×

บิดเบือนตรงไหนเอาปากกามาวง! เมื่อการ Call out ของคนดังสะท้อนความเปราะบางของรัฐบาล

22.07.2021
  • LOADING...
Celebrity Call out

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งพิสูจน์แล้วจากสถานการณ์โควิดว่าแค่ก้มหน้าก้มตาทำมาหากินไปอย่างเดียวคงไม่พอ เมื่อการบริหารงานของรัฐบีบบังคับให้เราต้องหยุดงาน ในฐานะดารานักแสดงก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง การที่ออกมาแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงกระทำ
  • หมาก-ปริญ สุภารัตน์, ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ และ คิมเบอร์ลี่ แอน เทียมศิริ ออกมาเรียกร้องวัคซีน mRNA ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐไปร้องให้ตำรวจนครบาลตรวจสอบพวกเขานี่สิ มันใช่เรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยหรือไม่? ในเมื่อเชื้อไวรัสมันพัฒนาไปไวกว่าการทำงานของรัฐบาล ประชาชนจะออกมาทวงถามมันผิดตรงไหน เพราะนี่หมายถึงชีวิตและความปลอดภัยของตัวเขาเอง และอย่าลืม เงินเดือนของรัฐบาลก็มาจากภาษีที่ประชาชนทุกคนจ่ายให้ ทำงานดีไม่ดีอย่างไรทำไมประชาชนถึงไม่สิทธิ์วิจารณ์
  • ดารา นักร้อง นักแสดง และนักการเมือง มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคืออาชีพที่เกิดจากความนิยมของมวลชน หากดารานักแสดงคนนั้นๆ ถูกวิจารณ์ว่าไม่ดี หน้าที่ก็คือทำตัวเองให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับนักการเมือง เมื่อได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือกลับไปบริหารงานให้ดีขึ้น ไม่ใช่ข่มขู่ ควบคุม เพราะท้ายที่สุด คนที่ชี้วัดชะตาชีวิตของพวกคุณก็คือมวลชน

ความทุกข์ของคนมันชัดมาก มองด้วยตาเปล่า สัมผัสด้วยใจก็รู้สึกแล้วค่ะ” นี่คือส่วนหนึ่งของข้อความที่ จุ๋ย-วรัทยา นิลคูหา ออกมา​​วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโควิด ซึ่งก็ไม่ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ แต่ก็คงจะยากเกินไปสำหรับฝ่ายรัฐ จึงทำให้เกิดกรณีที่ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมากล่าวเตือนดารา นักแสดง และอินฟลูเอนเซอร์ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด รวมถึงการที่ สนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือเพื่อให้ตั้งคณะกรรมการติดตาม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ กรณีการ Call out ของคนดังเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิดในปัจจุบัน นี่เป็นอีกหนึ่งในอีกหลายสิบครั้งที่สะท้อนความเปราะบางและความอ่อนด้อยด้านการสื่อสารของฝ่ายรัฐ

 

“ที่สำคัญ กลุ่มดารา นักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ เป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนรักและศรัทธา ขอความกรุณาอย่าใช้สิ่งเหล่านี้เคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีรัฐบาล เพราะสิ่งที่ทำเป็นการบิดเบือนข้อมูล เป็นการสร้างเฟกนิวส์ในระบบคอมพิวเตอร์ ท่านพูดแต่ว่าทุกวันนี้มีคนตายเป็นจำนวนมากเพราะโควิด เนื่องจากวัคซีนไม่ดีและเป็นความผิดของรัฐบาล แล้วมันจริงหรือไม่ ขอให้อย่ามองเพียงด้านเดียว ต้องนึกถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมา ได้จัดหาวัคซีนมาอย่างดีตามมาตรฐานเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเราตอนนี้” ชัยวุฒิกล่าว

 

Call out

จุ๋ย-วรัทยา นิลคูหา

 

Call out

ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่

 

อย่างแรกต้องทำความเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งพิสูจน์แล้วจากสถานการณ์โควิดว่าแค่ก้มหน้าก้มตาทำมาหากินไปอย่างเดียวคงไม่พอ เมื่อการบริหารงานของรัฐบีบบังคับให้เราต้องหยุดงาน ในฐานะดารานักแสดงก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง การที่ออกมาแสดงความคิดเห็นก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงกระทำ ซึ่งออกจะช้าไปด้วยซ้ำในความรู้สึกของประชาชนหลายกลุ่ม ในข้อต่อมาเรื่องการกล่าวหาว่าวัคซีนไม่ดีและเป็นความผิดของรัฐบาล ก็ต้องย้อนถามไปถึงแผนการจัดหาวัคซีนของฝ่ายรัฐ ซึ่งค่อยๆ เผยให้เห็นถึงข้อผิดพลาดต่างๆ ทั้งในจำนวนยอดสั่งซื้อ ความล่าช้าในการตัดสินใจ และการไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ตั้งแต่แรก ในข้อสุดท้ายนี้ฝ่ายรัฐเองก็เพิ่งออกมายอมรับ

 

ส่วนเรื่องวัคซีนประสิทธิภาพต่ำ ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ไม่ได้ก็ไม่ใช่การพูดแบบลอยๆ แต่อาศัยผลการวิจัยจากหลายๆ ช่องทางที่หาได้ง่ายๆ แค่การเสิร์ชจาก Google อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีอยากให้คนไทยทำ ดังนั้นการที่ หมาก-ปริญ สุภารัตน์, ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ และ คิมเบอร์ลี่ แอน เทียมศิริ ออกมาเรียกร้องวัคซีน mRNA ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐไปร้องให้ตำรวจนครบาลตรวจสอบพวกเขานี่สิ มันใช่เรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยหรือไม่? ในเมื่อเชื้อไวรัสมันพัฒนาไปไวกว่าการทำงานของรัฐบาล ประชาชนจะออกมาทวงถามมันผิดตรงไหน เพราะนี่หมายถึงชีวิตและความปลอดภัยของตัวเขาเอง และอย่าลืม เงินเดือนของรัฐบาลก็มาจากภาษีที่ประชาชนทุกคนจ่ายให้ ทำงานดีไม่ดีอย่างไรทำไมประชาชนถึงไม่สิทธิ์วิจารณ์

 

Call out

Call out

มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล

Call out

หมาก-ปริญ สุภารัตน์, ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์

 

ผู้เขียนเองค่อนข้างข้องใจเรื่องหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ทั้งคนก่อนหน้าและคนปัจจุบันว่า คอยตรวจสอบแต่เฟกนิวส์อย่างนั้นหรือ แทนที่จะไปพัฒนาระบบดิจิทัลในช่วงที่ประชาชนต้องอาศัยช่องทางออนไลน์ทำมาหากิน ทำไมไม่ทำ แล้วก็อยากจะย้อนถามกลับไปว่า ข่าวประเทศไทยจะมีวัคซีนมากที่สุดในอาเซียน, วัคซีนจะฉีดเต็มแขนคนไทยทุกคนภายในสิ้นปีนี้ หรือเช้าประกาศอย่าง เย็นประกาศอีกอย่าง เหล่านี้เข้าข่ายเฟกนิวส์หรือไม่

 

เวลาที่เราสื่อสารกับใครแล้วไม่อยากให้เอิกเกริกเราจะกระซิบ ถ้าไม่ได้ยินเราจะพูด ถ้าพูดแล้วไม่ฟังอีกเราจะตะโกน การที่ประชาชนต้องออกมาตะโกนแบบนี้เกิดขึ้นเพราะใคร คงไม่ต้องตอบ ที่น่าแปลกกว่าคือขนาดตะโกนแล้วก็ยังไม่ฟัง จึงทำให้พวกเขาพุ่งเป้าไปหาคนที่มีเสียงดังกว่า นั่นคือคนมีชื่อเสียง จึงทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้คนดัง Call out มาสักระยะหนึ่ง และมาเห็นผลชัดเจนในช่วงนี้ที่มีนักแสดงเบอร์ใหญ่ออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หลายคนแสดงออกอย่างจริงใจ หลายคนแสดงออกอย่างเสียมิได้ แบบหล่อนมีพิรุธนะดาหวัน และบางคนแสดงทัศนคติแบบขอบคุณนะคะที่กล้าจะสอนหนู

 

Call out

ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก

 

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอยากให้ทุกคนโอบรับพวกเขาเอาไว้ เพราะอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าเขาเริ่มเข้าใจความทุกข์ยากของคนเดินธรรมดาบ้างแล้ว ดารา นักร้อง นักแสดง และนักการเมือง มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคืออาชีพที่เกิดจากความนิยมของมวลชน หากดารานักแสดงคนนั้นๆ ถูกวิจารณ์ว่าไม่ดี หน้าที่ก็คือทำตัวเองให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับนักการเมือง เมื่อได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือกลับไปบริหารงานให้ดีขึ้น ไม่ใช่ข่มขู่ ควบคุม เพราะท้ายที่สุด คนที่ชี้วัดชะตาชีวิตของพวกคุณก็คือมวลชน ถ้าคิดว่าเปราะบางจนรับคำวิจารณ์ไม่ได้ ลองไปปรึกษาคนดังดู พวกเขามีภูมิต้านทานคำด่าดีกว่าคุณเสียอีก

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising