โดยปกติแล้วในช่วงที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นไประดับหนึ่ง หุ้นดาวเด่นหรือหุ้นแถวบนส่วนใหญ่จะปรับขึ้นนำไปก่อน ส่วนหุ้นแถวสอง หรือเรียกตามนักลงทุนรายใหญ่ก็คือ หุ้นตื้อ ซึ่งภาษาทางการก็คือหุ้น Laggard มักจะได้แสงหรือเป็นที่สนใจในลำดับถัดมา
กลยุทธ์ลงทุนในหุ้น Laggard ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการตลาดหุ้น แต่เราก็จำเป็นเข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหุ้น Laggard ให้ถ่องแท้ ก่อนจะใช้เป็นกลยุทธ์เลือกหุ้นเข้าพอร์ต
หุ้น Laggard คืออะไร?
อิงจากความหมายของคำว่า Laggard ที่แปลว่า เชื่องช้า ชักช้า หุ้น Laggard ก็คือหุ้นที่ราคายังไม่ปรับขึ้นมาก เมื่อเทียบกับหุ้นอื่นในอุตสาหกรรม
แน่นอนว่าการที่ราคาหุ้นตัวหนึ่งไม่ไปไหนเสียที ทั้งที่หุ้นอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันปรับขึ้นกันไปหมดแล้ว ย่อมมีสาเหตุ เช่น
- ปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจอ่อนแอ เมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
- เป็นหุ้นนอกสายตา ไม่ค่อยมีนักวิเคราะห์จัดทำบทวิเคราะห์
- พื้นฐานธุรกิจหลัก หรือ Core Business โตได้ตามปกติ แต่ไม่มี New Engine หรือ New S-Curve มาเสริมเสน่ห์หรือดึงความสนใจ
นั่นเท่ากับว่าหุ้น Laggard มีทั้งหุ้นน่าสนใจเข้าลงทุน และหุ้นที่ยังไม่ควรเข้าไปลงทุน ฉะนั้น นักลงทุนเองก็ต้องรู้จักคัดสรรหุ้น Laggard ที่ดีเข้าพอร์ต
วิธีหาหุ้น Laggard ทำได้หลายวิธี วิธีแรกคือ เลือกจากคุณสมบัติด้านปัจจัยพื้นฐาน โดยหุ้น Laggard ที่น่าสนใจเข้าลงทุน ต้องมีปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ต่างจากหุ้นผู้นำ เพราะเมื่อปัจจัยพื้นฐานใกล้เคียงกัน มูลค่าหุ้น หรือ Valuation ที่ประเมินออกมาก็ไม่ควรแตกต่างกัน ดังนั้น ราคาหุ้นก็ควรปรับขึ้นเช่นเดียวกัน
วิธีที่ 2 เลือกหุ้น Laggard จากธีมการลงทุนในช่วงเวลานั้นๆ เช่น ธีมหุ้นปันผล, หุ้นโครงการเมกะโปรเจกต์, หุ้นเทคโนโลยี, หุ้นส่งออกที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาท, หุ้น New Economy รวมถึงหุ้นพลังงานทดแทน
เมื่อกำหนดธีมที่เราสนใจหรือธีมที่กำลังเป็นกระแสได้แล้ว ก็คัดหุ้นที่จะได้อานิสงส์เข้ามา เพื่อไล่เรียงดูความเคลื่อนไหวราคาหุ้น และโอกาสการเติบโตจากธีมนั้นๆ เราก็ได้ลิสต์หุ้น Laggard เข้ามาใช้พิจารณาเลือกลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดธีม นักลงทุนมีข้อควรระวังที่สำคัญ นั่นก็คือ ระยะเวลาและความอยู่ในเทรนด์ เนื่องจากบางธีมการลงทุนก็มีระยะเวลาเข้ามาเอี่ยว เช่น ธีมหุ้นส่งออกที่จะได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินบาท หากค่าเงินบาทเกิดความผกผันขึ้น ธีมนี้ก็ไม่เหมาะใช้เป็นกลยุทธ์การเลือกหุ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้นผู้นำ หรือหุ้น Laggard ก็ตาม
วิธีที่ 3 เลือกหุ้น Laggard ผ่านสัญญาณทางเทคนิค วิธีการคือ เปรียบเทียบราคาหุ้นกับดัชนีตลาด (SET Index) หรือดัชนี SET100 หรือดัชนี sSET โดยหุ้นตัวไหนที่มีสัญญาณซื้อ เทคนิคสวย แต่ราคาขยับขึ้นต่ำกว่าดัชนีตลาดที่ใช้ในการเปรียบเทียบ แสดงว่าเข้าข่ายเป็นหุ้น Laggard
เมื่อได้ลิสต์หุ้น Laggard จากสัญณาณเทคนิคแล้ว นักลงทุนก็ควรศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ต่อก่อนตัดสินใจลงทุน
ข้อควรรู้ที่สำคัญสำหรับ ‘หุ้น Laggard’ ก็คือ เป็นหุ้นที่เหมาะกับการลงทุนในระยะสั้นๆ หรือเทรดดิ้ง เพื่อหาผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น (Capital Gain)
เทคนิคการจับจังหวะขาย คือ ดูว่าหุ้นผู้นำปรับเพิ่มขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ภายใต้อานิสงส์เดียวกันหรือในรอบหุ้นเดียวกัน โดยหุ้น Laggard ส่วนใหญ่แล้วจะปรับขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงหรือน้อยกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับหุ้นผู้นำ
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP