ตั้งแต่ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ตลาดหุ้นทั่วโลกพร้อมใจกันกลับทิศ และวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดหุ้นหลักอย่างสหรัฐฯ ต่างวิ่งขึ้นมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และทำจุดสูงสุดใหม่ (All Time High)
ดัชนี Dow Jones ล่าสุดทะลุระดับ 31,000 จุด ขณะที่ S&P 500 แตะระดับ 3,800 จุด ส่วน NASDAQ ก็ทะลุระดับ 13,000 จุด เป็นที่เรียบร้อย
มองกลับมาที่ตลาดหุ้นไทย (SET) แม้ว่าดัชนี SET จะไม่ได้พุ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ แต่ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน ดัชนีก็วิ่งขึ้นกว่า 300 จุด ทะลุระดับ 1,530 จุด กลับมาใกล้เคียงกับช่วงที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดเมื่อต้นปี 2563 และหากดูจากค่า P/E ของ SET อิงกับผลประกอบการ 12 เดือนย้อนหลัง ปัจจุบันขยับขึ้นมาสูงถึง 30.20 เท่า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์
Mohamed El-Erian หัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ Allianz เปิดเผยผ่าน CNBC ว่า การเพิ่มขึ้นของราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ได้เป็นฟองสบู่ที่ไม่มีเหตุมีผลเสียทีเดียว แต่กลับกัน มันคือ ‘ฟองสบู่ที่มีปัจจัยรองรับ (Rational Bubble)’
จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่างยังคงส่งสัญญาณต่อเนื่องว่า พวกเขาจะอัดฉีดเงินปริมาณมหาศาลเข้ามาในระบบต่อเนื่อง และตราบใดที่ตลาดยังคงเชื่อมั่นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ก็จะยังพุ่งขึ้นได้ต่อ
ทั้งนี้ El-Erian มองว่า เราจะยังคงเห็นความขัดแย้งระหว่างตลาดหุ้นกับปัจจัยพื้นฐานเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีก ด้วยเหตุผลสำคัญคือสภาพคล่องในระบบ
ขณะที่ ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า เมื่อต้องการพิจารณาว่าสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นฟองสบู่หรือไม่ อย่างแรกที่มักจะพิจารณาคือ อัตราส่วนระหว่างมูลค่าตลาด (Market Cap.) กับปริมาณเงิน (Money Supply) โดยเราคงจะไม่สามารถประเมินได้จากเรื่องของมูลค่า (Valuation) เพียงอย่างเดียว เพราะตลาดหุ้นไม่ได้มีเหตุมีผลตลอดเวลา เราจะเห็นว่าในบางครั้งมูลค่าหุ้นถูก ราคาก็ปรับลงต่อได้ หรือในบางครั้งที่มูลค่าแพงไปแล้ว ราคาก็ยังขึ้นต่อได้
“ช่วงปลายปีก่อนที่ตลาดวิ่งขึ้นมา ก็มีคำถามขึ้นมาเหมือนกันว่าในเชิง Valuation ตลาดควรจะปรับขึ้นหรือไม่ แต่เมื่อดูจากอัตราส่วน Market Cap. กับ Money Supply จะเห็นว่าตลาดยังมีโอกาสให้ขึ้นต่อได้พอสมควร”
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีเงินสดหมุนเวียนอยู่ในระบบค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งไหลออกมาจากหุ้นกู้เอกชน หลังจากนักลงทุนแห่ถอนเงินออกมามากขึ้นเพราะความไม่มั่นใจต่อสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องจากภาครัฐ ทำให้เงินเข้ามาในระบบมากขึ้น
เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ปริมาณเงินในระบบล้นออกมาจากการอัดฉีดเงินโดยธนาคารกลางหลายประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนที่ว่านี้เทียบกับระดับดัชนีตลาดหุ้น แม้ดัชนีจะทำจุดสูงสุดใหม่ในหลายๆ ประเทศ แต่อัตราส่วนนี้ยังไม่ได้ทำจุดสูงสุดใหม่แต่อย่างใด
“จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เราอาจจะไม่สามารถพูดได้ว่าการเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นอย่างต่อเนื่องใกล้ถึงจุดที่ฟองสบู่จะแตกแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นฟองสบู่ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นฟองสบู่ย่อมๆ (Mini Bubble) เพราะปริมาณเงินในระบบยังค่อนข้างสูงมาก”
โดยภาพรวม นักลงทุนตลาดหุ้นน่าจะยังขยับขึ้นต่อได้ในระยะสั้นจากโมเมนตัมเชิงบวกในขณะนี้ แต่ระหว่างทางคงต้องระมัดระวังในเรื่องของความผิดหวังต่อผลประกอบการที่อาจจะแทรกเข้ามา เพราะที่ผ่านมาหุ้นขึ้นมาด้วยสภาพคล่อง หากนักลงทุนตระหนักได้ว่าพื้นฐานไม่สนับสนุน ก็อาจเห็นแรงเทขายออกมา
ส่วนในระยะถัดไปคงต้องระวังในจุดที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศจะเริ่มชะลอการอัดฉีดเงิน ซึ่งต้องจับตาสัญญาณต่างๆ จากการประชุมของธนาคารกลางแต่ละรอบ สำหรับในไทยอาจจะพิจารณาด้วยว่าตัวเลข Money Supply ชะลอลงไปหรือไม่
ทางด้าน Jeremy Grantham ผู้ร่วมก่อตั้ง GMO บริษัทบริหารการลงทุน มองในมุมกลับกันว่า ตลาดหุ้นในขณะนี้อยู่ในสภาวะของฟองสบู่ที่เติบโตอย่างเต็มที่ จากราคาที่พุ่งขึ้นไปสูงกว่ามูลค่าอย่างมาก และการอัดฉีดเงินอย่างหนัก รวมถึงการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนอย่างคลุ้มคลั่ง โดย Jeremy เชื่อว่าเหตุการณ์ในปัจจุบันจะถูกบันทึกไว้ว่าเป็นหนึ่งในฟองสบู่ที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ปัจจุบันตลาดหุ้นอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งเศรษฐกิจโดยรวมดูดียิ่งกว่า ขณะที่ตัวเลขอัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นประวัตการณ์ ขณะเดียวกัน เมื่อดูจากอดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่าอัตราส่วน P/E ของตลาดในปัจจุบันก็อยู่ในระดับสูงมาก เทียบกับเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำมาก
“ณ ขณะนี้ ปัญหาที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญ (โควิด-19) กำลังถูกสะสางไปได้ นักลงทุนในตลาดจะรู้สึกโล่งใจ แต่เมื่อมองไปรอบๆ ก็จะพบกับความจริงที่ว่าเศรษฐกิจคงแย่อยู่ ขณะที่มาตรการอัดฉีดเงินกำลังจะถูกลดทอนลงหลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านไป และเมื่อนั้นจะมองเห็นว่ามูลค่าแพงเกินไปมาก”
ทั้งนี้ Jeremy แนะนำว่า นักลงทุนควรจะหลีกเลี่ยงหุ้นสหรัฐฯ และโฟกัสไปที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) รวมถึงหุ้นที่มีลักษณะเป็น Value Stock
ด้าน สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะตลาดหุ้นในปัจจุบันเรียกได้ว่าช่วง Reflation คือการที่ตลาดกำลังออกจากภาวะวิกฤต ขณะที่นักลงทุนกล้ารับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk On) จึงเห็นเงินลงทุนไหลจากสินทรัพย์ปลอดภัยเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น
โดยปกติแล้วในช่วงที่เพิ่งออกจากวิกฤต ตลาดหุ้นมักจะซื้อขายบน P/E ที่สูงขึ้นได้ถึงระดับ +2SD ทำให้การพิจารณาความเหมาะสมของตลาดอาจจะต้องดูจาก Earning Yield Gap แทนที่ จากการประเมินอิงจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ดัชนี SET จะปรับขึ้นไปได้สูงสุดที่ Earning Yield Gap -1.5SD ทำให้ดัชนี SET รอบนี้สามารถวิ่งขึ้นไปได้ (กรณีดีสุด) ถึง 1,595 จุด
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่จะทำตลาดหุ้นจบรอบอาจจะเป็นไปได้จาก 2 ปัจจัย คือ
1. วัคซีนป้องกันโควิด-19 ล้มเหลว ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ว่าวัคซีนที่เริ่มฉีดไปนี้จะอยู่ได้นานเพียงใด
2. Fed Tapering หรือการปรับลดวงเงินอัดฉีดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเทศประเมินกันว่า หากไม่มีการอัดฉีดสภาพคล่องอีกแล้ว ดัชนี S&P 500 จะมี Downside ถึงกว่า 30%
“ครึ่งปีแรกตลาดหุ้นจะยังเป็นภาวะ Reflation คือการออกจากวิกฤต ทำให้หุ้นยังอยู่ในเชิงบวก แต่ครึ่งปีหลังต้องระมัดระวัง แม้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเปิด แต่หุ้นอาจจะไม่ขึ้นแล้ว เพราะอาจจะเห็นการส่งสัญญาณ Tapering ของ Fed ซึ่งอาจเป็นการจบรอบของหุ้นรอบใหญ่ตรงนั้น”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: