×

ทำความรู้จัก ‘Yield Curve Control’ หลัง BOJ ปรับนโยบายแบบช็อกตลาด

20.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • การปรับนโยบาย Yield Curve Control แบบช็อกตลาดของ BOJ โดยขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 0.50% สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินตลาดทุน
  • นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของญี่ปุ่น หลังตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดออกมาในระดับที่ค่อนข้างสูง
  • จับตายีลด์พันธบัตรทั่วโลก (ยกเว้นยุโรป) กระตุกขึ้นตามญี่ปุ่น ขณะที่หุ้นอาจถูกมองเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความเปราะบางต่อไป
  • ผู้ว่าการ BOJ เผยแค่ปรับปรุงการทำงานของตลาด ลดการบิดเบือนของผลตอบแทนพันธบัตร ยันไม่คิดเลิก YCC หรือกลับทิศนโยบายการเงิน

ถือเป็นเรื่องที่ช็อกตลาดพอสมควร เมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจปรับนโยบาย Yield Curve Control โดยขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของญี่ปุ่นให้สามารถเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นจากเดิม -0.25% ถึง +0.25% เป็น-0.5% ถึง +0.5% 

 

ขณะเดียวกัน BOJ ยังประกาศจะเพิ่มขนาดการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มจาก 7.3 ล้านล้านเยนต่อเดือน เป็น 9 ล้านเยนต่อเดือน แม้ว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.1% เท่าเดิมก็ตาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ท่าทีของ BOJ ที่ผิดไปจากคาดการณ์ของตลาด ส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นกว่า 2% จากระดับ 137.16 เยนต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 133.11 เยนต่อดอลลาร์ในทันที ขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะ 10 ปีของญี่ปุ่นก็ดีดตัวขึ้นจาก 0.25% เป็น 0.46% 

 

ขณะที่ตลาดหุ้นในหลายประเทศต่างตอบสนองในเชิงลบ โดยดัชนี Nikkei 225 ปรับลดลง 2.68% เช่นเดียวกับดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงที่ร่วงลง 1.36% ขณะที่ดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ และดัชนี S&P/ASX 200 ของออสเตรเลีย ก็ปรับลดลง 0.92% และ 1.5% ตามลำดับ

 

Yield Curve Control คืออะไร?

Yield Curve Control คือมาตรการที่ธนาคารกลางต้องการจะล็อกอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว ซึ่งโดยทั่วไปคือดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นตัวที่สะท้อนต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจไว้ที่ระดับใดระดับหนึ่ง เนื่องจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายแบบปกติส่งผลต่อต้นทุนการเงินในระยะสั้นมากกว่าระยะยาว โดยธนาคารกลางจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้ได้ตามเป้า จึงถือเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และคุมต้นทุนการกู้ยืมไม่ให้สูงเกินไป 

 

โดยในกรณีของญี่ปุ่น เริ่มมีการใช้มาตรการ Yield Curve Control หรือ YCC มาตั้งแต่ปี 2006 เนื่องจากญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืด เศรษฐกิจขยายตัวได้น้อย การควบคุมไม่ให้ต้นทุนการเงินของภาคเอกชนสูงเกินไปจึงถือเป็นการจูงใจให้ภาคธุรกิจขยายการลงทุน โดยมีการเปรียบเปรยมาตรการ YCC ว่าเป็น QE ของญี่ปุ่น เพียงแต่การกระตุ้นอาจไม่ดุดันเท่ากับ QE 

 

อย่างไรก็ดี การบิดเบือนตลาดเพื่อรักษาดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในกรอบเป้าหมายก็ย่อมมีผลลบเช่นกัน เช่น ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่องของ BOJ ทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวกลับอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระยะสั้น หรือที่รู้จักกันในชื่อภาวะ Inverted Yield Curve ขณะเดียวกัน การรักษาระดับดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำในขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงทำสถิติในรอบกว่า 20 ปี

 

ตลาดมองเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับทิศนโยบาย

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า การปรับมาตรการ Yield Curve Control ของญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือว่าเซอร์ไพรส์ตลาดค่อนข้างมาก เพราะตลาดมองว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศท้ายๆ ที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว แม้ว่าในครั้งนี้ BOJ จะยังคงดอกเบี้ยเอาไว้เท่าเดิม แต่ตลาดก็อ่านทางไปแล้วว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับนโยบายจากสายพิราบมาเป็นสายเหยี่ยวของ BOJ

 

“การยอมให้ยีลด์เคลื่อนตัวได้มากขึ้น หรือยอมให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจสูงขึ้นสะท้อนว่า ญี่ปุ่นอาจเริ่มคิดถึงการปรับทิศนโยบาย เพราะตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดก็ออกมาค่อนข้างสูง” รุ่งกล่าว

 

รุ่งกล่าวว่า ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมองว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ BOJ จะเกิดขึ้นหลังจาก ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการคนปัจจุบันก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ การตัดสินใจปรับนโยบายของ BOJ ในขณะที่คุโรดะยังอยู่ในตำแหน่งจึงสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดเป็นอย่างมาก 

 

“ดัชนี Nikkei ปรับลงเยอะเพราะบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออก การที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นอาจทำให้บริษัทญี่ปุ่นแข่งขันได้ยากขึ้น นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนในวอลล์สตรีท ที่อาจมองว่าแม้แต่ญี่ปุ่นซึ่งยืนยันจะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายสวนกระแสโลกมาตลอดยังเริ่มทบทวนนโยบายทางการเงิน แล้วในกรณีของ Fed ที่คาดการณ์กันว่าจะสามารถหยุดขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าจะทำได้หรือไม่” รุ่งกล่าว

 

รุ่งประเมินว่า หากมองไปในระยะข้างหน้า การปรับนโยบาย Yield Curve Control ของ BOJ อาจทำให้ยีลด์พันธบัตรทั่วโลกยกเว้นยุโรปกระตุกขึ้นตามได้บ้าง นอกจากนี้ยังอาจทำให้นักลงทุนมองหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงว่ายังมีความเปราะบางต่อไป

 

ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การปรับนโยบาย Yield Curve Control ถือเป็นสัญญาณว่า BOJ กำลังพยายามจะเริ่มกระบวนการ Policy Normalization หลังจากที่ผ่อนคลายอย่างเต็มที่มายาวนาน โดยความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าอาจทำให้ BOJ ต้องดูแลเสถียรภาพตลาดเงินมากขึ้น และลดความเสี่ยงในการถูกนักเก็งกำไรโจมตี

 

BOJ ยันเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อ

ล่าสุดคุโรดะได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ความเคลื่อนไหวของ BOJ ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดการบิดเบือนของผลตอบแทนพันธบัตร และสร้างความมั่นใจว่าผลประโยชน์ของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของ BOJ จะส่งตรงไปยังตลาดและบริษัทต่างๆ

 

“เรามุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงการทำงานของตลาด ซึ่งจะช่วยหนุนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเรา นี่ไม่ใช่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และไม่ใช่การทบทวนว่าเราจะยุติการทำ YCC หรือหันไปทำนโยบายการเงินที่ตึงตัว เราเพียงต้องการเพิ่มความยั่งยืนให้กับกรอบนโยบายการเงินของเรา” คุโรดะกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X