หลังมีการประกาศผู้ชนะในรัฐเพนซิลเวเนีย ทำให้ โจ ไบเดน ได้คะแนนเสียงคณะผู้เลือกตัังเพิ่มอีก 20 เสียง รวมเป็น 273 เสียง ส่งผลให้เขาชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอนแล้ว
THE STANDARD รวบรวมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรอบด้านจากมุมมองของนักวิชาการและผู้ที่คร่ำหวอดในแต่ละแวดวงเพื่อฉายภาพที่ ‘อาจจะ’ เกิดขึ้น ในกรณีที่ไบเดนได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่
อเมริกาโฉมใหม่: Buy American ทุ่มงบ 7 แสนล้านส่งเสริมการพัฒนาประเทศ
เราจะได้เห็นการดำเนินการตามแผน ‘Buy American’ หรือ ‘ซื้อของอเมริกัน’ ที่ตัวไบเดนเคยหาเสียงไว้เป็น ‘รูปธรรม’ ซึ่งจะใช้งบประมาณลงทุนทั้งสิ้นราว 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและซื้อสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทอเมริกัน (นับเป็นการทุ่มงบประมาณลงทุนก้อนใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2)
โดยเม็ดเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะถูกแบ่งการใช้งาน 2 ส่วน ได้แก่
- 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 5G และเทคโนโลยี AI
- 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับรัฐบาลกลางในการซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทอเมริกัน
ซึ่งคาดว่าผลพวงจากการทุ่มงบลงทุนในครั้งนี้จะช่วยสร้างงานได้กว่า 5 ล้านตำแหน่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและนวัตกรรม รวมถึงการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ทรัมป์ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง)
อย่างไรก็ดี หนึ่งในข้อกังวลที่นักลงทุนยังคงเป็นห่วงคือประเด็นการขึ้นภาษีบริษัทจดทะเบียน (นิติบุคคล) ซึ่ง นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส Chief Investment Officer บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เชื่อว่า กรณีนี้อาจ ‘ส่งสัญญาณร้าย’ สำหรับตลาดหุ้น เพราะทำให้ตลาดกังวลว่าอาจได้เห็นอัตราภาษีถูกปรับกลับขึ้นไปที่ 28% จากระดับปัจจุบัน 21%
โควิด-19: ความร่วมมือกับนานาประเทศพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เด่นชัด
ในการหาเสียงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไบเดนเคยประกาศเอาไว้ว่า หนึ่งในแผนจัดการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของเขาคือการผลักดันโครงการแจกจ่ายวัคซีนแก่ชาวอเมริกันทุกคน ‘ฟรี’
โดย สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้แสดงความเห็นกับ THE STANDARD เอาไว้ว่า สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของไบเดนจะนำพาประเทศไปสู่การขับเคลื่อนความร่วมมือทางการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในระดับโลกกับประเทศต่างๆ มากขึ้น (Global Vaccine Diplomacy)
สิ่งแวดล้อม: พลังงานสะอาดและความร่วมมือในเวทีโลกจะเริ่มเป็นรูปร่าง
นโยบายของไบเดนค่อนข้างใส่ใจและให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดเป็นอย่างมาก โดยเขาเคยประกาศเอาไว้ว่าจะลงทุนในโครงการพลังงานสีเขียวด้วยเม็ดเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (SCB EIC เชื่อว่าอาจทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ผลิตรถยนต์สันดาปได้รับผลกระทบด้วย) นอกจากนี้เราจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในเชิงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมต่อจากนี้
โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน (Climate Change Diplomacy) การเตรียมร่างโครงการ ‘เศรษฐกิจพลังงานสะอาด’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร รวมถึงโอกาสในการกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)
เทคโนโลยี: ยกระดับมาตรการต่อต้านบริษัทเทคโนโลยีผูกขาดตลาด
หลายเดือนที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ขึ้นให้การต่อสภาครองเกรสอยู่หลายต่อหลายครั้งในประเด็นการต่อต้านการดำเนินธุรกิจที่เข้าข่ายการผูกขาด ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อไบเดนขึ้นมาดำรงตำแหน่งประนาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว หลายฝ่ายเชื่อว่าเขาจะให้ความสำคัญในประเด็นต่อต้านการผูกขาดอย่างจริงจังและเข้มงวดมากขึ้น
นโยบายต่างประเทศ: สงครามการค้าส่อเค้าตึงเตรียดน้อยลง การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนานาประเทศจะเคลื่อนไปในเชิงบวก รอยร้าวจีนอาจสมานได้ดีขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า หากไบเดนชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกก็จะดำเนินไปในทิศทางการคลี่คลายเชิงบวกมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากการที่ความขัดแย้งในประเด็น ‘สงครามการค้า’ ที่จะตึงเครียดน้อยลง รวมถึงยังมีโอกาสสูงที่เราจะได้เห็นเงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯ ไปยังกลุ่มประเทศเกิดใหม่
โดยไบเดนมีความพยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีที่เคยมีมากับชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า เราจะได้เห็นสหรัฐฯ กลับเข้าสู่เวทีโลกมากขึ้นต่อเนื่อง เช่น WTO, CPTPP, WHO ฯลฯ
ขณะที่จากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเป็นทุนเดิมระหว่างไบเดนและสีจิ้นผิง (ในช่วงที่ไบเดนเคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน ทั้งสองได้ร่วมกันตั้งฟอรัม ‘Strategic Dialogue’ ขึ้น) สมภพ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เชื่อว่า เวทีพหุภาคีด้านการค้าระหว่างสองประเทศจะมีโอกาสจะกลับมาได้ง่ายขึ้น
รวมถึงมีความเป็นไปได้สูงที่เราอาจจะได้เห็นความร่วมมือด้าน 5G ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการกับโลกใบนี้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว (ย่นระยะเวลาแก้ปัญหาความเสี่ยง 3 ประการของโลกคือ โรคระบาด ความมั่นคง และเศรษฐกิจ)
อย่างไรก็ดี ไบเดนแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าตัวเขาจะไม่เพิกเฉยต่อการปฏิบัติด้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน โดยจะเลือกใช้วิธีการกดดันจีนผ่านพันธมิตรนานาชาติเพื่อให้ชาติมหาอำนาจจากเอเชียรับผิดชอบในประเด็นดังกล่าวในลักษณะที่ ‘ไม่อาจเพิกเฉยได้’
ผลกระทบต่อไทย: GDP ไทยอาจโตเฉลี่ย 2.7% ส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ส่อเค้าปรับตัวดีขึ้น 10-12%
สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ ได้แสดงทรรศนะเอาไว้ว่า หากไบเดนชนะการเลือกตั้ง GDP ของประเทศไทยในช่วงปี 2021-2026 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 2.7% (ต่ำกว่ากรณีทรัมป์ชนะอีกสมัย ซึ่งจะอยู่ที่ 3.2%) โดยสาเหตุสำคัญมาจากการที่นโยบายการขึ้นภาษีของพรรคเดโมแครตนั้นจะทำให้ภาคบริการของไทยเติบโตได้น้อยกว่านโยบายของทรัมป์
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินเอาไว้ว่า หากไบเดนได้เป็นผู้นำคนใหม่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหรัฐฯ เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลแปรรูป
ผลที่ตามมาคือ ภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2564 มีโอกาส ‘ขยายตัวได้ดี’ ในกรอบ 10-12% ด้วยมูลค่าส่งออกราว 36,700-37,300 ล้านดอลลาร์ต่อปี ดีขึ้นจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 6.4%
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า