได้ลองจัดการเวลาเอง มีการส่งเอกสารแบบฝึกหัดทางอีเมล เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามหัวใจของการเรียนออนไลน์ คือการที่ผู้เรียนเป็นผู้นำและกำกับดูแลตนเอง

 

 

ความท้าทายต่อไปคือเรื่องช่องทางการสื่อสาร ผศ.อรรถพลชี้ว่าโรงเรียนจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับการสื่อสารที่จะมาจากทุกช่องทาง ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองเพื่อไม่ให้เป็นภาระของครูจนเกินไป

 

“สมมติโรงเรียนบอกว่าให้ครูเปิดเฟซบุ๊กวิชา เปิดไลน์กลุ่มพ่อแม่ รับโทรศัพท์ ถึงเวลาคุณจะเจอทุกช่องทางเลย เด็กมาถามในเฟซบุ๊ก พ่อแม่ก็ไลน์มา หรือโทรมา ครูก็ต้องเตรียมบทเรียน ดังนั้นความอลเวงรอคุณอยู่ ระดับนโยบายควรสื่อสารว่าวันหนึ่งขอให้ครูอยู่บนออนไลน์ตอบคำถามเด็กหรือผู้ปกครองนานเท่าไร ที่เหลือคือเตรียมการสอน ตรวจการบ้าน ให้ฟีดแบ็กเด็ก เท่ากับต้องออกแบบชีวิตครู ชีวิตเด็กด้วย” เขาสรุป

 

ตัดภาพไปที่โรงเรียนแห่งหนึ่งบนพื้นที่ดอยในจังหวัดเชียงใหม่ อนวัช นันทะเสน หรือ ‘ครูท็อป’ ครูวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนบ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง เล่าให้เราฟังในเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม วันที่ควรจะเป็นวันเปิดภาคเรียนตามปกติหากไม่มีโควิด-19 แต่โรคระบาดที่เกิดขึ้นทำให้เขาต้องเตรียมความพร้อมด้านการเรียนผ่านทีวีดิจิทัลให้กับนักเรียนของเขาแทน

 

(อนวัช นันทะเสน)

 

ชั้นเรียนที่เขาดูแลมีนักเรียนราว 30 คน มีตั้งแต่นักเรียนที่มีฐานะ ไปจนถึงนักเรียนที่ยากจน ซึ่งกลุ่มยากจนนี้มีอยู่ราว 10-20% อนวัชบอกกับเราว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ครูต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้

 

“ปัญหาคือบางบ้านตอนนี้แม้กระทั่งไฟฟ้าก็ยังไม่มี” เขาเล่า

 

แม้จะมีนโยบายจากส่วนกลางที่เตรียมจะแจกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน แต่การขาดสิ่งที่มากกว่านั้นคือสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อย่างเครื่องรับโทรทัศน์ ก็ทำให้เกิดคำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่ลงตัวว่า แล้วเด็กในกลุ่มนี้จะเรียนกันอย่างไร ยังไม่นับรวมปัญหาที่ผู้ปกครองเริ่มมีเสียงสะท้อนกลับมาว่า เช้าวันแรกมาถึงแล้ว แต่ยังดูทีวีดิจิทัลช่องสำหรับการเรียนทางไกลไม่ได้

 

“เบื้องต้นก็บอกนักเรียนว่า ถ้ามีเพื่อนที่บ้านใกล้ ก็ให้ไปดูทีวีที่บ้านเพื่อนก่อน” เขาระบุ “การพัฒนานักเรียนที่ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้คือปัญหาใหญ่ มันมีอยู่ทุกที่ และที่เราเจอคือมีทุกห้อง ถ้ามีจริงๆ ก็คงอาจจะต้องไปหาถึงบ้าน หรือจัดสอนเสริม หรือทำอะไรก็ได้ที่จะให้โอกาสเขา”

 

อนวัชเล่าต่อไปว่า ผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่ล้วนตื่นตัวกับการเรียนในระบบใหม่ และนักเรียนก็ตื่นตัวอยากเรียนไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร จึงมีเสียงสะท้อนว่าพวกเขาต้องออกไปประกอบอาชีพระหว่างวัน และอาจไม่สามารถเฝ้าดูบุตรหลานระหว่างเรียนผ่านหน้าจอได้

 

 

นอกจากนี้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่จะเกิดขึ้นจากการเรียนทางไกลยังเป็นข้อกังวลของผู้ปกครองอีกส่วนหนึ่ง พวกเขายังไม่เชื่อมั่นต่อระบบการเรียนแบบใหม่นี้ อนวัชต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองระหว่างที่เขาลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้าน พร้อมนำเอกสารประกอบการเรียนไปให้ ว่านี่เป็นเพียงระยะของ ‘การทดลอง’ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะเห็นผลว่าเป็นอย่างไร

 

ก่อนจะกลับไปทำหน้าที่ครูเวรแจกนมโรงเรียนให้กับผู้ปกครองของเด็กๆ เขาบอกส่งท้ายกับเราว่า เขาเองก็หวังจะเห็น ‘ชีวิตวิถีใหม่’ หรือ ‘New Normal’ ในแง่การศึกษาด้วยเช่นกัน

 

“ช่วงนี้มันมีโควิด-19 ก็จริง แต่ถ้าโควิด-19 หายไป เราคิดว่าการศึกษาหรือการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนไปแล้ว มันจะจัดเหมือนเดิมไม่ได้ เราคิดว่ามันจะต้องมีอะไรรองรับ เพราะมันอาจจะมีหลายโรคโผล่เข้ามาอีกในอนาคต และทางรัฐเองก็ควรจะมีอะไรที่มาสนับสนุนสิ่งเหล่านี้”

 

และทั้งหมดนี้คือหลากหลายโจทย์ใหญ่จากคนในแวดวงการศึกษา ในวันที่เด็กต้องพึ่งพา ‘สารพัดจอ’ เพื่อเรียนหนังสือ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X