×

ปี 2019 เผชิญกับสงครามการค้า ปี 2020 เผชิญกับโควิด-19 ปี 2021 เราจะเจอกับอะไร?

29.12.2020
  • LOADING...

ปี 2020 ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการลงทุนซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 สะท้อนผ่านความผันผวนจากดัชนี VIX Index ที่ปรับขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี ที่ 82.7 สินค้าโภคภัณฑ์อย่างราคาน้ำมันดิบ (WTI-F) ติดลบเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ที่ -37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,060 ดอลลาร์ (+35% จากปีที่ผ่านมา) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี ปรับตัวลงกว่า 1.35% มาอยู่ที่ 0.55% และสำหรับเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยกันทั่วโลก (Recession) 

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณการความเสียหายของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้สูงถึง 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณการเศรษฐกิจโลกหดตัว 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) นำโดยสหรัฐฯ -4.3% ยุโรป -6 ถึง -12% ญี่ปุ่น -5.3% 

 

สำหรับประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะ -7% ในขณะที่ประเมินว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจในปีนี้อาจเติบโต นำโดยจีน ไต้หวัน และเวียดนาม สำหรับตลาดหุ้นโลก (MSCI ACWI) ระหว่างทางปรับตัวลง 32% จากปีก่อนถึงจุดต่ำสุด

 

หลังจากนั้นธนาคารกลางและรัฐบาลในหลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ฯลฯ รวมเป็นวงเงินสูงกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลให้ความผันผวนเริ่มบรรเทาลง และหุ้นในกลุ่มที่ได้ประโยชน์อย่างกลุ่มเทคโนโลยี (NASDAQ) เป็นกลุ่มแรกที่ฟื้นตัวและปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดมากกว่า 76% ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ผลต่างระหว่าง MSCI Value (กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจที่ชะลอ อาทิ กลุ่มธนาคาร) กับ MSCI Growth (กลุ่มเทคโนโลยี) ปรับตัวลงทำระดับต่ำสุดเช่นกัน  

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยพบว่า SET Index ปรับตัวลงสูงถึง 38% ในช่วงเดือนมีนาคม จนทำให้ต้องพักการซื้อขายมากกว่า 3 ครั้ง (Circuit Breaker) โดยกำไรตลาดหุ้นถูกปรับประมาณการลงมากกว่า 45% นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแตะระดับ 3 แสนล้านบาท จนทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยลดลงเหลือเพียง 27% ต่ำสุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ

 

ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2020 บรรยากาศการลงทุนเริ่มดูดีขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ออกมาในลักษณะ Gridlock (ประธานาธิบดี โจ ไบเดน / ส.ว. พรรครีพับลิกัน / ส.ส. พรรคเดโมแครต) ซึ่งเราประเมินว่าการคานอำนาจระหว่างสองพรรคจะช่วยลดความร้อนแรงของนโยบายสุดโต่งได้บ้าง เช่น ภาษีการค้าระหว่างประเทศ ภาษีนิติบุคคุล ค่าแรงขั้นต่ำ ฯลฯ 

 

ในขณะที่คาดวงเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดลงจากกรณี Blue Wave ลดแรงกดดันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรผ่าน Earning Yield Gap (%) และคาดส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีความจำเป็นดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มสภาพคล่องผ่านการอัดฉีดเงินเข้าระบบ ซึ่งจะเป็นการเปิด Downside ต่อการอ่อนค่าของดอลลาร์ สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มสูงมาก ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลไปลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า 

 

โดยขนาดมาตรการ QE ตั้งแต่มีนาคมถึงตุลาคม 2020 อยู่ที่ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ กดดันให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (DXY Index) ลดลงมากสุดถึง 10.2% เทียบกับช่วงวิกฤตปี 2008 ที่ขนาด QE อยู่ที่ 1.32 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 14.2% 

 

ทั้งนี้เราคาดว่านโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องของ Fed จะกดดันให้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดถึง 88.0 (ประมาณการเงินบาทปีหน้าที่กรอบ 29.0-29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งหากอิงจากสถิติในอดีตพบว่า การที่สภาสหรัฐฯ ถูกแบ่งบริหารคนละพรรค จะส่งผลให้ GDP เติบโตน้อยกว่าการบริหารพรรคเดียว แต่ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงถึง 17% เมื่อเทียบกับพรรคเดียวบริหารที่ 10-12% ในขณะที่ความคืบหน้าของวัคซีนมีพัฒนาการในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก ภายหลัง 3 บริษัทชั้นนำอย่าง Pfizer Moderna และ AstraZeneca ต่างรายงานผลการทดลองวัคซีนระยะที่สามออกมาในประสิทธิผลสูงกว่า 70-95% และล่าสุดเริ่มมีการกระจายวัคซีนและเริ่มฉีดกันในบางประเทศแล้วนำโดยประเทศจีน สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีการประเมินว่าประชากรในระดับ 1 พันล้านคนจะได้รับวัคซีนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2021 

 

จากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด ส่งผลให้ตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะ Risk On และคาดว่าจะคงอยู่ต่อไปอย่างน้อยถึงช่วงไตรมาสแรกปี 2021 และสำหรับความกังวลเรื่องการกลับมาระบาดระลอกสองในประเทศ เรามองเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนระยะสั้น หากเทียบกับการปรับฐานของตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ที่เผชิญกับปัจจัยเดียวกัน พบว่าหลายประเทศก็เริ่มประกาศล็อกดาวน์เป็นพื้นที่แบบระยะยาวไปถึงกลางเดือนหน้า พบว่า เมื่อประกาศล็อกดาวน์ ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงราว 3-8% 

 

โดยปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดว่าตลาดหุ้นไทยจะลดลงมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้ สัดส่วนกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดหุ้น การกระตุ้นสภาพคล่องผ่าน QE และ ฐานะการคลังและเงินทุนสำรอง ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่มีสองปัจจัยแรก 

 

อย่างไรก็ตาม หากอิงจากเงินทุนสำรองขั้นต่ำของธนาคารเมื่อเทียบกับสินทรัพย์เสี่ยงพบว่าเกินเกณฑ์มากกว่าสองเท่า และสูงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเท่าตัวเช่นกันที่ 19% และทุนสำรองประเทศสูงกว่าระดับ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

ประกอบกับเครื่องมือการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการกู้หนี้สาธารณะยังมีช่องว่างที่สามารถทำได้ ฉะนั้นในระยะยาวเรายังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพระยะสั้น (ในเดือนมกราคม) โดยประเมินว่าการเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่ จะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกลุ่มคนกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งการระบาดในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน กล่าวคือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนมากไม่แสดงอาการ (Asymptomatic Case) และไม่รู้ว่าตัวเองติดโรค ทำให้เกิดการแพร่กระจายได้รวดเร็วและป้องกันลำบากยิ่งขึ้น 

 

ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อกระจายตัวไปมากกว่า 45 จังหวัดทั่วประเทศ แนะจับตาสมุทรสาคร ระยอง และกรุงเทพมหานคร หากอิงจากเทศกาล Thanksgiving ของสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเทศกาลสำคัญของสหรัฐฯ เกิดจากรวมตัวและเดินทางเป็นจำนวนมาก (American Automobile Association คาดจำนวนการเดินทางสูงกว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 15% ของจำนวนประชากรทั้งหมด) ซึ่งหลังจากนั้นประมาณสองสัปดาห์พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เร่งตัวขึ้น 16% ทำระดับสูงสุดมากกว่า 2 แสนรายต่อวัน ทำให้การควบคุมสถานการณ์ในรัฐต่างๆ เป็นไปด้วยความลำบากยิ่งขึ้น 

 

ฉะนั้นสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ยังไม่แนะให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนเพื่อรอดูยอดผู้ติดเชื้อในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม โดยเราแบ่งการปิดประเทศเป็นสองกรณี ได้แก่ 1. Partial Lockdown แบ่งเป็นโซนการปิดรายจังหวัด คาด SET แกว่งในกรอบ 1,424จุด +/- และในกรณี 2. Fully Lockdown ทั้งประเทศ เราประเมินกรอบ Downside ของตลาดหุ้นรอบนี้ที่ 1,377จุด +/-

 

เราคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว ‘Recovery Stage’ ในไตรมาส 2 ปี 2021 เป็นต้นไป โดยบริษัทต่างๆ จะเริ่มทยอยกลับมาลงทุน (Capex Cycle) และ Restocking ในขณะที่รัฐบาลและธนาคารกลางจะมีบทบาทในการสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกวิถีทาง ส่งผลให้คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนถ่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมจาก Growth to Value ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเช่นกัน 

 

โดยปัจจุบันหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ มีสัดส่วน Value สูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะได้ประโยชน์จากเม็ดเงินในรอบนี้ (ในเดือนพฤศจิกายน 3 จาก 4 ตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นสูงที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย) สำหรับ Valuation ของกลุ่ม Value โดยเฉพาะแถบประเทศเอเชีย (MSCI Asia Pacific Index) ปัจจุบันซื้อขาย PER ที่ 26 เท่า PBV 1.7 เท่า ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับยุโรปและโลกอยู่มาก (PER 32-49 เท่า ตามลำดับ) และหากประเมินในเชิงอัตราการเติบโตของตลาดหุ้นในปีหน้า พบว่า ตลาดหุ้นเกิดใหม่เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด 31% เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่ 21% ในขณะที่วัดจากมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 (Bloomberg Resilience Score) พบว่า ประเทศที่ได้คะแนนสูงส่วนมากอยู่ในโซนฝั่งประเทศเอเชีย 

 

ในขณะที่หลายประเทศในตะวันตกกลับมาเผชิญกับการระบาดระลอกสองอีกครั้งซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้ากว่าฝั่งตะวันออก ฉะนั้นเราคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกปี 2021 คาดว่า Fund Flow จะยังไหลเข้ามาฝั่งภูมิภาคเอเชีย และคาดว่ากลุ่ม Value Play จะยังให้ผลตอบแทนที่ดี 

 

สำหรับ SET Index เรามีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มธนาคารและการเงิน (KTB, SAWAD, AEONTS) และกลุ่มเดินเรือ (PSL, RCL) กลุ่มโรงกลั่น (TOP) กลุ่มรถไฟฟ้า (BEM) ประเมินกรอบเป้าหมายไตรมาส 1 ที่ 1,510 จุด 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising