×

ทำอย่างไรเมื่อนักแสดงแสดง แต่สุดท้ายดันไม่ได้แสดง

19.02.2018
  • LOADING...

หนังเรื่องล่าสุดของนายซาเวียร์ โดลอง เรื่อง The Death and Life of John F. Donovan ที่มีนักแสดงมากมาย เช่น คิต แฮริงตัน, นาตาลี พอร์ตแมน, เจค็อบ เทรมเบลย์ และเจสสิก้า เชสแทน เพิ่งได้รับการประกาศจากตัวผู้กำกับเองว่า ในร่างตัดต่อสุดท้ายของหนังเรื่องนี้จะมีการตัดบทของเจสสิก้าออกทั้งหมด แม้ว่าจะมีการถ่ายทำกันไปเรียบร้อยแล้ว โดยตัวซาเวียร์ให้เหตุผลว่าร่างแรกของหนังเรื่องนี้ยาว 4 ชั่วโมง และเขาเริ่มค้นพบว่าตัวละครที่เจสสิก้านำแสดงนั้นเริ่มไม่ค่อยมีความสำคัญกับเรื่องขึ้นเรื่อยๆ เขาเลยจำเป็นต้องตัดทุกฉากที่มีเธอออกไปเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของตัวหนังเอาไว้ โดยทั้งนี้มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแสดงของเจสสิก้าแต่อย่างใด

เป็นความหนักใจของผู้กำกับที่สุดยามต้องตัดอะไรออกไปจากหนังที่ถ่ายมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเบสิกๆ อย่างการโดนตัดออกด้วยคำพิพากษากองเซนเซอร์ แค่นี้ก็ปวดใจแล้ว เพราะว่าหนังที่เราอุตส่าห์ปั้นมาอย่างเนี้ยบจะต้องถูกตัดบางส่วนออก ซึ่งอาจทำให้คอมโพสิชันของหนังเปลี่ยนแปลงไป และอาจกระทบกับส่วนอื่นของหนัง

ถ้าเวอร์ชันทำใจยากขึ้นมาหน่อยก็คือการตัดฉากที่ไม่จำเป็นออกจากหนังด้วยการพิจารณาของตัวผู้กำกับเอง เพราะบางทีเราเองรู้ตัวว่าฉากนี้มันยากมากกว่าจะถ่ายมาได้ ผ่านความลำบากของทีมงานมากกว่าจะได้ความงามของช็อตนั้น แต่บางครั้งพอเอามาใส่ในหนังเต็มมันก็ไม่เข้ากัน ก็จำเป็นต้องตัดออก แต่เวอร์ชันที่ยากที่สุดจริงๆ คือตัดบทของนักแสดงออกทั้งหมด ทั้งๆ ที่เตรียมตัวมาด้วยกันและออกไปถ่ายกันมาแล้วนี่แหละ

 

Photo: cinema.everyeye.it

 

โดยส่วนตัว บางครั้งผมก็เคยเจอเหตุการณ์นี้บ้างนะครับ เช่น เราอาจต้องตัดบทตัวละครสมทบบางตัวออก เพราะมันไม่จำเป็นกับตัวหนัง แค่นี้เราก็รู้สึกอยากเดินเข้าไปขอโทษพี่ๆ น้องๆ นักแสดงเหล่านั้นแล้ว แต่นั่นก็ยังเป็นเคสเบาหน่อย เพราะพี่ๆ เขาอาจจะมาถ่ายกับเราแค่ครึ่งวัน หรือเจอกันไม่นานนัก พอวันนี้มานั่งอ่านข่าวของซาเวียร์ในการตัดเจสสิก้า ผู้รับบทเป็นตัวหลักออกหมด (ทั้งๆ ที่เคยมีโปสเตอร์เวอร์ชันเจสสิก้าออกมาแล้วด้วยซ้ำ) ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าหลังบ้านของหนังเรื่องนี้จะวุ่นวายแค่ไหน


การตัดนักแสดงตัวหลักออกจากหนังนั้นถือเป็นความรุนแรงแบบหนึ่ง ก็อย่างที่ว่า ขนาดนักแสดงสมทบโดนตัดออกเราอาจจะยังรู้สึกผิดได้เลย การตัดนักแสดงตัวหลักออกนั้น แม้ว่าเขาจะได้สตางค์เท่าเดิมก็ตาม แต่สุดท้ายมันก็เท่ากับว่าเขาไม่เคยแสดงหนังเรื่องนี้มาก่อน ถ้าถามว่าออกแรงฟรีไหม ก็คงไม่ เพราะยังไงก็ได้เงิน แต่มันเป็นเรื่องทางใจมากกว่า บางครั้งนักแสดงเรื่องนั้นมากองถ่ายทุกวัน เจอผู้กำกับทุกวัน เจอทีมงานทุกวัน เจอนักแสดงคนอื่นทุกวัน บางทีเจอกันครึ่งปีหรือ 1 ปีก็อาจจะผูกพันกันไปเรียบร้อย แถมรู้สึกว่าเป็นทีมเดียวกันอีก แต่พอเวลาฉายจริงกลับไม่มีตัวเองอยู่ (และไม่อยากจะคิดว่าถ้าหนังเรื่องนี้ไปได้ดีตอนที่ฉายหรือเข้าชิงรางวัลอะไรมากมาย นักแสดงเองก็อาจจะเสียดายโอกาสนี้มากๆ) ในเคสนี้ผมคิดว่าซาเวียร์กับเจสสิก้าก็คงสนิทกันมากด้วย เพราะต่างคนก็ต่างชื่นชมกันและกันมาตลอดก่อนที่จะได้ทำงานกันจริงๆ พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็คงไม่ง่ายสำหรับทั้งสองฝ่าย

 

Photo: ew.com

 

กลับมาถามว่าทำไมเหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดขึ้น ถ้าสุดท้ายแล้วตัวละครหลักตัวนี้ไม่มีความสำคัญกับเรื่องแล้วเขียนบทตัวนี้ขึ้นมาตั้งแต่แรกทำไม แถมต้องไปเสียเงินทองและเสียเวลาในการถ่ายทำซีนของตัวละครตัวนี้อีก อันนี้ต้องขออธิบายว่าการเขียนบทนั้นมันเหมือนแค่การคาดเดาล่วงหน้าคร่าวๆ ว่าเราควรจะออกไปถ่ายทำอะไรมาบ้างเฉยๆ เพราะเบื้องหน้าของเรามีแค่ตัวหนังสือที่บรรยายฉากและสถานที่ รวมถึงท่าทางและบทพูดของตัวละครบางอย่าง ซึ่งถ้าเราฉายหนังด้วยการฉายบทภาพยนตร์ขึ้นจอในโรงเลย มันก็คงได้หนังที่ตรงกับบทจริงๆ


แต่ในความเป็นจริงคือเราต้องออกไปถ่ายทำสถานที่จริง บันทึกแววตาของนักแสดง บันทึกอารมณ์บางอย่างของนักแสดงคนอื่นๆ ในฉาก เสียงบรรยากาศบางอย่างที่ไม่เคยมีอยู่ในสคริปต์ก็อาจจะมีผลต่อบรรยากาศของหนังด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะทำให้หนังที่เคยมีอยู่ในหัวเรานั้นค่อยๆ เปลี่ยนไปจากที่เคยเห็นสมัยเขียนบท บางอย่างที่เขียนในบทอาจจะเยอะเกินไปเมื่อมาอยู่หน้ากองถ่ายหรือในห้องตัดต่อ ดังนั้นบางครั้งตัวละครที่เคยเป็นตัวสำคัญสมัยเขียนบทภาพยนตร์นั้นก็อาจจะไม่สำคัญอีกเลยเมื่อตัวละครเหล่านั้นกลายเป็นภาพ


ในเคสของซาเวียร์นี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจดูเป็นสิ่งที่ทำให้เขาต้องพาเจสสิก้าออกไปนั่นคือการที่หนังมีความยาว 4 ชั่วโมง ผมคิดเล่นๆ ว่าจริงๆ แล้วซาเวียร์อาจต้องการให้หนังยาว 4 ชั่วโมงจริงๆ ก็ได้ เป็นความยาวที่ถูกต้องของหนังเรื่องนี้สำหรับเขา แต่แน่นอนว่าการที่คุณทำหนัง 4 ชั่วโมง คนที่จะมีปัญหากับมันมีมากมาย เช่น คนออกเงินทุนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเวลาผิดมาตรฐานของความอดทนในการดูหนังของคนทั่วไป ซึ่งความยาวสุดๆ ของมันก็อาจมีผลต่อการจัดรอบฉายของโรงภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน หนังอาจจะโดนลดเหลือไม่กี่รอบต่อวัน และพอรอบต่อวันน้อยลงแล้วนั้น ผู้สร้างก็จะได้เงินน้อยลงตามไปด้วย (หนัง 1 เรื่องจะยาว 90 นาทีหรือ 4 ชั่วโมง ค่าตั๋ว 1 รอบก็จะเท่ากันอยู่ดี ถ้าทำหนัง 90 นาที อาจจะฉายได้ 6 รอบต่อวัน สมมติเล่นๆ ว่ารอบนั้นคนเต็มโรงจะได้ 100 บาท ก็แปลว่าวันหนึ่งได้ 600 บาท ในขณะทำหนัง 4 ชั่วโมง ยัดใส่โรงแค่ไหนก็ได้แค่ 2-3 รอบ นั่นแปลว่าต่อให้คนเต็มโรง ผู้สร้างก็จะได้แค่ 300 บาทต่อวัน)


หลังบ้าน ณ ห้องประชุมของคนสร้างหนังเรื่อง The Death and Life of John F. Donovan เป็นอย่างไร แบบไหน อันที่จริงก็ไม่มีใครรู้ หรือซาเวียร์อาจจะรู้สึกว่าเจสสิก้าเล่นแย่จริงๆ แล้วอ้างเหตุผลอื่นในการตัดเธอออกก็เป็นได้ แต่สุดท้ายไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหน ผู้กำกับต้องไปเคลียร์กับนักแสดงให้ลงกันเอง ซาเวียร์กล่าวว่าแม้ว่าเราจะพลาดกันครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ได้ทำงานกันอีกในอนาคต (แต่ลองคิดกลับในแง่ดีแบบเอาใจช่วยและปลอบใจสุดๆ สำหรับเจสสิก้า บางทีหนังอาจจะออกมาไม่ดีจนเธอรู้สึกโชคดีที่โดนคัตออกไปจากหนังเรื่องนี้ก็ได้นะ (ฮา) )


สุดท้ายแล้วผู้กำกับก็คือผู้สร้างหนัง เขาคือคนเดียวที่จะบอกได้ว่าอะไรสำคัญกับหนังมากที่สุด ตราบใดที่เขายังเป็นคนทำหนัง ไม่ใช่คนที่อยากเป็นเพื่อนกับนักแสดง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising