มาตรการเงินเยียวยาโควิด-19 รอบใหม่อย่าง ‘เราชนะ’ ที่จะใช้วงเงิน 210,000 ล้านบาท แต่หลายเงื่อนไขยังกีดกันประชาชนบางส่วนที่เข้าไม่ถึงเงินเยียวยา จึงทำให้เกิดเรื่องใหม่ๆ ของรัฐอย่าง ‘ม.33 เรารักกัน’ และการใช้บัตรประชาชนในการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์
แต่เงื่อนไขใหม่ๆ นี้จะเข้าถึงประชาชนได้เท่าไร และใครที่รัฐมองว่าไม่ต้องใช้มาตรการนี้บ้าง?
คลังเจาะกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน-คนแก่ ฯลฯ ใช้บัตรประชาชนจ่ายร้านค้าได้
กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทางกระทรวงการคลังเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อปรับเงื่อนไขให้กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ไม่สามารถใช้แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ได้ เช่น คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้พิการ คนชรา ผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ สามารถใช้บัตรประชาชนที่มีชิปการ์ด (และรหัส PIN) เพื่อใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ ‘เราชนะ’ ที่รัฐให้ได้ (ไม่ต้องเปิดบัญชีธนาคารเพิ่ม ข้อมูลวงเงินจะอยู่ที่ระบบประมวลผลกลาง)
โดยประชาชนที่บัตรประชาชนไม่มีชิปการ์ด ต้องทำบัตรประชาชนรุ่นใหม่ก่อนจึงจะสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ (เพื่อใช้จ่ายเงินผ่านเครื่อง EDC และแอปฯ เป๋าตัง)
ทั้งนี้กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษจะต้องลงทะเบียนที่สาขาธนาคารกรุงไทย หรือจุดบริการเคลื่อนที่ที่รัฐจัดให้ในพื้นที่ ในช่วงเวลา 15-25 กุมภาพันธ์ 2564 โดยจะติดตามการใช้จ่ายผ่านบัตรประชาชน เพื่อโอกาสในการปรับใช้ในอนาคต
“การแก้เงื่อนไขใช้บัตรประชาชนจ่ายได้ อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพราะต้องใช้ บัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด (Smart Card) มาลงทะเบียนขอรับสิทธิ์โครงการฯ”
เบื้องต้นทางกระทรวงการคลังคาดว่าจะมีประชาชนได้รับสิทธิ์เราชนะรวม 31.1 ล้านคน โดยปัจจุบันรัฐโอนสิทธิ์ให้ประชาชนแล้ว 28.5 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน กลุ่มผู้มีฐานข้อมูลใน ‘เป๋าตัง’ 8.4 ล้านคน และกลุ่มที่ 3 ซึ่งลงทะเบียนเพิ่มเติมอีก 8-9 ล้านคน
กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง
คลังเผยยอดคนสอบตกเราชนะ 4.2 ล้านคน ชี้คนขอทบทวนสิทธิ์ 3.9 แสนราย
ในกรณีประชาชนที่ยังไม่มีฐานข้อมูลในระบบ ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราชนะในช่วง 29 มกราคม ถึง 12 กุมภาพันธ์ 2564 โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 10.6 ล้านราย ผ่านการคัดกรองแล้ว 6.4 ล้านคน และจะเปิดให้ทบทวนสิทธิ์ (ผู้ไม่ผ่านเกณฑ์) ปัจจุบันมีผู้ขอทบทวนสิทธิ์แล้ว 3.9 แสนราย
โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์รายได้ เช่น กลุ่มผู้ที่ยื่นทบทวนสิทธิ์ 8-9 กุมภาพันธ์ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีปี 2563 ผ่านระบบออนไลน์ก่อน 17 กุมภาพันธ์ 2564 และผู้ยื่นทบทวนสิทธิ์ในวันอื่น ต้องแสดงรายการภาษีปี 2563 ภายใน 7 วัน ไม่เกิน 8 มีนาคม 2564
กรุงไทยตอบ ‘เป๋าตัง’ ระบบล่ม 5 กุมภาพันธ์ เพราะเน็ตขัดข้อง
กรณีแอปฯ เป๋าตังขัดข้องและต้องประกาศปิดระบบในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ระบบที่ล่มเกิดจากการประมวลผลระบบสิทธิ์ใหม่ (เราชนะ) ต่างจากระบบสิทธิ์เดิม (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ซึ่งเมื่ออินเทอร์เน็ตกระตุกบางช่วงจึงส่งผลต่อการเชื่อมโยงสองระบบนี้
“ครั้งนี้กรุงไทยตรวจสอบได้เร็ว จึงหยุดได้เร็ว และพบว่ามียอดการใช้จ่ายซ้ำซ้อน 25,000 คน คิดเป็น 0.7% ของยอดใช้จ่ายในวันนั้น เป็นรูปแบบรายการใช้เกินสิทธิ์”
ทั้งนี้พบว่ามีการใช้จ่ายที่ผิดปกติอย่างมากใน 152 ร้านค้า และผู้ใช้จำนวน 167 คน ทางกรุงไทยในพื้นที่จึงร่วมกับเจ้าหน้าที่ปกครอง เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง เพื่อตรวจสอบเชิงลึกเพิ่มเติม โดยกรณีนี้มีมูลค่าราว 3 แสนบาท โดยคลังจะตรวจหากรณีการโกงอย่างต่อเนื่อง
คลังย้ำเกณฑ์ไม่เยียวยากลุ่มมีเงินฝาก 5 แสนบาท เพราะมีคนที่จำเป็นกว่า
ช่วงที่ผ่านมาประชาชนมีคำถามถึงเกณฑ์การเยียวยาของภาครัฐอาจกีดกันผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และผู้มีเงินฝากในบัญชีรวมกัน 5 แสนบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 แต่อาจถูกไล่ออกและได้รับเงินก้อนไว้มาเป็นเงินฝาก ฯลฯ
กุลยาตอบคำถามเหล่านี้ว่า ตอนนี้ข้อมูลเงินฝากเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดในการแยกแยะคนที่มีสินทรัพย์ ซึ่งในช่วงเวลาวิกฤตนี้ที่ต้องการเยียวยาเร็ว จึงไม่ได้ใช้สินทรัพย์อื่นๆ มาประเมินร่วมเหมือนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ต้องใช้มูลค่าที่ดินมาร่วมประเมิน โดยคนไทยที่มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทมีอยู่ 1.8 ล้านคน จากประชากรราว 66.5 ล้านคน
ทั้งนี้การดูสินทรัพย์ โดยเลือกดูบัญชีเงินฝากเพื่อเปรียบเทียบว่ากลุ่มไหนต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด เช่น ณ วันนั้น คนที่มีเงินฝาก 1 แสนบาท หรือ 5 แสนบาทต้องดูแลมากกว่ากัน รวมถึงเกณฑ์เราชนะยังดูเรื่องเงินเดือนด้วย ซึ่งจะดูเงินเดือนอย่างเดียวไม่ได้ เช่น กลุ่มเกษียณอายุอาจจะมีเงินฝากสูง จึงได้ออกมาเป็นเกณฑ์นี้เพื่อเร่งดูแลคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด
อย่างไรก็ตามมองว่าประชาชนเข้าถึงมาตรการของรัฐแล้ว ซึ่งรวมถึงมาตรการกระตุ้น อย่าง คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ก็เข้าถึงคนกลุ่มอื่นๆ แล้ว โดยตอนนี้ยังไม่ได้มีแผนออกมาตรการกระตุ้นอย่างคนละครึ่งเฟส 3 เพิ่มเติม
สุดท้ายยังต้องติดตามว่าภาครัฐจะประคองสถานการณ์โควิด-19 มุมประสิทธิภาพของการกระตุ้น/เยียวยา และมุมเสถียรภาพของการคลัง โดยกระทรวงการคลังต้องไม่ลืมโจทย์สำคัญว่า ต้นทุนและค่าเสียโอกาสในการทำมาตรการแต่ละด้านส่งผลต่อประเทศอย่างไร
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า