×

3 ทางเลือกของสหราชอาณาจักร เมื่อแผน Brexit ของ เทเรซา เมย์ ถึงทางตัน

17.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • เทเรซา เมย์ ยังรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแห่งทำเนียบเลขที่ 10 ถนนดาวนิงสตรีท เพื่อผลักดันกระบวนการ Brexit ต่อไป หลังเธอได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ทำหน้าที่ต่ออย่างฉิวเฉียด แต่เมย์จำเป็นต้องยอมรับว่าแผน Brexit ของเธอไม่ดีพอจะชนะใจบรรดา ส.ส.
  • หลังสภาสามัญชนโหวตคว่ำแผน Brexit ของ เทเรซา เมย์ อย่างไม่ไยดี ทำให้รัฐบาลเหลือทางเลือกเพียง 3 ทาง ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเริ่มแยกตัวจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคมนี้
  • ทางเลือกเหล่านั้นคือการรื้อฟื้นการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปเพื่อทำข้อตกลงใหม่ หรือปล่อยให้เริ่มกระบวนการ Brexit โดยไร้ข้อตกลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็ไม่อยากกลืนน้ำลายตัวเองโดยการจัดการลงประชามติครั้งที่ 2 เพราะอาจสร้างความแตกแยกในประเทศมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อประชาธิปไตยในประเทศ

หลัง เทเรซา เมย์ พ่ายแพ้อย่างย่อยยับในการผลักดันแผน Brexit ให้ผ่านความเห็นชอบในสภาสามัญชนแห่งสหราชอาณาจักรเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 ม.ค.) ทำให้ชะตากรรมของ Brexit แขวนอยู่บนเส้นด้ายอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองว่าท้ายที่สุดแล้วความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (EU) จะออกมาในรูปใด ขณะที่เส้นตายวันที่ 29 มีนาคม (วันหย่า) กำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ

 

และนี่คือความเป็นไปได้ 3 ทาง หลังแผน Brexit ของรัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟล่ม

 

รื้อฟื้นการเจรจา

แผน Brexit ของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ถูกโหวตคัดค้านด้วยคะแนนเสียงขาดลอยถึง 230 เสียง (432 ต่อ 202 คะแนน) ซึ่งถือเป็นความปราชัยทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า ส.ส. ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขในข้อตกลง Brexit ของเมย์ ไม่เว้นแม้แต่ ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟบางส่วนของเธอที่หันไปเข้าพวกกับ ส.ส. พรรคเลเบอร์ และพรรคเดโมเครติก ยูเนียนนิสต์ เพื่อโหวตล้มเลิก

 

ส.ส. คอนเซอร์เวทีฟที่แตกแถวมองว่า ข้อตกลงฉบับเก่าทำให้อังกฤษใกล้ชิดกับ EU มากเกินไป ซึ่งไม่ต่างจากการดำรงสมาชิก EU ต่อ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านมองว่า ดีลนี้ไม่อาจปกป้องความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับ EU ได้

 

เมย์จึงไม่เหลือทางเลือกมากนัก โดยหนึ่งในนั้นคือการขอเจรจาเงื่อนไขกับ EU อีกครั้งเพื่อจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลอังกฤษและ EU จะยืนกรานว่าข้อตกลง Brexit ฉบับนี้ดีที่สุดสำหรับสองฝ่ายแล้วก็ตาม

 

แต่การเจรจาใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหนึ่งในประเด็นที่สองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้คือ ปัญหาพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ โดยที่ผ่านมาสหราชอาณาจักรและ EU ยอมผ่อนปรนในเงื่อนไข Backstop เพื่อเปิดพรมแดนไอร์แลนด์ไว้ตามเดิมชั่วคราว แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในอังกฤษมองว่าพวกเขาจะถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์การค้าของ EU อย่างเคร่งครัดต่อไป

 

หากเกิดกรณีที่สองฝ่ายตกลงเรื่องพรมแดนกันไม่ได้ จะส่งผลให้พรมแดนระยะทางเกือบ 500 กิโลเมตรระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งกลายเป็นพรมแดนที่กั้นระหว่างสหราชอาณาจักรกับ EU ต้องบังคับมาตรการตรวจคนเข้าเมืองและระบบศุลกากรอย่างเข้มงวด หรือที่เรียกว่า ‘hard border’ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้า และความมั่นคงระหว่างสองฝ่าย

 

เริ่ม Brexit โดยไร้ข้อตกลง

เหลือเวลาไม่ถึง 3 เดือนก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเริ่มแยกตัวจาก EU ตามบทบัญญัติมาตรา 50 ของสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีวี่แววว่าสองฝ่ายจะทำข้อตกลง Brexit ได้ทัน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายในอนาคต หากลอนดอนและบรัสเซลส์แยกทางโดยไร้ข้อตกลงใดๆ มารองรับ

 

แต่ความเป็นไปได้ที่ไม่มีใครอยากเห็นมากที่สุดกลับมีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด ณ เวลานี้ เพราะหากสองฝ่ายหาทางออกอื่นไม่ได้ก่อนวันที่ 29 มีนาคมนี้ จะเกิด No-deal Brexit ขึ้นอย่างแน่นอน

 

ผลกระทบที่ตามมาอาจเลวร้ายถึงขั้นฉุดเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวลงด้วย ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว

 

ทั้งนี้ข้อตกลงฉบับเดิมที่เมย์ทำกับผู้นำสหภาพยุโรป กำหนดเงื่อนไขให้คงกฎเกณฑ์การค้าระหว่างสหราชอาณาจักร และ EU ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ให้เปลี่ยนแปลงจากเดิมน้อยที่สุดในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 21 เดือนหลังจากที่เริ่มต้นกระบวนการ Brexit (สิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2020)

 

เพราะการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอย่างกะทันหันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกือบทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะต้นทุนราคาสินค้าในสหราชอาณาจักรที่จะปรับตัวสูงขึ้น และอาจเกิดการหยุดชะงักในระบบโลจิสติกส์ เช่น ท่าเรือต่างๆ ด้วย

 

ด้วยสถานการณ์การเมืองที่ไม่สู้ดีภายในประเทศ จึงบีบให้รัฐบาลอังกฤษต้องเตรียมพร้อมรับมือกับ No-deal Brexit อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ เทเรซา เมย์ อาจพิจารณาแผนสำรอง ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่า เธออาจขอชะลอกระบวนการ Brexit ออกไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายข้างต้นขึ้น

 

และหลังจากที่เมย์รอดพ้นจากการถูกโหวตไม่ไว้วางใจอย่างหวุดหวิดด้วยคะแนนเสียง 325 ต่อ 306 คะแนนในสภาสามัญชนเมื่อวันพุธ (16 ม.ค.) ทำให้เธอต้องรับฟังเสียงจาก ส.ส. มากขึ้น ทั้งจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเธอเอง รวมถึงพรรคสกอตติช เนชันแนล (SNP), ลิเบอร์รัล เดโมแครต (Lib Dem) และเพลด คิมริว (Plaid Cymru)

 

ขณะที่ เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคเลเบอร์ ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติขอลงมติไม่ไว้วางใจ เทเรซา เมย์ ได้ยื่นข้อแม้ว่า การหารือเชิงบวกระหว่างเขากับพรรครัฐบาลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีให้หลักประกันว่ากระบวนการ Brexit ที่ปราศจากข้อตกลงระหว่างสหราชอาณาจักรกับ EU จะต้องไม่เกิดขึ้น

 

ไม่แน่ว่า ด้วยเวลาที่บีบคั้นเช่นนี้อาจทำให้รัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในสหราชอาณาจักรสามารถรอมชอมกันได้ในบางประเด็นก่อนถึงกำหนดเส้นตายวันที่ 29 มีนาคมนี้

 

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ เทเรซา เมย์ อาจยอมบรรจุข้อเรียกร้องของ ส.ส. บางส่วนเข้าไปในแผน Brexit เพื่อให้ผ่านความเห็นชอบในสภา หลังเธอยืนยันว่าพร้อมถกอภิปรายแนวคิดต่างๆ กับบรรดา ส.ส. และอาจเสนอเงื่อนไขที่ต่อรองได้ให้ EU พิจารณา

 

ลงประชามติครั้งที่ 2

ฝ่ายโปร EU เรียกร้องให้สหราชอาณาจักรจัดการลงประชามติครั้งที่ 2 เพื่อให้ประชาชนตัดสินอนาคตเกี่ยวกับ Brexit อีกครั้ง หลังผลประชามติเมื่อปี 2016 ฝ่ายที่สนับสนุนการแยกตัวจาก EU หรือ (Leave) ชนะด้วยคะแนนเสียง 52% ต่อ 48%

 

ถึงแม้ไม่มีบทบัญญัติหรือข้อกฎหมายใดที่ห้ามรัฐบาลอังกฤษจัดการลงประชามติใหม่อีกครั้ง แต่การทำเช่นนั้นย่อมเกิดคำถามตามมาว่า จะขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนในประชามติครั้งแรกหรือไม่ ขณะเดียวกันก็กระทบต่อภาพลักษณ์ประชาธิปไตยในประเทศด้วย

 

นอกจากนี้การลงประชามติอีกครั้งอาจสร้างความแตกแยกภายในประเทศมากขึ้น เพราะโพลสำรวจความคิดเห็นจากหลายสำนักบ่งชี้ว่า ประชาชนยังคงมีความเห็นแตกแยกเกี่ยวกับประเด็น Brexit

 

แน่นอนว่าตัวนายกฯ ก็ไม่ต้องการให้ลงประชามติใหม่ เธอเตือนว่าการทำเช่นนั้นอาจทำลายบูรณภาพทางการเมืองของอังกฤษชนิดที่แก้ไขกลับคืนไม่ได้

 

แต่ทางเลือกนี้เป็นสิ่งที่ EU ปรารถนาเฝ้ารอ เพราะหวังว่าชาวอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ จะโหวตกลับคืนสู่ชายคาเดียวกับ EU อีกครั้ง ทว่าทางเลือกนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากในสายตาผู้สันทัดกรณี

 

 

 

ภาพประกอบ: Weerapat L.

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising