เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยเป็นประเด็นที่คนไทยหลายคนสนใจ โดยเฉพาะบทบาทในสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือที่เชียงราย ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง พร้อมกับคำถามที่ว่าเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยของไทยมีแบบไหน อยู่ที่ใด เป็นของใคร และจะใช้งานในช่วงเวลาใดบ้าง ซึ่งอันที่จริงแล้วประเทศไทยถือว่ามีเฮลิคอปเตอร์ที่มีขีดความสามารถกู้ภัย แม้จะไม่มากนักแต่ก็ถือว่ามีพอประมาณ
เฮลิคอปเตอร์ที่มีขีดความสามารถในการกู้ภัย นอกจากจะต้องมีอุปกรณ์กู้ภัย เช่น รอกกู้ภัย ตะกร้าขนสัมภาระหรือผู้ประสบภัย ไฟฉาย หรือกล้องตรวจการณ์แล้ว นักบินและช่างเครื่อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานกับเฮลิคอปเตอร์ยังต้องฝึกให้มีขีดความสามารถในการกู้ภัยอีกด้วย
ในประเทศไทยเราอาจแบ่งหน่วยงานที่ใช้เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงคือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่มีขีดความสามารถสนับสนุนได้ เช่น กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ดังนั้น เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยหลักของไทยก็น่าจะเป็นเฮลิคอปเตอร์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คือ Ka-32 หรือที่มีชื่อเล่นที่รู้จักกันดีว่า ฮ.ปักเป้า จากรูปร่างป้อมๆ สีส้มสดใส โดย Ka-32 เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ผลิตในรัสเซียโดย Kamov ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ออกแบบมาสำหรับการปราบเรือดำน้ำในกองทัพรัสเซีย แต่ได้รับการพัฒนาให้มาใช้ในทางพลเรือนโดยเฉพาะการกู้ภัยและดับไฟ
ซึ่ง Ka-32 มีจุดสังเกตที่ชัดเจนคือการออกแบบใบพัดแบบ Coaxial Rotors ซึ่งมีใบพัดหลักสองใบซ้อนกันและหมุนสวนทางกันเพื่อสร้างสมดุลของแรง ทำให้ไม่ต้องมีใบพัดหาง ซึ่งลดความเสี่ยงที่จะเกี่ยวกับวัตถุภายนอกเวลาต้องบินในพื้นที่แคบ และยังทำให้บรรทุกน้ำหนักได้มากกว่าเมื่อเทียบกับเฮลิคอปเตอร์ทั่วไป และมีเสียงที่เบากว่า แต่ข้อเสียก็คือระบบของเฮลิคอปเตอร์มีความซับซ้อน ใช้ชิ้นส่วนมาก และต้องการการซ่อมบำรุงสูง
Ka-32 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยถือว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่มีขีดความสามารถในการกู้ภัยสูงที่สุดของประเทศ เพราะมีอุปกรณ์ครบครันสำหรับหลายภารกิจ และมีบทบาทหลายครั้ง เช่น การดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ หรือการดับไฟในโรงงานหมิงตี้เคมีคอล แต่ปัจจุบันมีใช้งานเพียง 4 ลำเท่านั้น และเพิ่งได้รับงบประมาณเพื่อจัดหาอีก 2 ลำในปีงบประมาณ 2568
ในส่วนเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยงานอื่นที่มีขีดความสามารถสนับสนุนได้ก็คือกองทัพเรือ ซึ่งกองบิน 2 กองการบินทหารเรือ จะมีภารกิจค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะผู้ประสบภัยในทะเลที่ถือเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะ โดยมีเฮลิคอปเตอร์ เช่น S-76 และ H145M ซึ่งมีรอกกู้ภัย หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กองร้อยกู้ชีพ กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน หรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 เป็นหน่วยงานหลักในการค้นหาและกู้ภัยในสถานการณ์ต่างๆ แม้ว่าเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยอาจมีอุปกรณ์ไม่ครบครันเท่ากับหน่วยงานอื่นก็ตาม
แต่สำหรับในสถานการณ์น้ำท่วมเชียงรายครั้งนี้ หน่วยงานที่มีบทบาทอีกหน่วยหนึ่งก็คือเฮลิคอปเตอร์ H225M ของกองทัพอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 12 ลำในฝูงบิน 201 กองบิน 2 ในฐานะเฮลิคอปเตอร์ค้นหาและกู้ภัยในพื้นที่การรบ แต่จะวางกำลังอยู่ในกองบินของกองทัพอากาศทั่วประเทศ เพราะหน้าที่หลักคือการช่วยเหลือนักบินที่ถูกข้าศึกยิงตกในพื้นที่ของข้าศึก ทำให้เฮลิคอปเตอร์แบบนี้ต้องทำงานร่วมกับหน่วยพลร่มกู้ภัย ซึ่งเป็นกำลังพลที่ได้รับการฝึกมาเป็นการเฉพาะสำหรับการกู้ภัยในพื้นที่การรบ
ซึ่งนั่นก็หมายถึงในภาวะน้ำท่วมแบบนี้ กองทัพอากาศก็สามารถปรับขีดความสามารถนี้ให้เป็นประโยชน์กับการกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ H225M ที่วางกำลังอยู่ที่กองบิน 41 ในการส่งอาหารและเครื่องใช้จำเป็น รวมถึงช่วยเหลือผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ โดย H225M ที่ผลิตโดย Airbus ถือว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่มีความทันสมัยมากที่สุดแบบหนึ่ง โดยนอกจากจะมีขนาดใหญ่ บินได้ไกล สามารถบรรทุกสิ่งของและสัมภาระได้มาก ยังมีกล้องตรวจการณ์อิเล็กโทรออปติกที่มองเห็นได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน สามารถตรวจจับความร้อนที่ออกจากร่างกายมนุษย์เพื่อระบุเป้าหมายในการช่วยเหลือได้อีกด้วย
เราอาจเห็นเฮลิคอปเตอร์ทั้ง Ka-32 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กับ H225M ของกองทัพอากาศในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาคเหนือแล้ว แต่เฮลิคอปเตอร์ก็ไม่ใช่จอกศักดิ์สิทธิ์ที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ในทุกกรณี เพราะแม้เฮลิคอปเตอร์จะมีข้อได้เปรียบคือการบินรับ-ส่งทางอากาศเพื่อข้ามอุปสรรคอย่างน้ำท่วม สามารถนำส่งความช่วยเหลือรวมถึงนำผู้ประสบภัยออกมาจากพื้นที่ได้ด้วยความรวดเร็ว
แต่มีข้อจำกัดในการใช้งานคือสภาพอากาศ ซึ่งถ้าสภาพอากาศแปรปรวนก็อาจส่งผลต่อการปฏิบัติงานของเฮลิคอปเตอร์จนไม่สามารถบินได้อย่างปลอดภัย หรือแม้แต่พื้นที่ในเมืองที่มีตึกสูง มีเสาไฟฟ้า เสาโทรคมนาคม หรือสิ่งกีดขวางทางอากาศมาก ก็อาจเป็นอันตรายต่อตัวอากาศยานได้ แม้แต่ลมที่เกิดจากใบพัดซึ่งมีกำลังแรง ถ้าใช้งานในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมก็อาจสร้างอันตรายต่อตัวผู้ประสบภัยมากกว่าด้วยซ้ำ
ดังนั้น การใช้เฮลิคอปเตอร์จึงต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆ ประการดังที่กล่าวไปข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ต้องพิจารณาความปลอดภัย ซึ่งโดยหลักการการกู้ภัยแล้ว ความปลอดภัยของผู้ให้การช่วยเหลือถือว่ามีความสำคัญสูงสุด เนื่องจากถ้าผู้ให้การช่วยเหลือกลายเป็นผู้ประสบภัยหรือเกิดอันตรายเสียเอง นอกจากจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่และสับสนมากขึ้นไปอีกแล้ว ยังทำให้ต้องเสียขีดความสามารถ กำลัง และอุปกรณ์ที่ควรจะได้ใช้ในการกู้ภัยไปอีกด้วย การใช้เฮลิคอปเตอร์จึงต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้านโดยผู้เชี่ยวชาญ และถ้าไม่ปลอดภัยหรือไม่เหมาะสมก็ไม่ควรใช้งานเฮลิคอปเตอร์ในการกู้ภัย แม้ว่าทุกคนอยากจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุดก็ตาม
แฟ้มภาพ: ปฏิบัติการดับไฟป่าที่เชียงใหม่ 29 มีนาคม 2023: Pongmanat Tasiri / SOPA Images / LightRocket via Getty Images