×

รัฐประหารเมียนมา กับคำถามเรื่องชะตากรรมชาว ‘โรฮีนจา’

โดย THE STANDARD TEAM
13.02.2021
  • LOADING...
รัฐประหารเมียนมา โรฮีนจา

“เหตุการณ์รัฐประหารโดยฝีมือกองทัพเมียนมา ทำให้สถานการณ์สำหรับกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่ย่ำแย่อยู่แล้ว เลวร้ายหนักขึ้นอีก” นี่คำยืนยันจาก แมทธิว สมิธ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน Fortify Rights 

 

หลังเกิดการรัฐประหาร ชาวเมียนมาทั่วประเทศต่างแสดงความไม่พอใจ ส่วนใหญ่กังวลต่อชีวิต และอนาคตของตนเองภายใต้ร่มเงา ‘รัฐบาลเผด็จการ’

 

แต่สำหรับชาวโรฮีนจา ที่เผชิญชะตากรรมเลวร้าย และความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างย่ำแย่มาโดยตลอด การรัฐประหารยึดอำนาจที่เกิดขึ้นโดยฝีมือกองทัพที่เป็นฝ่ายกดขี่ และกวาดล้างชาวโรฮีนจามาตลอดหลายปี ยิ่งส่งผลให้ความเสี่ยงที่มีต่อชีวิตของพวกเขา น่ากังวลมากขึ้นไปอีก

 

“เห็นได้ชัดว่าการรัฐประหารนั้นไม่ส่งผลดีสำหรับใคร” สมิธ กล่าว

 

ในช่วงปี 2017 มีชาวโรฮีนจามากกว่า 700,000 คน ที่หนีภัยข้ามพรมแดนจากเมียนมาไปยังบังกลาเทศ หลังกองทัพเมียนมาหรือที่รู้จักในภาษาถิ่นว่า ‘ตั๊ดมะดอว์ (Tatmadaw)’ เดินหน้าใช้กำลังโจมตีและกวาดล้างชาวโรฮีนจา ซึ่งพวกเขากล่าวหาว่า กองกำลังติดอาวุธชาวโรฮีนจาก่อเหตุโจมตีกองทัพเมียนมาหลายต่อหลายครั้ง 

 

ผลจากการกวาดล้างชาวโรฮีนจาอย่างไร้มนุษยธรรม ส่งผลให้กองทัพเมียนมาเผชิญข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยคดีถูกพิจารณาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

แต่หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทำให้ชะตากรรมชาวโรฮีนจาอีกกว่า 600,000 คนที่ยังอยู่ในเมียนมา และแผนการส่งตัวชาวโรฮีนจาที่อยู่ในบังกลาเทศ กลับมาอยู่ในอุ้งมือกองทัพอีกครั้ง 

 

“พวกเขามีแผนทำลายพวกเรา ตอนนี้พวกเขาเป็นผู้นำประเทศของเรา” Ro Khin Maung กรรมการบริหารสมาคมเยาวชนโรฮีนจาในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ ของบังกลาเทศ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังทราบข่าวรัฐประหาร พร้อมเสริมว่าการกระทำของกองทัพเมียนมาในอดีต ก่อให้เกิดวิกฤตอพยพของชาวโรฮีนจา และที่ผ่านมา ในปี 1982 รัฐบาลทหารเมียนมายังได้ตรากฎหมายเพื่อปฏิเสธสิทธิในการถือสัญชาติของชาวโรฮีนจา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดในเมียนมา และอาศัยอยู่ในเมียนมามาหลายชั่วอายุคน

 

“พวกเขาจะทรมานเรามากขึ้นไปอีก”

 

กระบวนการส่งตัวชาวโรฮีนจากลับประเทศเกิดขึ้น และถูกระงับมาหลายรอบตลอดหลายปีมานี้ โดยหลังการรัฐประหาร พลเอก อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่เข้าควบคุมอำนาจรัฐบาล ประกาศจะพาประเทศเดินหน้าพร้อมคุ้มครองชีวิตชาวโรฮีนจา

 

ก่อนหน้านี้ ทางการบังกลาเทศได้เริ่มต้นการส่งชาวโรฮีนจาบางส่วนไปยังเกาะห่างไกล ที่นักเคลื่อนไหวขนานนามว่า “อัลคาทราซของชาวโรฮีนจา” ซึ่งหมายถึงเกาะอัลคาทราซ (Alcatraz) ที่ถูกใช้เป็นเรือนจำที่โหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ โดยทางการบังกลาเทศคาดหวังให้กระบวนการส่งตัวชาวโรฮีนจากลับไปเมียนมานั้นกลับมาเริ่มต้นอีกครั้ง และดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

 

แต่สิ่งที่ยากลำบากและเป็นปัญหาอย่างยิ่งคือ การส่งชาวโรฮีนจากลับไปยังเมียนมา ‘อย่างปลอดภัย’ 

 

“หากมันมีความหวังเพียงเล็กน้อย สำหรับการกลับเมียนมาด้วยความปลอดภัย สมัครใจ และสง่างาม ตอนนี้มันก็หายไปแล้วทั้งหมด และไม่มีหนทางมากนักที่จะทำให้มันเริ่มต้นได้” สมิธกล่าว 

 

ก่อนเกิดรัฐประหารนั้น ยังมีชาวเมียนมาบางส่วนต้องการกลับไปเมียนมา แต่สถานการณ์ตอนนี้ ทำให้ชาวเมียนมาจำนวนมากหวั่นเกรงที่จะกลับไป

 

“แม้ว่าพวกเขาจะพยายามส่งตัวเรากลับประเทศ (เมียนมา) แต่เราก็ไม่ยินยอมที่จะกลับไปอีก ภายใต้สถานการณ์ตอนนี้” Nurual Amin ผู้อพยพชาวโรฮีนจาในบังกลาเทศกล่าวด้วยความกลัว พร้อมระบุว่า “หากพวกเขาพาเรากลับไปหาเผด็จการ พวกเขาจะทรมานเรามากขึ้นไปอีก”

 

ทางด้าน ลอเรล มิลเลอร์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียขององค์การ The International Crisis Group ชี้ว่า ถึงแม้กองทัพเมียนมาจะเดินหน้ากระบวนการนำชาวโรฮีนจากลับเมียนมา เพื่อเป็นหนทางทำลายภาพลักษณ์อันเลวร้ายในอดีต แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่ชาวโรฮีนจาจะสมัครใจกลับเมียนมา ในบริบทที่การกุมอำนาจของกองทัพนั้นเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง

 

“เรามีความหวังมากมาย”

 

Yasmin Ullah นักเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในสังคมสำหรับชาวโรฮีนจา มองผลจากการปกครองเมียนมาโดยรัฐบาลพลเรือนในยุคออง ซาน ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD นั้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทำให้ชาวโรฮีนจาจำนวนมากต้องผิดหวัง 

 

“ในตอนแรกเรามีความหวังมากมาย เมื่อพรรค NLD ได้รับชัยชนะในสมัยแรก ในปี 2015 แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราตระหนักได้ว่า รัฐบาลพลเรือนไม่เคยจะทำงานร่วมกับเรา” เธอกล่าว 

 

ผลจากการกระทำของกองทัพเมียนมา ที่เดินหน้ากวาดล้างชาวโรฮีนจาในปี 2017 จนส่งผลให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา ทำให้ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากท่าทีนิ่งเฉยของเธอ ที่ไม่ออกมาต่อต้านการกระทำของกองทัพ แถมยังปกป้องกองทัพจากข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

ในระหว่างการไต่สวนที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก เมื่อปี 2019 นั้น เธอเพียงยอมรับว่ากองทัพเมียนมา “ใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสม” แต่ยืนยันต่อทั่วโลกว่ากำลังเข้าใจผิด เกี่ยวกับภาพรวมสถานการณ์ของชาวโรฮีนจา

 

สำหรับความหวังในการช่วยเหลือจากต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีความเคลื่อนไหวล่าสุด จากการสั่งคว่ำบาตรผู้นำกองทัพเมียนมาเมื่อวันพุธ (11 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา ก็ไม่มีหวัง ที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของชาวโรฮีนจาได้มากนัก โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังไม่มีการกล่าวถึงประเด็นปัญหานี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่จะช่วยย้ำความสำคัญในการยอมรับให้ชาวโรฮีนจาเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา

 

ภาพ: Masfiqur Sohan / NurPhoto via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X