×

‘ความรุนแรงในครอบครัว’ เมื่อบ้านอาจไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในภาวะต้องกักตัวยุคโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
09.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ในบทความเรื่อง ‘ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ ‘บ้าน’ อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน โดย ดร.บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาหนึ่งที่อาจตามมาจากมาตรการกักตัวอยู่บ้านคือ ‘ความรุนแรงในครอบครัว’ ที่อาจเพิ่มจำนวนสูงขึ้น 
  • นอกจากนี้ในบทความยังกล่าวถึงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เกินความจำเป็น อาจส่งผลให้ความรุนแรงในโรคระบาดเพิ่มขึ้น โดยในอดีตความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนช่วงที่เกิดความเครียดและการหยุดชะงักระยะยาวจากวิกฤตการณ์ทางการเงินและภัยพิบัติ และความเครียดมีแนวโน้มจะนำไปสู่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • หากพิจารณาว่าการประกาศใช้มาตรการกักตัวอยู่บ้านเพิ่งเริ่มขึ้นตอนปลายเดือนมีนาคม จำนวนกรณีความรุนแรงในครอบครัวที่เข้ามาทางสายด่วน 1300 ก็อาจจะมีเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนนี้ และหากมีการปิดโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ โดยให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านต่อหลังสิ้นเดือนเมษายน ก็คาดว่ากรณีความรุนแรงในครอบครัวจะเพิ่มขึ้นอีกในเดือนถัดไป

ในยุคโควิด-19 ที่มาตรการ Social Distancing กลายเป็นเรื่องจำเป็น และการทำงานอยู่บ้านถือเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษย์เงินเดือนและบริษัททั่วๆ ไป แม้มาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาเบาบางจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ให้ลดลงได้ แต่ผลกระทบอีกด้านก็อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

 

ในบทความเรื่อง ‘ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ ‘บ้าน’ อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน โดย ดร.บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาหนึ่งที่อาจตามมาจากมาตรการกักตัวอยู่บ้านคือ ‘ความรุนแรงในครอบครัว’ ที่อาจเพิ่มจำนวนสูงขึ้น โดยบทความระบุว่า

 

มาตรการสำคัญที่รัฐบาลประกาศใช้เพื่อบรรเทาและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 คือการให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน โดยสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งมีทั้งสถานที่ทำงานและหารายได้ของประชาชน รวมไปถึงสถานศึกษาทุกระดับและสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยเบื้องต้นกำหนดระยะเวลาไว้ถึงวันที่ 30 เมษายน ซึ่งหากนับวันที่สั่งปิดห้างร้านในวันที่ 22 มีนาคมเป็นวันแรกของการเริ่มใช้มาตรการดังกล่าว เท่ากับว่าประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านประมาณ 40 วัน

 

ในช่วง 40 วันนี้ อาจจะเป็น 40 วันอันตรายสำหรับเด็ก ผู้หญิง และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เมื่อบ้านอาจไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

 

ความรุนแรงในโรคระบาด: สถานการณ์ทั่วโลก

ดร.บุญวรา หยิบยกข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า อัตราการแสวงประโยชน์และความรุนแรงต่อเด็กมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีโรคระบาด ตัวอย่างเช่น ในปี 2557-2559 ที่เชื้อไวรัสอีโบลาแพร่ระบาดและมีการปิดโรงเรียนในทวีปแอฟริกาตะวันตก พบว่าจำนวนแรงงานเด็ก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพุ่งสูงขึ้นกว่าปกติ โดยประเทศเซียร์ร่าลีโอนพบอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงกว่าสองเท่าก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา1

 

ในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ซึ่งเป็นที่แรกที่ใช้มาตรการปิดเมืองและให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีรายงานว่าในเมืองหนึ่ง ตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งร้อยละ 90 ของความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เชื่อมโยงกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

 

ในหลายประเทศ จำนวนการโทรแจ้งสายด่วนความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อประชาชนต้องกักตัวในบ้าน สำนักข่าว CNN รายงานว่า เมือง Nassau ในมหานครนิวยอร์ก มีปริมาณการโทรแจ้งสายด่วนเข้ามาเพิ่มร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และใน Cincinnati มีปริมาณสายโทรเข้ามาเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เช่นกัน2 ในแคว้นคาตาลัน ประเทศสเปน พบว่าจำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในช่วงไม่กี่วันหลังมีมาตรการปิดเมือง และในประเทศไซปรัส จำนวนผู้ใช้บริการสายด่วนขอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังเจอเคสผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ3

 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับโรคระบาด

นอกจากนี้ในบทความยังกล่าวถึงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เกินความจำเป็น อาจส่งผลให้ความรุนแรงในโรคระบาดเพิ่มขึ้น โดยในอดีตความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนช่วงที่เกิดความเครียดและการหยุดชะงักระยะยาวจากวิกฤตการณ์ทางการเงินและภัยพิบัติ และความเครียดมีแนวโน้มจะนำไปสู่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน4 

 

มีงานวิจัยมากมายที่เคยศึกษาถึงความสัมพันธ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับความรุนแรง เช่น งานของ Norström (2011) พบว่า การบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1 ลิตร มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ของอัตราการฆาตกรรมในสหรัฐฯ ทั้งนี้ข้อมูลจากระบบข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (violence.in.th) ระบุว่า สุราและยาเสพติดเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของกรณีความรุนแรงในครอบครัวมาตลอดนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉลี่ยเกือบ 10 ปี (2551-2560) พบว่า ร้อยละ 38.5 ของกรณีความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากสุราและยาเสพติด

 

อยู่บ้านปลอดเชื้อ แต่อาจไม่ปลอดภัย

สำหรับประเทศไทย จำนวนผู้โทรเข้าสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ด้วยเหตุความรุนแรงในครอบครัวตลอดเดือนมีนาคม 2563 มีทั้งสิ้น 103 ราย ถือว่าลดลงจากเดือนมีนาคม 2562 ที่มีจำนวน 155 รายค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่ลดลงอาจเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากสื่อถึงการรายงานเคสที่ลดลง แต่อาจไม่ได้หมายถึงความรุนแรงในครอบครัวที่ลดลง เนื่องจากผู้ที่แจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวหลายกรณีมักเป็นคนนอก เช่น ครูหรือเพื่อน อย่างเช่นกรณีสายด่วนแจ้งความรุนแรงต่อเด็กในรัฐออริกอน ที่มีจำนวนลดลงกว่าครึ่งหลังจากโรงเรียนถูกปิดเช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่กังวลว่าเป็นเพราะการแจ้งที่เกิดจากครูที่โรงเรียนลดลง เนื่องจากเด็กไม่ได้ออกมาพบครู

 

นอกจากนี้สถานการณ์โรคระบาดอาจทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าออกจากบ้าน หรือเข้าขอความช่วยเหลือจากสถานบริการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นสถานที่แรกที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงจำเป็นต้องเข้าไปรับบริการ ทั้งเพื่อรับการรักษา และตรวจร่างกายเพื่อเก็บหลักฐานในการดำเนินคดี 

 

แต่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากประชาชนจะไม่อยากเข้าไปเพราะกังวลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อแล้ว บุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ในโรงพยาบาลอาจถึงขีดจำกัดจนไม่สามารถรับกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดได้เท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านั้นบ้านพักฉุกเฉินทั้งของรัฐและองค์กรภาคประชาสังคมอื่นอาจไม่สามารถรองรับเคสใหม่เพิ่มได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดภายในสถานที่ซึ่งเดิมทีก็มีความแออัดอยู่แล้ว

 

หากย้อนกลับไปเมื่อตอนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ส่งผลให้ประชาชนต้องติดอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุกชะงักในวงกว้างเหมือนครั้งนี้ ก็จะพบว่าจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นจาก 943 กรณี ในปี 2553 เป็น 1,075 กรณี ในปี 2554 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ก่อนที่จะลดลงในปี 2555 (901 กรณี) และ 2556 (881 กรณี) ตามลำดับ5 

 

หากพิจารณาว่าการประกาศใช้มาตรการกักตัวอยู่บ้านเพิ่งเริ่มขึ้นตอนปลายเดือนมีนาคม จำนวนกรณีความรุนแรงในครอบครัวที่เข้ามาทางสายด่วน 1300 ก็อาจจะมีเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนนี้ และหากมีการปิดโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ โดยให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านต่อหลังสิ้นเดือนเมษายน ก็คาดว่ากรณีความรุนแรงในครอบครัวจะเพิ่มขึ้นอีกในเดือนถัดไป

 

มาตรการเสริมที่รัฐควรจัดให้

ดร.บุญวรา ทิ้งท้ายในบทความด้วยการให้คำแนะนำว่า หน่วยงานของรัฐแม้จะมีการยอมรับว่ากรณีความรุนแรงในครอบครัวอาจเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการใช้มาตรการกักตัวอยู่บ้าน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการออกมาตรการป้องกันและรับมือความรุนแรงในครอบครัวช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นรูปธรรม โดยคำแนะนำที่ออกมายังคงเน้นไปที่การพึ่งตนเองและหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เช่น หากิจกรรมทำร่วมกัน ประดิษฐ์สิ่งของและทำอาหาร เป็นต้น6 โดยยังไม่มีมาตรการจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ดี รัฐบาลสามารถมีบทบาทในการป้องกันและรับมือความรุนแรงในช่วงโรคระบาดได้มากขึ้น โดยออกมาตรการเสริมดังต่อไปนี้

 

  1. เพิ่มการประชาสัมพันธ์ช่องทางขอความช่วยเหลือทุกรูปแบบ ทั้งของรัฐและองค์การประชาสังคมต่างๆ ตั้งแต่การโทรศัพท์ ส่งข้อความ แชตผ่านเพจ หรือจดหมาย
  2. ขอความร่วมมือโรงแรมหรือโฮสเทลที่ว่างอยู่ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวในช่วงนี้ ในการเป็นที่พักฉุกเฉินสำหรับผู้ถูกกระทำ หรือมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและไม่สามารถอยู่บ้านได้ เช่น เคยถูกทำร้ายในอดีต

 

มาตรการกักตัวอยู่บ้านเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ แต่หากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความรุนแรงในบ้านโดยที่ไม่มีมาตรการอะไรออกมารองรับแล้ว มูลค่าความเสียหายของความรุนแรงในครอบครัวที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ถูกกระทำเป็นเด็กแล้ว เช่น การรักษาพยาบาล การบำบัดทางจิตใจ การใช้สุราและยาเสพติด หรือการเข้าสู่วงจรความรุนแรงเพราะประสบการณ์ถูกกระทำในอดีต อาจไม่น้อยไปกว่าความเสียหายจากโรคระบาดนี้ก็เป็นได้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • 1: Unicef, “ยูนิเซฟชี้เด็กเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้านความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง และการถูกแสวงประโยชน์ ในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19” https://www.unicef.org/thailand/th/press-releases/ยูนิเซฟชี้เด็กเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้านความรุนแรง- การถูกทอดทิ้ง (สืบค้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563)
  • 2: Scottie Andrew, “Domestic violence victims, stuck at home, are at risk during coronavirus pandemic,” https://edition.cnn.com/2020/03/27/health/domestic-violence-coronavirus-wellness-trnd/index.html (สืบค้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563)
  • 3: The Guardian, “Lockdowns around the world bring rise in domestic violence,” https://www.theguardian.com/society/2020/mar/28/lockdowns-world-rise-domestic-violence (สืบค้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563)
  • 4: Forbes,” How The COVID-19 Pandemic Is Upending The Alcoholic Beverage Industry,” https://www.forbes.com/sites/joemicallef/2020/04/04/how-the-covid-19-pandemic-is-upending-the-alcoholic-beverage-industry/#6769fc7d4b0b (สืบค้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563)
  • 5: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, “รายงานสรุปจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวประจำปี,” http://violence.in.th/violence/report/violence/report001.aspx (สืบค้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563)
  • 6: มติชน, “สค.ห่วงกักตัวอยู่บ้าน หนีโควิด-19 ทำความรุนแรงในครอบครัวพุ่ง แนะคลิป DIY สิ่งประดิษฐ์,” https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2124620 (สืบค้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X