×

จะเกิดอะไรขึ้นในอัฟกานิสถาน หลังกองทัพสหรัฐฯ ถอนทหารเสร็จสิ้น

31.08.2021
  • LOADING...

ภารกิจของกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ หลังการถอนกำลังทหารเสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมา แต่ยังมีหลายสิ่งที่น่ากังวล โดยเฉพาะชะตากรรมของชาวอเมริกันที่ยังหลงเหลืออยู่ราว 100-200 คน และชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้ชาติตะวันตกซึ่งไม่ได้อพยพ 

 

หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงอนาคตของอัฟกานิสถานหลังจากนี้ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัฐบาลตาลีบันจะเป็นอย่างไร? และอัฟกานิสถานจะกลับมาเป็นฐานเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายอีกหรือไม่? ซึ่งทั้งหมดยังเป็นปริศนาที่ต้องรอคอยคำตอบกันต่อไป

 

ชะตากรรมชาวอเมริกันและอัฟกันกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้อพยพ

 

– กองทัพสหรัฐฯ อพยพพลเรือนชาวอเมริกันออกจากอัฟกานิสถานแล้วประมาณ 6,000 คน แต่จนถึงตอนนี้ คาดว่ายังมีชาวอเมริกันที่หลงเหลืออยู่และไม่ได้รับการอพยพอีกราว 100-200 คน ซึ่งยังไม่ทราบชะตากรรมที่แน่ชัด

 

– นอกจากนี้ยังมีชาวอัฟกันกลุ่มเสี่ยงอีกหลายหมื่นคน ที่เคยทำงานให้กับกองทัพ หน่วยงานและสำนักข่าวต่างๆ ของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ซึ่งไม่ได้รับการช่วยเหลืออพยพออกนอกประเทศ โดยยังไม่แน่ชัดว่าตาลีบันจะทำเช่นไรกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งอาจถูกลงโทษทั้งสถานเบา-หนัก หรือถึงขั้นถูกประหารชีวิต

 

– รัฐบาลสหรัฐฯ คาดหวังว่า หลังการถอนทหารทั้งหมด กลุ่มตาลีบันจะยังคงอนุญาตให้ชาวอเมริกันที่ตกค้าง รวมถึงชาวอัฟกันที่ต้องการอพยพ สามารถเดินทางออกจากอัฟกานิสถานได้อย่างปลอดภัย

 

– หลังการเข้ายึดอำนาจรัฐบาล ตาลีบันให้คำมั่นว่าจะอนุญาตให้พลเรือนต่างชาติทั้งหมด และพลเรือนอัฟกานิสถานที่มีเอกสารเดินทางถูกต้อง สามารถออกจากอัฟกานิสถานได้

 

– แต่จากท่าทีของกลุ่มตาลีบัน ที่พยายามปิดกั้นเส้นทางและไม่ให้ชาวอัฟกันที่แม้จะมีเอกสารได้เดินทางไปยังสนามบินเพื่ออพยพ ทำให้มีความไม่ชัดเจนว่า หลังจากนี้ตาลีบันจะยอมให้ชาวอัฟกันออกนอกประเทศได้อีกหรือไม่

 

จะเกิดอะไรกับสนามบินคาบูล หลังสหรัฐฯ จากไป?

 

– ช่วงสองสัปดาห์หลังการยึดอำนาจของตาลีบัน กองทัพสหรัฐฯ เป็นฝ่ายควบคุมพื้นที่ทั้งหมดภายในสนามบิน โดยส่งกองกำลังทหารไปประจำการรวมเกือบ 6,000 นาย เพื่อช่วยคุ้มครองความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการอพยพ แต่หลังการถอนทหารสหรัฐฯ ชุดสุดท้าย กลุ่มนักรบตาลีบันได้เข้ายึดครองพื้นที่สนามบินทั้งหมดทันที 

 

– แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ กำลังมีการหารือกับชาติพันธมิตร เพื่อหาหนทางให้กลุ่มตาลีบันยอมเปิดสนามบินคาบูลอีกครั้ง 

 

– ขณะที่กลุ่มตาลีบันกำลังอยู่ระหว่างหารือกับรัฐบาลหลายประเทศ เช่น กาตาร์และตุรกี เพื่อขอความช่วยเหลือในการจัดส่งเที่ยวบินพลเรือนไปยังอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นช่องทางเดียวสำหรับผู้คนที่ต้องการเดินทางออกจากอัฟกานิสถาน แต่รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ระบุว่าจำเป็นต้องมีการซ่อมสนามบินคาบูลก่อน จึงจะสามารถกลับมาเปิดเที่ยวบินพลเรือนได้

 

– ตุรกี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ NATO มีหน้าที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยที่สนามบินฮามิดคาร์ไซ ในกรุงคาบูล ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยการเปิดสนามบินต่อ หลังจากที่กองกำลังต่างชาติส่งมอบอำนาจควบคุมให้ตาลีบันนั้น มีความสำคัญมาก เพราะไม่เพียงจะเป็นการคงช่องทางให้อัฟกานิสถานเชื่อมต่อกับโลกภายนอก แต่ยังเป็นช่องทางเปิดรับความช่วยเหลือจากนานาชาติด้วย

 

อนาคตความสัมพันธ์ตาลีบันกับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก

 

– สหรัฐฯ ไม่มีแผนให้นักการทูตประจำการอยู่ในอัฟกานิสถาน และจะตัดสินใจว่าจะทำเช่นไรกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ขึ้นอยู่กับท่าทีของตาลีบัน

 

– ขณะที่รัฐบาลวอชิงตัน อาจต้องกำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าวิกฤตด้านมนุษยธรรมและวิกฤตเศรษฐกิจ จะไม่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานหลังจากนี้

 

– ความกังวลต่อวิกฤตในอัฟกานิสถาน มีขึ้นท่ามกลางรายงานจากองค์การสหประชาชาติ ที่เผยว่ามีชาวอัฟกานิสถานมากกว่า 18 ล้านคน หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ กำลังต้องการความช่วยเหลือ ขณะที่ครึ่งหนึ่งของประชากรเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ กำลังประสบภาวะขาดสารอาหารเฉียบพลัน จากปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 4 ปี 

 

– อย่างไรก็ตาม บางประเทศ เช่น อังกฤษ แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่ควรมีประเทศใดยอมรับกลุ่มตาลีบันในฐานะรัฐบาลอัฟกานิสถานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งท่าทีดังกล่าวอาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลตาลีบันและชาติตะวันตก ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ และอาจนำไปสู่ชนวนความขัดแย้งอื่นๆ ในอนาคต

 

ภัยคุกคามก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน

 

– หนึ่งในความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และตาลีบัน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือการรับมือกับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ด้วยฝีมือของกลุ่มไอซิส-เค (ISIS-K) ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอสในอัฟกานิสถาน ที่ขึ้นชื่อเรื่องการก่อเหตุโจมตีที่โหดเหี้ยมกว่าตาลีบันมาก

 

– โดยไอซิส-เค เชื่อว่าเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย และกราดยิงนอกสนามบินคาบูล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 170 คน รวมทหารอเมริกัน 13 นาย และที่ผ่านมายังเคยก่อเหตุโจมตีสะเทือนขวัญ เช่น การบุกสังหารผู้คนในโรงเรียนหญิงล้วน และแผนกสูติกรรมในโรงพยาบาล

 

– ที่ผ่านมากลุ่มตาลีบันและไอซิส-เค ถือเป็นศัตรูกัน แม้จะมีความเชื่อมโยงกันในบางจุด เช่น สมาชิกของไอซิส-เค รุ่นบุกเบิกเป็นสมาชิกตาลีบัน และเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธฮักกานี ซึ่งเป็นหน่วยรบย่อยของตาลีบัน เคยร่วมก่อเหตุโจมตีกับกลุ่มไอซิส-เค

 

– หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เชื่อว่าไอซิส-เค ฉวยโอกาสเคลื่อนไหวและก่อเหตุในช่วงที่อัฟกานิสถานยังอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพหลังการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน โดยอาศัยเพิ่มความแข็งแกร่งของกองกำลัง จากการจัดหาสมาชิกใหม่ซึ่งรวมถึงอดีตสมาชิกของตาลีบันที่ถูกขับออกจากกลุ่ม

 

– แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจน คือรัฐบาลวอชิงตันจะจับมือหรือแชร์ข้อมูลกับรัฐบาลตาลีบัน เพื่อช่วยต่อต้านการก่อการร้ายของไอซิส-เค ได้มากแค่ไหน และจะเชื่อใจตาลีบันได้มากแค่ไหน

 

ภาพ: Marcus Yam / Los Angeles Times

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X